‘ความเป็นกลางโมเดลสวิส’ ก็หวั่นไหวหลังรัสเซียบุกยูเครน

ไม่เพียงแต่ฟินแลนด์กับสวีเดนเท่านั้นที่ตัดสินใจเข้าร่วม NATO แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ทำท่าเหมือนกำลังพิจารณาจะสละสถานภาพ “ความเป็นกลาง” เพราะเกิดสงครามยูเครนเช่นกัน

จะเรียกว่า “สถานะความเป็นกลางทางทหารและทางการเมือง” ของสวิตเซอร์แลนด์กำลังถูกท้าทายอย่างหนักก็ไม่ผิดนัก

สังเกตได้ว่ากระทรวงกลาโหมสวิสมีท่าทีขยับเข้าใกล้กับมหาอำนาจทางทหารของตะวันตกมากขึ้น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ผมได้อ่านรายงานด้านความมั่นคงของกลาโหมสวิสแล้วก็เห็นได้ชัดว่ามีการเปิดทางเลือกต่างๆ เอาไว้สำหรับอนาคตที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจุดยืน “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ที่เป็นยี่ห้อของประเทศนี้มายาวนาน

ทางเลือกที่ว่านี้หมายรวมถึงการร่วมซ้อมรบกับประเทศสมาชิกองค์การนาโต

และรวมถึงการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สนับสนุนยูเครนอย่างเปิดเผยอีกด้วย

หัวหน้าฝ่ายนโยบายด้านความมั่นคงของสวิตเซอร์แลนด์ Paelvi Pulli ยอมรับกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมของประเทศนี้กำลังอยู่ในกระบวนการประเมินและทบทวนใหม่ในภาวะที่ระเบียบโลกกำลังเข้า

สู่ความเปลี่ยนแปลงชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

รอยเตอร์บอกว่า เนื้อหาของ “ทางเลือกด้านความมั่นคง” ใหม่ของสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

แต่ได้นำเสนอต่อระดับนโยบายระดับสูงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์และนาโต

แปลว่าองค์การ NATO เองก็มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นต่อการปรับท่าทีของสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน

อาจเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนคำนิยามของคำว่า “เป็นกลาง”

                    จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีวลีที่อธิบายความเป็นกลางที่ต้องมีกองทัพปกป้องตนเองด้วย

เรียกมันว่า “Armed Neutrality”

อันหมายถึงการที่ประเทศรักษาความเป็นกลางและสงวนสิทธิ์ที่จะมีการสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารในระดับที่จะปกปักรักษาอธิปไตยของตนได้ด้วย

รัฐมนตรีกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ Viola Amherd พูดไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเทศของเขาควรทำงานร่วมกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับนาโต

แต่เขาก็รีบเสริมว่า การพูดเช่นนั้นไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตแต่อย่างใด

มีคำอธิบายจากนักวิเคราะห์ในกลุ่มที่กำลังเสนอปรับยุทธศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ว่า การที่ประเทศนี้มีนโยบายเป็นกลางด้านการทหารและการเมืองมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการดำรงแนวทางเป็นกลางในความหมายที่ว่าจะไม่สนใจแนวโน้มความขัดแย้งของโลก

แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศ

ถ้าสวิตเซอร์แลนด์ขยับเข้าใกล้นาโต แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกองค์กรทางทหารตะวันตกนั้น อาจจะทำให้ประเทศนี้ปรับจุดยืนกลายเป็นประเทศที่ไม่เป็นคู่กรณีกับฝ่ายใด        

แต่ก็ยังสามารถรักษาบทบาทพิเศษในการเป็น “ตัวกลาง” ที่จะช่วยไกล่เกลี่ยหารือระหว่างประเทศคู่พิพาท

เช่นกรณีที่เกิดขึ้นช่วงสงครามเย็น

ข่าวบอกว่ารายงานด้านความมั่นคงของสวิตเซอร์แลนด์จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้ และจะเข้าสู่การพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป

นั่นหมายความว่า กระทรวงกลาโหมก็ต้องระดมสมองกับทบวงกรมอื่นๆ เพื่อประเมินประเด็นที่เกี่ยวโยงต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การสนับสนุนด้านอาวุธ การจัดส่งอาวุธ และความสัมพันธ์กับนาโตบนพื้นฐานของการรักษาความเป็นกลางต่อไป

สวิตเซอร์แลนด์มีความภาคภูมิใจที่ไม่เคยเข้าร่วมสงครามระหว่างประเทศใดๆ มาตั้งแต่ ค.ศ.1818

เป็นปีที่ประเทศนี้ประกาศจุดยืนเป็นกลางมาตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศส

อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ.1907 ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศ ไม่สนับสนุนฝ่ายที่ทำสงครามด้วยกองกำลังหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือทำให้ดินแดนของตนเข้าถึงฝ่ายที่ทำสงครามได้

                    นโยบายนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้มีสิทธิในการป้องกันตัวเอง (self-defence)

แต่ก็เปิดทางให้สามารถตีความ “ความเป็นกลาง” ในมิติการเมืองนอกเหนือจากแง่ทางกฎหมาย

พอเกิดสงครามยูเครน จุดยืนของประเทศนี้ก็เริ่มจะถูกตีความให้ตรงกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากขึ้น

หลายประเทศแปลกใจที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ร่วมโลกตะวันตกในการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เปิดทางให้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครน

แต่ก็ยังเปิดทางให้สวิตเซอร์แลนด์สนับสนุนยูเครนทางอ้อม...นั่นคือสามารถส่งอาวุธให้แก่ชาติอื่นๆ เพื่อทดแทนส่วนที่จัดส่งไปให้กับยูเครนได้

                    ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ อิกนาซิโอ กัสซิส บอกว่า กำลังพิจารณาแนวทางเช่นว่านี้

แนวทางนี้ไม่ได้ห้ามการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านกลาโหมของประเทศ

ปีที่แล้วสวิตเซอร์แลนด์สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ของบริษัทล็อคฮีดมาร์ตินแห่งสหรัฐฯ

เป็นเครื่องบินที่ประเทศสมาชิกนาโตบางประเทศใช้อยู่

รัฐมนตรีกลาโหมเคยบอกว่าสวิตเซอร์แลนด์ไม่สามารถเข้าร่วมนาโตได้ เพราะนโยบายเป็นกลาง

แต่ก็ “สามารถทำงานร่วมกันได้”

และระบบการจัดซื้ออาวุธก็อยู่ที่ว่าประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร

                    ความเห็นของประชาชนก็เริ่มปรับเปลี่ยนหลังรัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน

การสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุดพบว่า 56% สนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์กับนาโต ซึ่งเพิ่มจากระดับ 37% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าสนับสนุนให้เข้าร่วมนาโตหรือไม่ คำตอบก็เริ่มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่ยังชัดเจนเหมือนฟินแลนด์และสวีเดนที่เสียงส่วนใหญ่เกิน 70% ให้ร่วมนาโต

โพลเมื่อเดือนเมษายน ของ Sotomo พบว่า 33% ของชาวสวิส หนุนการเข้าร่วมนาโต เพิ่มจากระดับ 21%

กรณีของสวิตเซอร์แลนด์มีความละม้ายและแตกต่างกับฟินแลนด์และสวีเดนอย่างน่าสนใจมากทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ