ทำไมประเทศไทยต้องมีกฎหมาย คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล?

เมื่อวานเขียนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว จำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจในทางปฏิบัติ เพราะมีผลกระทบต่อคนไทยทุกคน

คุณเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยอมรับว่ามีเสียงคัดค้านจากบางภาคส่วน เพราะภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องจัดทำระบบการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย

อีกประเด็นหนึ่งคือ ข้อกำหนดสำหรับผู้ฝ่าฝืนที่มีบทลงโทษทั้งอาญาและแพ่ง

คุณเวทางค์บอกว่า “มีเสียงเรียกร้องมาถึงเราทั้งที่จริงและไม่จริง ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง”

เป็นความจริงที่ว่า เมื่อไม่เข้าใจรายละเอียดกฎหมายก็อาจจะกลัวไว้ก่อน

 “คนที่อยู่ในวงการจะรู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ความจริง ไม่ได้เพิ่มโทษเลย แต่ถ้าทำได้อย่างถูกต้อง จะสามารถลดต้นทุนของบริษัทด้วยซ้ำ...”

เพราะจะเป็นการสร้างเครดิตให้กับบริษัทว่าสามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและผู้คนที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลฟังเสียงร้องเรียนเรื่องภาระเพิ่มและบทลงโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

 “ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาทางลดภาระและบทลงโทษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” คุณเวทางค์บอก

ดังนั้นคนไทยควรจะเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมรับการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับใหม่นี่อย่างไร

 “สำหรับประชาชนคนไทยทั่วไป วันที่ 1 มิถุนายนนี้ เป็นวันที่ท่านได้รับสิทธิ์ในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของท่านอย่างเต็มที่...แต่แน่นอนการคุ้มครองสิทธิ์นี้ก็ไม่ใช่ทุกมิติทุกแง่มุม จะมีบางเรื่องที่ประชาชนอาจจะเสียสิทธิ์ไปบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามีคำถามก็ติดตามมาที่สำนักงาน ซึ่งมีคอลเซ็นเตอร์ที่พร้อมจะให้ความกระจ่าง...”

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นก็คือ เมื่อไทยมีกฎหมายฉบับนี้แล้วก็จะทำให้ประชาคมโลกเห็นไทยเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสากลในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

จะทำให้ชื่อเสียงประเทศไทยดีขึ้น และการทำธุรกิจระหว่างประเทศก็จะมีโอกาสมากขึ้น จะลื่นไหลมากขึ้นและต้นทุนในการทำธุรกิจก็จะลดลงด้วย

 ผมถามอาจารย์ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ว่า ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับใหม่นี้

ได้รับคำตอบว่า ทุกวันนี้ได้ยินข่าว “ข้อมูลรั่วไหล” หรือข้อมูลส่วนบุคคลหลุดออกไปสู่สาธารณะหรือไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่เว้นเเต่ละวัน

ทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลอยู่กับตัวเราโดยที่เราสามารถควบคุมได้ ปัญหาจะยังไม่เกิด จนกว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเราจะถูกนำไปใช้หรือถูกเข้าถึงโดยมิชอบโดยบุคคลอื่นทั้งที่เรารู้ตัวจากการเเจ้งให้ทราบ หรือโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ

จนเกิดคำถามที่ว่า “เขารู้ข้อมูลส่วนตัวของเราได้อย่างไร?”

ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เลขประจำตัวบัตรประชาชน หรือเลขบัญชีธนาคาร

โดยข้อมูลส่วนบุคคลของเราถือเป็นสินทรัพย์สารสนเทศ หรือ “Information Asset” ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้โดยมีผู้ได้ประโยชน์จากการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของเรา

และผู้เสียประโยชน์ก็คือตัวเรานั่นเอง

ดังนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเน้นไปที่ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้เน้นไปที่ข้อมูลขององค์กร

เมื่อมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล และทำให้สามารถระบุตัวตนของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ให้ถือว่าเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นเเล้ว

ทำให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในเหตุการณ์รั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวตามกฎหมาย

เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในยุคนี้ ร่องรอยทางดิจิทัล หรือ “Digital Footprint“ มีความสำคัญอย่างมาก

สามารถสร้างความเดือดร้อนความเสียหายต่อบุคคลที่ข้อมูลส่วนบุคคลหลุดออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจ

เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านชื่อเสียงทั้งบุคคลและองค์กรแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเหมือนตอนที่ข้อมูลยังไม่หลุดรั่วออกไป

ว่ากันว่าในยุคไซเบอร์นั้น “Reputational Risk” หรือ "ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์" ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดความเสียหายสูงสุดต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

เพราะในโลกไซเบอร์มีข้อมูล “Digital Footprint” ถูกเก็บไว้อยู่ในระบบ Cloud เป็นจำนวนมาก เก็บไว้ย้อนหลังเป็นเวลาหลายปี ทำให้มีความเสี่ยงต่อเจ้าของข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีการเข้าถึง “Digital Footprint” ได้

อาจารย์ปริญญาบอกว่า เหตุผลหนึ่งที่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้คือ การระบาดของโควิด

ซึ่งทำให้ธุรกิจทั้งหลายที่ถูกกระทบด้วยโรคระบาดอยู่แล้วไม่อาจจะรับภาระที่เพิ่มขึ้นอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

ขณะที่โควิดเริ่มซาแล้ว และประโยชน์ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ชัดเจนขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศบังคับใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา.

 (พรุ่งนี้ : คำถามในภาคปฏิบัติมีอะไรบ้าง)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ