ย้อนที่มาของกฎหมาย ‘ให้ยืม-ให้เช่า’ อาวุธ ของสหรัฐฯ เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 2

กฎหมายของสหรัฐฯ ที่ให้ยูเครน “ยืม-เช่า” อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อทำสงครามกับรัสเซียมีจุดเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลักใหญ่ใจความของกฎหมายฉบับนี้บอกว่า การส่งความช่วยเหลือไปให้กับประเทศพันธมิตร "มีความสำคัญต่อการป้องกันประเทศสหรัฐอเมริกา"

ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯ สามารถให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่พันธมิตรต่างประเทศของตนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่เพราะสหรัฐฯ ขณะนั้นยังมีกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลอเมริการักษา “ความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด”

ภายใต้กฎหมาย Neutrality Act

เพราะประชาชนคนอเมริกันและสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปพัวพันกับสงครามในยุโรป

กฎหมายห้ามการขายอาวุธ, ห้ามส่งอาวุธและห้ามส่งทหารไปร่วมรบในต่างประเทศ 

ในทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คนอเมริกันเข็ดจากการเข้าร่วมสงคราม เพราะต้องสูญเสียทั้งคนและทรัพย์สิน

นักการเมืองอเมริกันในช่วงนั้นถือว่าอเมริกาเป็นทวีปที่แยกออกจากยุโรป ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเข้าไปร่วมในความขัดแย้งที่ทำให้ต้องเสียเลือดเนื้อและทรัพยากรของชาติ

สภาคองเกรสออกกฎหมายความเป็นกลางหลายฉบับ เช่น ในปี 1935, 1936 และ 1937

มีเนื้อหาห้ามสหรัฐฯ ขายหรือขนส่งอาวุธหรือวัสดุสงครามใดๆ ให้กับประเทศที่ทำสงครามอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุกหรือฝ่ายตั้งรับ

แต่หลังจากเยอรมนีบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ในปี 1939 และเกิดสงครามเต็มรูปแบบขึ้นอีกครั้งในยุโรป ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประกาศว่า แม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นกลางตามกฎหมาย แต่ก็เป็นไปไม่ได้ “ที่ชาวอเมริกันทุกคนยังคงมีความคิดเป็นกลางอยู่เหมือนเดิม”

ยิ่งเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าเยอรมันนี, ญี่ปุ่นและอิตาลีเริ่มบุกหนัก          

ในปี 1939 รูสเวลต์พยายามน้าวโน้มเกลี้ยกล่อมรัฐสภาให้อนุญาตให้ขายเสบียงทางการทหารแก่พันธมิตร เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษด้วย "เงินสดและขนไปเอง" (Cash and Carry)

พวกเขาต้องจ่ายเงินสดสำหรับเสบียงทางทหารที่ผลิตในอเมริกาแล้วจัดการขนส่งไปเองโดยต้องไม่ใช้เรือของสหรัฐฯ

ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเช่นนี้เป็นที่ชัดเจนว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษและฝรั่งเศส

แรกๆ ที่รูสเวลต์เสนอแก้ไขกฎหมายนี้ไปที่รัฐสภาไม่เป็นผล

แต่พอรัสเซียบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน ปี 1939 รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ยอมแก้ไขกฎหมายโดยอนุญาตให้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อเมริกันได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขจ่ายเงินสดและจัดการขนส่งไปเองโดยไม่ใช้เรืออเมริกัน

ถือเป็นก้าวแรกของการผันนโยบายสหรัฐฯ ออกจาก “นโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง” จากสงคราม

พอถึงฤดูร้อนปี 1940 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อพวกนาซี และสหราชอาณาจักรต้องสู้กับเยอรมนีเพียงลำพังบนบก ในทะเล และทางอากาศ

วินสตัน เชอร์ชิลล์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ อังกฤษ เริ่มจะเห็นว่าถ้าสหรัฐฯ ไม่มาช่วยคงจะต่อกรกับฮิตเลอร์ไม่ไหว

เชอร์ชิลล์ขอร้องรูสเวลต์เป็นการส่วนตัวครั้งแล้วครั้งเล่าให้ส่งความช่วยเหลือทางทหารมาให้อังกฤษ

หาไม่แล้วฮิตเลอร์จะยึดยุโรปทั้งหมด และสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับกองทัพอันเกรียงไกรไร้เทียมทานของเยอรมนีแน่นอน

นั่นคือจังหวะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนเรือพิฆาตอเมริกันเก่าๆ 50 ลำ เพื่อเช่าฐานทัพอังกฤษในทะเลแคริบเบียนและนิวฟันด์แลนด์เป็นเวลา 99 ปี

พอถึงเดือนธันวาคมนั้น เงินสำรองของอังกฤษและทองคำค่อยๆ ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เพราะต้องทำสงครามอย่างดุเดือดกับฮิตเลอร์

เชอร์ชิลล์เตือนรูสเวลต์ว่าอังกฤษกำลังถังแตก ไม่สามารถจ่ายเงินสดสำหรับเสบียงทหารหรือค่าขนส่งอีกต่อไป

แม้ว่าเขาจะชนะเลือกตั้งด้วยการหาเสียงว่าจะพยายามไม่ให้สหรัฐฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามนอกบ้าน แต่รูสเวลต์ต้องการสนับสนุนสหราชอาณาจักรในการต่อต้านเยอรมนี

วันที่ 7 ธันวาคม 1940 เชอร์ชิลล์เขียนจดหมาย 15 หน้าถึงรูสเวลต์ร่ายยาวถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องยื่นมือมาช่วยอังกฤษแล้ว...ก่อนที่จะสายเกินไป

หลังจากได้ยินคำร้องขอทำนองอุทธรณ์ของเชอร์ชิลล์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็เริ่มทำทุกอย่างเพื่อโน้มน้าวสภาคองเกรส (และประชาชนชาวอเมริกัน) ว่าการให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่สหราชอาณาจักรมากขึ้นนั้นเป็นผลประโยชน์โดยตรงของสหรัฐฯ เอง

เพราะถ้าไม่ช่วยอังกฤษรบวันนั้นก็ต้องเจอภัยคุกคามจากเยอรมนีในวันต่อมาอยู่ดี

ถึงกลางเดือนธันวาคม 1940 รูสเวลต์เริ่มใช้นโยบายใหม่ โดยที่สหรัฐอเมริกาจะ “ให้ยืม-แทนการขาย” เสบียงทางการทหารให้กับอังกฤษเพื่อใช้ในการต่อสู้กับเยอรมนี

และเพื่อเป็นการช่วยให้อังกฤษยังมีลมหายใจทางการเงิน สหรัฐฯ ได้เลื่อนการชำระเงินสำหรับวัสดุสงครามที่ซื้อไปก่อนหน้านั้น

“เราต้องเป็นคลังแสงที่ยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตย” รูสเวลต์ประกาศในรายการวิทยุ “การสนทนาข้างกองไฟ” (Fireside Chat) อันเลื่องลือของเขา

ประโยคประวัติศาสตร์นั้นถูกกล่าวผ่านรายการวิทยุ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1940

 “สำหรับเรา นี่เป็นเหตุฉุกเฉินที่ร้ายแรงพอๆ กับสงคราม เราต้องร่วมกันสานภารกิจนี้ด้วยปณิธานเดียวกัน ความเร่งด่วนแบบเดียวกัน จิตวิญญาณแห่งความรักชาติและการเสียสละแบบเดียวกับที่เราจะแสดงเมื่อเราอยู่ในภาวะสงคราม”

ประธานาธิบดีรูสเวลต์ลงนามในกฎหมาย Lend-Lease Act เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1941

ภายในสิ้นปี 1941 นโยบายการให้ยืม-เช่าขยายให้ครอบคลุมพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ รวมถึงจีนและสหภาพโซเวียต

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ได้ใช้กฎหมายฉบับนี้มอบเงินช่วยเหลือทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

แต่วันนั้นไม่มีใครคิดว่าสักวันหนึ่งหลังสงครามโลกสิ้นสุดแล้ว 77 ปี สหรัฐฯ จะต้องปัดฝุ่นเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้เพื่อปกป้องอธิปไตยของยุโรปอีกครั้งหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ