จีนกล่าวหาสหรัฐฯ กำลังสร้าง ‘NATO เวอร์ชั่นเอเชีย’

จีนบอกว่าสหรัฐฯ กำลังสร้าง “NATO ในเอเชีย” เพื่อสกัดจีน...ถือว่าเป็นการพยายามปิดล้อมจีนอย่างไม่เป็นธรรม

พอเกิดสงครามในยูเครน ปักกิ่งก็ออกมาวิเคราะห์ว่าโศกนาฏกรรมแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดในเอเชียได้เช่นกัน

มีการอ้างถึงสารคดี “When Titans Clash” (เมื่อยักษ์ปะทะกัน) เพื่อนำมาพิจารณาคำเตือนและข้อกังวลของปักกิ่ง และความเป็นไปได้ของสงครามในอนาคต

มีการนำเสนอคลิปวิดีโอของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่แสดงถึงนาวิกโยธินจากอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน

โยงไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วที่เห็นเรือพิฆาตอังกฤษลำหนึ่งเข้าสู่น่านน้ำทะเลดำที่รัสเซียอ้างสิทธิ์นับตั้งแต่ผนวกไครเมียในปี 2014

วันต่อมาเรือรบเข้าร่วมการซ้อมรบทางเรือขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับ 32 ประเทศ และนำโดยสหรัฐอเมริกาและยูเครน

สะท้อนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของรัสเซียต่อการขยายอิทธิพลของ NATO ในยุโรป

แนวทางที่จีนกำลังบอกกล่าวกับประชาคมโลกคือการชี้ให้เห็นว่า อเมริกาต้องการจะสร้าง NATO ในเอเชีย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในลักษะที่ละม้ายกับที่เกิดขึ้นในยูเครน

หวาง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนพูดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า

สหรัฐฯ กำลังเป็นหัวหอกของระบบอำนาจนิยม โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่อนทำลายสถาปัตยกรรมความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เน้นอาเซียนเป็นศูนย์กลาง

รัฐมนตรีคนสำคัญของจีนคนนี้บอกว่า

“การกระทำที่ผิดวิสัยขัดกับความปรารถนาร่วมกันของภูมิภาคเพื่อสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และผลลัพธ์ที่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย พวกเขาถึงวาระที่จะล้มเหลว”

แรงผลักดันสำคัญของกลยุทธ์ใหม่ของสหรัฐฯ ได้แก่ “อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

หรือ A Free and Open Indo-Pacific Region

นั่นหมายถึงการดึงอินเดียมาเป็นพวกของฝ่ายตะวันตก

และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ “จตุภาคี” หรือ Quad อันหมายถึงสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

อีกทั้งยังเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องปรามกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

สำทับด้วยการขยายการแสดงตนของหน่วยยามฝั่งสหรัฐ มีส่วนสนับสนุนอาเซียน และปิดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค

ในส่วนที่เกี่ยวกับจีน สหรัฐฯ ระบุไว้ในเอกสารกลยุทธ์เกี่ยวกับ "พฤติกรรมที่เป็นอันตราย" ของปักกิ่ง

วอชิงตันกล่าวหาว่าจีนบีบบังคับ การรุกราน และการบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

หวาง อี้ บอกว่า “สหรัฐฯ แสดงความปรารถนาที่จะพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาค แต่ในความเป็นจริง เป็นการยั่วยุให้เกิดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์”

โดยอ้างถึงการเคลื่อนไหวอย่างเช่น Quad และ Aukus หรืออเมริกากับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย

รวมไปถึงการทำข้อตกลงด้านการทหารแบบทวิภาคีกับอีกหลายประเทศในย่านนี้

จีนถือว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับภูมิภาคนี้ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ชั่วร้ายเพื่อทำลายสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค”

ในความเห็นของนักวิเคราะห์ที่เป็นอดีตนักการทูตคนดังของสิงคโปร์ Kishore Mahbubani นั้น สิ่งหนึ่งที่ "ชัดเจนมาก" คือ "การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล…ระหว่างสหรัฐฯ และจีน"

เขาบอกว่า “เมื่อใดก็ตามที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่เกิดขึ้น ให้ระวัง เพราะมีอันตรายที่จะเกิดสงครามอย่างแน่นอน”

มาพร้อมกับคำเตือนว่า ทุกฝ่ายต้องระมัดระวังและทำงานหนักเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามก่อนที่มันจะระเบิด

“อีกทั้งประเทศต่างๆ ต้องไม่เอาหัวลงมุดทรายเหมือนนกกระจอกเทศ แล้วพูดว่า เฮ้ ทุกอย่างเรียบร้อยดี เพราะความจริงคือมันไม่ใช่เช่นนั้น

แต่หากมองจากออสเตรเลีย ภัยพิบัตินั้นมาจากจีนต่างหาก

หัวหน้าหน่วยข่าวกรองระดับสูงคนหนึ่งของออสเตรเลียเตือนว่า จีนตั้งใจที่จะสร้าง "ความโดดเด่นระดับโลก"

และเมื่อปักกิ่งกับมอสโกจับมือกัน ก็จะเกิดภาวะทางยุทธศาสตร์ที่ "น่าหนักใจ"

เพราะความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย “จะก่อให้เกิดภัยคุกคามครั้งใหม่ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม”

ผู้นำออสเตรเลียพูดถึง “ฉากทัศน์” ของระเบียบโลกใหม่ที่อาจจะเป็นไปได้ว่า

“เราต้องระวังระบอบเผด็จการใหม่ที่สอดคล้องตามสัญชาตญาณเพื่อท้าทายและรีเซตระเบียบโลกในภาพลักษณ์ของพวกเขาเอง”

ผู้นำออสเตรเลียเปิดเผยแผนการที่จะสร้างฐานทัพเรือดำน้ำบนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เพื่อรองรับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต

โดยใช้งบประมาณกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 340,000 ล้านบาท

นั่นคือสิ่งที่จีนมองแล้วเห็นว่า สหรัฐฯ กำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางทหารใหม่ที่เดินตามแนวของ NATO ในภูมิภาคนี้

และเมื่อจีนวาดภาพให้เห็นว่านี่คือ NATO เวอร์ชั่นเอเชีย ก็ทำให้หลายประเทศในเอเชีย (รวมทั้งในอาเซียน) เริ่มจะหวาดหวั่นว่าวิกฤตในยุโรปกำลังจะมีการฉายซ้ำในเอเชียในเร็ววันนี้หรือไม่

แต่ก็ต้องไม่มองข้ามยุทธศาสตร์ทางทหารของจีนที่ได้รับการปรับปรุงตลอดเวลา เพื่อระดมพันธมิตรในเอเชียเพื่อต้านการขยายวงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

นั่นย่อมหมายถึงการเผชิญหน้ารอบใหม่ระหว่างยักษ์ใหญ่ในเอเชียที่คนไทยต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ยึดข้อมูลมิใช่อารมณ์หรือกระแสชาตินิยมหรือวาทกรรมด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก

เพราะภายใต้ “ระเบียบโลกใหม่” ที่กำลังปรากฏให้เห็นนั้น ประเทศเล็กๆ จะอยู่ยากขึ้นทุกที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ