โบโกตาเบื้องต้น

สิ่งแรกๆ ที่ผู้หวังดีแนะนำและตักเตือนในการไปเยือนอเมริกาใต้ก็คือการใช้บริการแท็กซี่ เพื่อนผมบางคนถึงขั้นบอกว่าเป็นปัญหาร่วมของทั้งทวีปเลยทีเดียว กรุงโบโกตาก็ไม่ได้รับการยกเว้น และการเรียกแท็กซี่บนถนนคล้ายเป็นสิ่งต้องห้าม

ผ่านตรวจคนเข้าเมืองสนามบินนานาชาติเอลโดราโดมาได้ ผมก็ออกไปยังพื้นที่รอรับกระเป๋าเดินทาง เจ้าหน้าที่หนุ่มในยูนิฟอร์มเต็มยศ 2 คนยืนคุมเชิงอยู่บริเวณแถวของรถเข็น คนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ค่ารถเข็น 2 ยูเอสดอลลาร์” ผมตอบว่าไม่มี เขาก็บอกว่า “ฟรีสำหรับคุณ”

ตอนแรกผมนึกว่าเป็นการหากินของเจ้าหน้าที่ มาอ่านเจอทีหลังจึงทราบว่า 2 ดอลลาร์, 2 ยูโร หรือ 4,000 เปโซ เป็นค่ามัดจำ จะได้เงินคืนเมื่อนำรถเข็นไปคืนตรงจุดที่กำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงน่าจะมีน้อยคนที่ได้เงินคืน เดี๋ยวจะเฉลยครับ

ก่อนออกจากสนามบิน ผมถามสตรี 2 คนในยูนิฟอร์มถึงจุดขึ้นแท็กซี่ที่ได้รับอนุญาตจากสนามบิน ความจริงมีป้าย Authorized Taxis แต่ประตูทางออกไหนไม่แน่ชัด เธอทั้งสองคนพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อยตอบว่า Exit 5 ผมนึกว่าพวกเธอเป็นเจ้าหน้าที่ของสนามบิน แต่ที่จริงคือพนักงานของสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง

เจอคนพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งที ผมอยากจะถามทุกอย่างที่อยากรู้ แต่ตอนนี้ถามเพิ่มได้แค่จุดแลกเงิน คนหนึ่งบอกทาง พอเห็นว่าผมไม่ค่อยเข้าใจเธอก็เดินไปส่ง เพื่อนอีกคนพูดกับเธอว่า “ถึงขั้นเดินไปส่งเลยหรือ?” เธอตอบกลับ “เอาน่า นิดเดียวเอง” พวกเธอพูดกันเป็นภาษาสเปน พูดกันอย่างนี้จริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ ผมอ่านเอาจากภาษากาย (ฮ่าๆ)

ตรงเคาน์เตอร์แลกเงิน อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างถูก อันเป็นเรื่องปกติในการแลกเงินตามสนามบินและสถานีขนส่งพวกรถบัสและรถไฟ ผมแลกแค่ 40 ดอลลาร์เผื่อค่าแท็กซี่และมื้อค่ำ ไว้ค่อยไปแลกวันรุ่งขึ้นที่ร้านแลกเงินในตัวเมือง

อัตราแลกเปลี่ยนโดยทั่วไประหว่างเงินเหรียญสหรัฐกับเปโซโคลอมเบีย (อักษรย่อ COP) ประมาณ 1 เหรียญฯ ต่อเกือบๆ 4,000 เปโซ โดยเลข 0 สามตัวหลังนั้นไร้ความหมาย ในธนบัตรก็ไม่ได้ใส่ไว้ เช่น แบงก์ 50,000 เปโซ จะเขียนว่า 50 Mil Peso ซึ่ง Mil แปลว่า 1 พัน และเงินเปโซเมื่อเทียบเป็นเงินไทยตกราวๆ 1,000 เปโซต่อ 9 บาท หรือจะพูดว่า 1 ต่อ 9 ก็ย่อมได้

ตอนที่ผมเข้าแถวรอแท็กซี่ด้านนอกของประตู 5 บริเวณนี้ไม่มีจุดรับเงินมัดจำรถเข็นคืน คงจะมีอยู่ภายในอาคาร จึงเชื่อว่าน้อยคนมากจะคืนรถเข็นแล้วหอบกระเป๋าคนละสองสามใบออกจากประตูมายืนเข้าคิวรอแท็กซี่ ผมได้แท็กซี่แล้วก็เดินไปขึ้นประตูหลังทางฝั่งซ้าย ขณะที่โชเฟอร์เปิดประตูรออยู่ฝั่งขวา

ด้วยเพราะบิน 3 ต่อ ไม่ได้นอนมาเป็นเวลา 34 ชั่วโมง พอมาถึงสิ่งที่กังวลอยู่ตั้งแต่แรกคือเรื่องค่าโดยสารนั้น ผมก็ลืมดูว่าแท็กซี่มีมิเตอร์หรือเปล่า อ่านจากเว็บไซต์เดินทางแห่งหนึ่งบอกว่าค่าแท็กซี่เข้าเมืองประมาณ 20 ดอลลาร์ ผมถามค่าโดยสารเป็นภาษาอังกฤษ โชเฟอร์หนุ่มตอบ “ฟิฟตี” ผมนึกว่า 50 ดอลลาร์ หากมีสติเราก็น่าจะรู้ว่าหมายถึง 50 พันเปโซ ผมบอกว่าจะให้ “ทเวนตี” เขาขอ “เตอร์ตี” ผมยืนยัน “ทเวนตีดอลลาร์” เขาได้ยินคำว่าดอลลาร์ก็รีบตอบโอเค เพราะระยะทางแค่ 15 กิโลเมตร และเดินทางราวๆ ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ถ้าหากผมหาข้อมูลให้หลากหลายกว่านี้ ก็จะทราบว่าค่าโดยสารประมาณ 30 พันเปโซ หรือไม่ถึง 10 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ เว็บไซต์ airport-bogota.com/taxi ระบุว่า Estimated fares for a trip to downtown Bogota are between COP 15,000 to 26,000 depending on destination. Airport surcharge: COP 4,400 แล้วที่เจ็บใจยิ่งขึ้นไปอีกคือผมลืมไปว่าตัวเองเพิ่งแลกเงินเปโซมาหยกๆ

ตลอดเวลาที่อยู่ในกรุงโบโกตา ผมเรียกแท็กซี่จากบนถนนซึ่งคิดค่าโดยสารด้วยมิเตอร์เพียงแค่ 1 ครั้ง ไม่มีปัญหาอะไร คงเพราะโดยสารไปด้วยกัน 3 คน

โรงแรมที่ผมพักตั้งอยู่บนถนนเลขที่ 49 ตัวเลขถนนนี้มีความหมายบ่งบอกอะไรหลายอย่าง ถนนหรือ Calle (กาเย) ของกรุงโบโกตานั้นจะเริ่มจาก Calle 1 ไปจนราวๆ 200 เริ่มนับตั้งแต่เขตเมืองเก่า ค่อยๆ ขยับขึ้นไปทางทิศเหนือ ส่วนที่ไปทางทิศใต้มีคำว่า Sur กำกับ แปลว่า “ใต้” การบอกพิกัดว่าอยู่ตรงไหนต้องบอกว่า Calle เท่าไหร่ ตัดกับ Carrera เท่าไหร่

วันต่อมาผมมีโอกาสได้ไปกินมื้อค่ำและดื่มเบียร์กับคนไทย 2 คน หนึ่งคือสุภาพสตรีที่ลาออกจากงานเพื่อมาเรียนภาษาสเปนที่กรุงโบโกตา และอีกหนึ่งเป็นสุภาพบุรุษมาจากเม็กซิโก ทั้งคู่อาสามาช่วยงาน Week of Friendly Countries, Colombia – Thailand : Strengthening relationships ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผมเล่าไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน จัดโดยมหาวิทยาลัย Santo Tomas และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู (ทำหน้าที่ครอบคลุมโคลอมเบีย, โบลิเวีย เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา)

คุณสุภาพสตรีอธิบายเรื่องถนนให้ฟังว่าถนนหรือ Calle เลขน้อยๆ บ่งบอกว่าพื้นที่นั้นสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ค่าเช่าบ้านถูก ค่าโรงแรมถูก ร้านอาหารราคาถูก ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาหลายอย่าง ที่เด่นชัดคือปัญหาอาชญากรรม ชิงปล้น คนไร้บ้าน โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า เขตยอดนิยมของนักท่องเที่ยว อย่าง La Candelaria ที่พอฟ้ามืดลงแล้วจะไม่มีใครกล้าออกไปเดินตามถนนหนทาง ส่วนร้าน Andres D.C. ที่เรานั่งกันอยู่นี้ตั้งอยู่บน Calle 82 ถือเป็นย่านร้านหรู ราคาอาหารและเครื่องดื่มค่อนข้างสูง ส่วนย่านที่พักอาศัยของคนมีฐานะก็อยู่ที่ประมาณ Calle 100 เช่นเดียวกับที่ตั้งสำนักงานของบริษัทใหญ่ๆ และบรรดาสถานทูต

ส่วนสาเหตุที่เธอมาเรียนภาษาสเปนถึงโคลอมเบีย ก็เพราะว่าภาษาสเปนที่พูดกันในโคลอมเบียเปรียบเสมือนภาษาสเปนกลางของโลก อีกทั้งสำเนียงน่าฟังที่สุด และแน่นอนว่าค่าครองชีพที่พอๆ หรืออาจจะต่ำกว่ากรุงเทพฯ มีผลต่อการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง

ขากลับเรานั่งแท็กซี่คันเดียวกัน คุณนักเรียนภาษาสเปนลงที่หน้าอพาร์ตเมนต์ ประมาณ Calle ที่ 70 ส่วนผมและคุณจากเม็กซิโกพักโรงแรมเดียวกัน แท็กซี่คันนี้เขาเป็นคนเรียกโดยใช้บริการของแอป Uber แม้โชเฟอร์ของ Uber เกือบทั้งหมดพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือได้นิดๆ หน่อยๆ แต่ปลอดภัยและราคาก็ไม่แพง นอกจาก Uberแล้วมีผู้แนะนำแอปชื่อ Taxi Libres ด้วย

สิ่งที่ผมต้องเรียนรู้เพื่้อประโยชน์ระหว่างอยู่ในโคลอมเบียอย่างต่อมาก็คือเบียร์ ภาษาสเปนเรียกว่า Cerveza ออกเสียง “เซอรเว่ซา” ดูเหมือนว่าเบียร์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรปหรือแม้แต่สหรัฐอเมริกานั้นจะเป็นที่นิยมในโคลอมเบียแม้มีราคาแพงกว่าพอสมควร

ระหว่างการเดินทางในต่างประเทศ หากเบียร์ท้องถิ่นรสชาติไม่ย่ำแย่จนเกินไป ผมก็จะไม่ดื่มเบียร์อิมพอร์ตเป็นอันขาด และในโคลอมเบียมี “เซอรเว่ซา” อยู่หลายยี่ห้อ หลายแบบ หากเป็นเบียร์ตลาดจะถูกมาก ในร้านมินิมาร์ทราคากระป๋องละไม่ถึง 30 บาทไทย พวกเบียร์คัดวัตถุดิบ เน้นคุณภาพ เป็นเบียร์จากบรูวเวอร์รีเล็กๆ ราคาสูงขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังหาได้ในราคาประมาณ 40 บาท

อย่างไรก็ตาม ผมยังทำการบ้านเบียร์โคลอมเบียไม่มากพอที่จะสรุปได้ในหลายประเด็น ส่วนไวน์นั้น โคลอมเบียไม่มีแหล่งผลิต ส่วนมากนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ชิลี เปรู และอาร์เจนตินา อย่างไวน์อาร์เจนตินาบางตัวซึ่งผมสามารถพูดได้เพราะภายหลังได้ไปอยู่อาร์เจนตินาค่อนข้างนาน ราคาในโคลอมเบียแพงกว่าในอาร์เจนตินาประมาณ 3 เท่า และไวน์ตัวเดียวกันนี้ที่ผมเจอในเมืองไทย ราคาแพงกว่าในอาร์เจนตินาประมาณ 5 เท่า

เช้าวันที่สองหลังจากมาถึงกรุงโบโกตา ผมได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามคณะพระธุดงค์ชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชิญมาในงานไทย-โคลอมเบียที่กล่าวไปข้างต้น ไปฉันเพลที่ร้านอาหารชื่อ Carmelo Cafe โดยมีญาติโยมชาวไทยที่พำนักในสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งเดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย

พนักงานในร้านไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ คุณคนไทยจากเม็กซิโกท่านเดิมที่พูดภาษาสเปนได้ตามมาทีหลังและกลับออกไปก่อนอย่างรวดเร็ว เราที่เหลือสื่อสารกับพนักงานเดินโต๊ะด้วยภาษาใบ้ แอปแปลภาษา และมีภิกษุณีท่านหนึ่งซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน แม้ภาษาของท่านจะเป็นคนละภาษากับสเปน แต่ถือเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน พอพูดกันรู้เรื่องบ้าง ทว่าสุดท้ายอาหารที่ได้รับ ตรงกับที่สั่งบ้าง ไม่ตรงบ้าง บางอย่างอร่อย และบางอย่างก็เฉยๆ ไปจนถึงแห้งๆ แข็งๆ เหี่ยวๆ ชืดๆ

แต่ที่พอชดเชยคะแนนให้กับร้านนี้จนกลับมาได้เกรดเอ ก็เพราะกาแฟที่สั่งมาปิดท้ายก่อนออกจากร้าน อาจต้มด้วยเพอร์โคเลเตอร์ หรือไม่ก็คงเป็นดริปพ็อตธรรมดา แต่รสชาตินั้นเหลือรับประทานจริงๆ ผมจิบแล้วหันไปมองหน้าคุณป้าท่านหนึ่งที่มาจากอเมริกา ผมและคุณป้าชอบรสอาฟเตอร์เทสต์ของกาแฟนี้มาก เป็นรสของถั่วชนิดใดชนิดหนึ่ง จนตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าคล้ายถั่วอะไร เราคิดว่าเดี๋ยวก็คงจะเจอกาแฟรสชาติแบบนี้อีกตามร้านทั่วไปในกรุงโบโกตา ปรากฏว่าอีกทั้งสัปดาห์ที่อยู่ที่นี่เราไม่พบกาแฟรสชาตินี้อีกเลย

เช้าสองหรือสามวันต่อมาทางคณะได้ตื่นแต่เช้าตรู่และเดินทาง 3 ชั่วโมงไปยังไร่และโรงงานผลิตกาแฟ Hacienda Coloma เมือง Fusa ผมไม่ได้ไปด้วย เพราะเป็นวันเดียวกับคิวส่งคอลัมน์ซึ่งยังเขียนไม่เสร็จ ผมถามคุณป้าท่านเดิมตอนที่กลับมาจากไร่กาแฟ แม้ว่าได้ชิมกันแบบระยะประชิดถึงต้นทางการผลิต แต่คุณป้าบอกว่าแม้จะยอดเยี่ยม แต่ก็สู้กาแฟที่เราดื่มที่ร้าน Carmelo Cafe ไม่ได้ น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสกลับไปที่ร้านเพื่อค้นความจริงให้กระจ่างว่าเป็นกาแฟชนิดใด

สินค้าอีกอย่างของโคลอมเบียที่ผมได้สัมผัสแล้วเหมือนคนค้นพบสิ่งใหม่ในชีวิต นั่นก็คือ Ron ซึ่งในภาษาอังกฤษก็คือ Rum คอเหล้ารัมชาวไทยเมื่อชิมแล้วอาจจะต้องสบถออกมาว่าที่ดื่มๆ กันอยู่เสมอมา มันเป็นเหล้ารัมหรือรำข้าวหมูกันแน่ และสิ่งที่ผมเสียดายกว่าการไม่ได้เดินทางไปชิมกาแฟถึงไร่ ก็คือการที่ได้ทราบว่าโรงงาน Hacienda Coloma เป็นแหล่งผลิตเหล้ารัมยี่ห้อหนึ่ง นั่นคือ Ron Coloma ซึ่งชนิดบ่ม 8 ปีของพวกเขาเพิ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินมาหมาดๆ จากการประกวดที่กรุงบรัสเซลส์ เป็นรัมที่ได้จากการกลั่นน้ำอ้อย 2 สายพันธุ์แล้วนำไปกรองด้วยฟิวเตอร์กาแฟ จากนั้นบ่มนาน 8 ปีในถังเบอร์เบิน แล้วนำไปบ่มต่อในถังลิเคียวรสกาแฟอีก 3 เดือน ผมค้นข้อมูลตอนหลังจึงทราบ และก็ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าก่อนผลิตรัม บริษัทนี้ผลิตลิเคียวหรือเหล้าหวานมาก่อน

กลับเข้ามาที่กรุงโบโกตา เมืองหลวงแห่งนี้ถือว่ามีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก คือประมาณ 8 ล้านคน และประชากรแฝงอีกราว 4 ล้านคน แต่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้า (กำลังก่อสร้างสายแรก กำหนดเปิดใช้อีก 6 ปีข้างหน้า ขณะที่เมืองเมเดยินมีใช้มาตั้งแต่ ค.ศ.1995) การจราจรติดขัดอย่างหนัก จนมีโครงการ TransMilenio เปิดให้บริการตรงกับปี ค.ศ.2000 เป็นระบบ Bus Rapid Transit หรือ BRT

นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของการขนส่งสาธารณะประเภทล้อยางที่มีช่องจราจรและสถานีเป็นของตัวเอง แต่ละวันมีผู้โดยสารเฉลี่ยของทั้งระบบ 12 สาย ถึง 1.2 ล้านคน ใช้รถบัส 2 ตอนจุได้ 160 คน และ 3 ตอนจุได้ 270 คน การลงทุนนั้นต่ำกว่ารถไฟฟ้าระบบรางหลายเท่าตัว สามารถใช้บัสเล็ก หรือที่เรียกว่า “Feeders” ป้อนและถ่ายผู้โดยสารไปยังบางพื้นที่สำคัญซึ่ง BRT สายหลักเข้าไม่ถึง

กรุงเทพมหานครของเราก็มีโครงการ Bangkok BRT เปิดใช้งานช่วงกลางปี พ.ศ.2553 สายสาทร-ราชพฤกษ์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม ปรากฏว่าโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้แผนการก่อสร้างอีกอย่างน้อย 5 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องล้มเลิกไป

กรุงโบโกตายังได้รับการขนานนามให้เป็นเมืองหลวงจักรยานของลาตินอเมริกา มีการใช้จักรยานในการสัญจรในชีวิตประจำวันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เลนจักรยานครอบคลุมประมาณ 360 กิโลเมตรทั่วกรุง

 

นอกจากนี้ในทุกวันอาทิตย์ถือเป็นวัน Car-free day มีการปิดถนนอย่างน้อย 16 สาย เรียกว่า Ciclovia แปลว่า “ทางจักรยาน” สำหรับผู้ใช้จักรยาน สเกตบอร์ด สกูตเตอร์ โรลเลอร์สเกต วีลแชร์ รวมถึงผู้ที่ชอบการเดิน จำนวนชาวโบโกตาที่ออกมาอยู่บนถนนไร้มลพิษในแต่ละวันอาทิตย์นั้นเฉลี่ยถึงประมาณ 1.5 ล้านคนเลยทีเดียว
แล้วผมก็สงสัยขึ้นมาว่าพ่อเมืองของกรุงโบโกตาเคยสนับสนุนโครงการรถยนต์คันแรกมั้ยนะ…ไม่เกี่ยว (ฮ่าๆๆ).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย