เมื่อมีเรื่องปรากฏเป็นข่าว ตำรวจประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่รับแจ้งความ กระทำความผิดเอง เกี่ยวข้องรับเงินส่วยจากบ่อนการพนัน สถานบริการผิดกฎหมาย การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจไม่เป็นธรรม มีการซื้อขายตำแหน่ง นักการเมืองแทรกแซงการแต่งตั้ง ฯลฯ ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นในสังคมว่า "การปฏิรูปตำรวจ" ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
อดีตจนถึงปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีแต่ละยุคแต่ละสมัยตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปตำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง
ผมได้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจด้วย 2 ครั้ง การปฏิรูปตำรวจแต่ละครั้งมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ความเป็นมา สาเหตุของการปฏิรูป ปฏิรูปอะไรกันไปบ้าง และมีอุปสรรคข้อขัดข้องอย่างไรทำให้การปฏิรูปตำรวจไม่เสร็จสิ้น ค้างคามาจนถึงทุกวันนี้
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ถึงปี พ.ศ.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายกฯ ทักษิณจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เคยรับราชการเป็นตำรวจอยู่หลายปี ก่อนเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองจนได้เป็นนายกรัฐมนตรี
นายกฯ ทักษิณรู้จักคุ้นเคยกับผู้บังคับบัญชาตำรวจทุกระดับเป็นอย่างดี เป็นเพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่รุ่นน้อง ดังนั้นเมื่อมาดำรงตำแหน่งประธาน ก.ตร. การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจึงอยู่ในอำนาจทั้งหมด
รัฐบาลทักษิณถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐตำรวจ นายกรัฐมนตรีเป็นอดีตตำรวจ แต่งตั้งตำรวจไปดำรงตำแหน่งสำคัญเพื่อเอื้อประโยชน์ดูแลฐานเสียงทางการเมือง โอนย้ายตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานสำคัญทางความมั่นคงและอื่นๆ เช่น เลขาธิการ ปปง. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฯลฯ ตลอดจนแต่งตั้งอดีตตำรวจไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสสระต่างๆ หลายองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. ฯลฯ
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ปฏิวัติยึดอำนาจ สิ้นสุดรัฐบาลทักษิณ และมีการแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
นายกฯ สุรยุทธ์ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
พล.ต.อ.วสิษฐ อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ รองอธิบดีกรมตำรวจ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ความสามารถในการบริหารงานตำรวจ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างยิ่ง
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อดีตพนักงานอัยการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ ในเรื่องการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา และมีประสบการณ์ในการบริหารพัฒนาปรับปรุงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
กรรมการโดยตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการข้าราชการพลเรือน ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และนายกสภาทนายความ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ศ.จรัส สุวรรณเวลา ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ศ.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ฯลฯ กรรมการในส่วนของตำรวจ พล.ต.อ.ไกรสุข สินสุข พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด พล.ต.อ.วสิษฐ ประธานฯ ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะ คณะอนุกรรมการโครงสร้างและการบริหาร คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลและวิชาชีพตำรวจ คณะอนุกรรมการด้านการปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและสนับสนุนการดำเนินการ
ประธานคณะอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการ เช่น รศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ รศ.ไชยา ยิ้มวิไล นายสมชาย แสวงการ นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ รศ.ประธาน วัฒนวาณิชย์ นายสกลธี ภัททิยกุล นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ฯลฯ
คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจคณะแรก ประธานคณะกรรมการ คณะกรรมการ ประธานคณะอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการทุกท่านเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ศาล อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ทุกท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมในการที่จะมาปฏิรูปตำรวจ
คณะกรรมการคณะนี้ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ดีที่สุดตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ
การปฏิรูปตำรวจครั้งที่ 1 เริ่มด้วยการสัมมนาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 โดยนายกฯ สุรยุทธ์ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ นโยบายรัฐบาลกับการพัฒนาระบบงานตำรวจเพื่อประชาชน ความตอนหนึ่งว่า “ตำรวจเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องพัฒนาเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องการให้สถาบันตำรวจเป็นองค์กรที่ประชาชนพึงพา และมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายในองค์กรตำรวจจะเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลนี้”
คณะกรรมการชุดนี้ได้กำหนดประเด็นหลักเพื่อแก้ไข 7 ประการ 1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการของตำรวจ 2.ทำให้องค์กรตำรวจปลอดจากการเมือง 3.กระจายอำนาจจากส่วนกลางมากขึ้น 4.มีระบบตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลตำรวจ 5.ตำรวจต้องเป็นสถาบันวิชาชีพ 6.ตำรวจต้องใกล้ชิดและเป็นที่ยอมรับของประชาชน 7.ตำรวจชั้นผู้น้อยจำนวนนับแสนต้องได้รับการดูแล
แนวทางดำเนินการ 5 เรื่อง 1.กำหนดนโยบายตำรวจระดับชาติ 2.คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ตำรวจ 3.การกระจายอำนาจ 4.ตัดโอนภารกิจตำรวจไปให้หน่วยงานอื่น 5.การปรับปรุงสถานีตำรวจ 6.การปรับปรุงระบบงานสอบสวน
คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการได้ศึกษา ค้นคว้า ระบบการทำงานและปัญหาของตำรวจอย่างกว้างขวาง มีการสำรวจความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและตำรวจกลุ่มต่างๆ เอาตัวอย่างตำรวจที่ดีหลายประเทศเพื่อมาปฏิรูปตำรวจไทย ทั้งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจของประชาชน พัฒนางานสอบสวน สวัสดิการของตำรวจ การควบคุมตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ฯลฯ
ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในคณะกรรมการ ได้กล่าวไว้ว่า “การทำงานครั้งนี้ลงทุนไปมาก ดังนั้นเมื่อได้คำตอบ การปล่อยให้สิ่งที่ทำไปเป็นแค่กระดาษเปื้อนมือ หรือลมปาก ที่ตั้งวาทะใส่กันแล้วก็หาย คงทำเช่นนั้นไม่ได้ แม้ต้องผ่านวิกฤต หรือการขับเคลื่อนที่ยากลำบาก”
ในที่สุดได้ปฏิรูปตำรวจครั้งแรก โดยเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จำนวน 45 มาตรา
เรื่องสำคัญมีการแก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ การปรับปรุงองค์ประกอบคุณสมบัติและการได้มาซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) การให้มี ก.ตร.ระดับภาค คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการปฏิบัติราชการของกองบัญชาการ (ก.ต.ส.) และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ต.)
ก.ต.ช.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยประธาน กต.ประธาน กอ.ประธาน ก.ตร.ปลัดมหาดไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน (รอง ผบ.ตร.ขึ้นไป) และผู้ซึ่งไม่เคยเป็นตำรวจ 6 คน ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ กำหนดนโยบายตำรวจและแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร.
ก.ตร.มีประธาน ก.ตร.แต่งตั้งจากผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากตำรวจคณะกรรมการ ก.ตร.มาจากการเลือกตั้ง โดยตำรวจส่วนหนึ่ง (ตำรวจชั้นยศต่างๆ เลือก) และโดยตำแหน่งส่วนหนึ่งแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ผู้บังคับการขึ้นไป
และให้มี ก.ตร.สำหรับกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค ให้ตำรวจเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เคยเป็นตำรวจยศ พ.ต.อ. อธิการบดี ฯลฯ แต่งตั้งตำรวจตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปจนถึงรองผู้บังคับการในกองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรภาค
เรื่องการแต่งตั้งตำรวจเป็นปัญหามาตลอดว่ามีการแทรกแซงการแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมือง ดังนั้นการกำหนดการได้มาและคุณสมบัติ ก.ต.ช.และ ก.ตร.ให้มาจากการเลือกตั้งของตำรวจเอง และมี ก.ตร.ระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค เป็นการกระจายอำนาจแต่งตั้ง เป็นหลักการใหม่และน่าจะเกิดผลดี
คณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการปฏิบัติราชการตำรวจ (ก.ต.ส.) ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค แต่งตั้ง (ก.ต.ส.) กรรมการ ประกอบด้วย อธิบดีอัยการ ผวจ. ปลัด กทม. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งเลือกกันเองเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เหมือนกับ ก.ต.ช.ในระดับกองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรภาค มีหน้าที่ต่างๆ และตามที่ ก.ต.ช.มอบหมาย
คณะกรรมการพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ (ก.ร.ต.) ให้จเรตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน พิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากการกระทำหรือไม่กระทำของข้าราชการตำรวจอันมิชอบด้วยหน้าที่
นายกฯ สุรยุทธ์นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. ฉบับปฏิรูปตำรวจฉบับแรก เข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติและนำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 พิจารณารับหลักการ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 46 คน เพื่อพิจารณา
คณะกรรมาธิการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป สิ้นสุดสมัยประชุมสภา กฎหมายค้างการพิจารณาอยู่ที่สภา
หลังจากการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีชุดนายกฯ สมัคร ไม่ได้ยืนยันที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ฉบับนี้ให้สภาดำเนินการต่อ กฎหมายดังกล่าวจึงตกไป เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ.2551-2552 ช่วงรัฐบาลนายกฯ สมัครและนายกฯ สมชาย เรื่องการปฏิรูปตำรวจไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด มีการชุมนุมประท้วงของ กปปส. และก็มีการนำเอาเรื่องการทำงานของตำรวจไปกล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจอยู่เสมอๆ
ปี พ.ศ.2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องการปฏิรูปตำรวจมาดำเนินการเป็นครั้งที่ 2
นายกฯ อภิสิทธิ์ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.วสิษฐเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง
อาจารย์วสิษฐได้แต่งตั้งผมเป็นคณะกรรมการด้วย คณะกรรมการอีกประมาณกว่า 10 ท่าน มีอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายกสภาทนายความ ฯลฯ เป็นกรรมการ องค์ประกอบคล้ายคลึงกับคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ คณะปฏิรูปตำรวจครั้งแรก แต่เล็กกว่า
คณะกรรมการได้ร่วมประชุม นำเอาบทสรุปของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจที่ทำไว้มาพิจารณาทบทวนเพิ่มเติม เห็นตรงกันว่าหากจะเสนอแก้ไขกฎหมายแบบเดิมมีข้อจำกัดหลายประการ
คณะกรรมการได้มอบหมายให้ผมและคณะทำงานไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางการทำงานของตำรวจให้ดีขึ้น โดยกำหนดเป็นคำสั่งหรือระเบียบภายในตำรวจ มีผลให้ปฏิบัติได้ทันที
สามารถทำได้เพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องหลักเกณท์การแต่งตั้งตำรวจให้ยึดหลักอาวุโส มีสัดส่วนที่แน่นอน เพื่อป้องกันการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรม โดยนำเข้าที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติ แล้วนำไปใช้บังคับได้ทันที
รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลผสม ไม่มีเสถียรภาพ มีปัญหาไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร.ได้ ต้องแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการแทน ผบ.ตร.จนเกษียณอายุราชการ และมีเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของ นปช. มีความวุ่นวายทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ
นายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ หมดวาระรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย
(จบการปฏิรูปภาคแรก).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ