ลุ้นถกสัมปทานสายสีเขียว

ถือเป็นข้อถกเถียงกันมานานสำหรับประเด็นการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากที่ผ่านมามีประเด็นข้อสงสัยของกระทรวงคมนาคมที่สอบถามกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ยังไม่ได้รับการชี้แจงที่ครบถ้วน ทำให้กระทรวงคมนาคมมีความเห็นคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี หรือไปสิ้นสุดปี 2602 จากเดิมสิ้นสุดปี 2572 

เรื่องนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าชัยชนะเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมานั่ง ก็ทำให้หลายฝ่ายจับจ้องว่า ที่สุดแล้วท่านผู้ว่าฯ ป้ายแดงจะเข้ามาแก้ไขเผือกร้อน สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างไร ทันทีที่ผู้คนสนใจเรื่องนี้นั้น ด้านผู้ว่าฯ กทม.ป้ายแดงก็ได้เรียกบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที เข้ามารายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาการเดินรถ​และสัมปทาน​รถไฟฟ้าสายสีเขียว

แน่นอนว่าการขยาย​สัญญาสัมปทาน​รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาในปี 2572 นั้น ยังไม่ได้มีการหารืออย่างละเอียดที่ชัดเจน โดยผู้ว่าฯ กทม.มองว่าเรื่องนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ​ฝ่ายอื่นๆ ทั้งสำนักการจราจร​และขนส่ง ​กรุงเทพ​มหานคร​ หรือ​ สจส.​ และสภา กทม.​ ที่จะต้องพูดคุยกัน​เพื่อดูรายละเอียดข้อมูลและทบทวนการต่ออายุสัญญา จึงมอบให้สภา กทม.ดูเนื้อหาอย่างละเอียด​ตามแนวทางปฏิบัติ​ เพราะสัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณา​ของคณะกรรมการ​ที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44 หากศึกษารายละเอียดแล้วเชื่อว่าจะมีจุดที่ทำให้สัญญา​ถูกลงได้​ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนเข้ามาแข่งขัน​ 

ขณะที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้รายละเอียดกรณีสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมยืนยันหลักการนี้ อย่าไปพูดอะไรล่วงหน้า เพราะมีรายละเอียดเยอะ ขณะเดียวกันมองว่าอยู่ที่ผลการศึกษา หลักการอยู่ที่ทำอะไรแล้วประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและสัญญา การที่อยู่ๆ จะไปลดอะไรต่างๆ นานา ต้องไปดูด้วยว่าสัญญาสามารถทำได้หรือไม่ ระวังจะเป็นค่าโง่ 

มาดูกันที่ภาระหนี้สินระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอส จากข้อมูลล่าสุดมีจำนวน 40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (08M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท และ 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,088 ล้านบาท โดยปัจจุบันบีทีเอสได้ทวงถามหนี้กับ กทม.มาแล้วหลายครั้ง และได้ยื่นฟ้องเพื่อให้ กทม.จ่ายหนี้ในส่วนของค่าจ้างเดินรถที่ขณะนี้เป็นจำนวน 13,343 ล้านบาทแล้ว

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระกับบีทีเอสอีก แบ่งเป็น ภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท 

คงต้องติดตามความคืบหน้ากันอย่างใกล้ชิด หลังจากกระทรวงคมนาคมเตรียมทำหนังสือเชิญไปยังปลัดกรุงเทพมหานคร และประธานกรรมการร่วม เพื่อเข้าประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริการจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ครั้งที่ 2/2565 ในวันจันทร์ที่ 13 มิ.ย.นี้ เพื่อหารือแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกัน

เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริการชุดใหม่ได้เข้าบริหารราชการ กระทรวงจึงขอเรียนเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลและรายละเอียดของโครงการกับกระทรวงคมนาคม

ต้องมาลุ้นกันว่าปมสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะสรุปออกมาในแนวทางใด ต้องมาติดตามกันหลังจากนี้.

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า