ตอนต้นปีที่ผ่านมาบ้านเราแทบจะไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่เมืองนอกหลายประเทศโดนเล่นงานหนักเหมือนนักมวยถูกชกหลังพิงเชือก แต่ชาติผู้ผลิตวัคซีนและประเทศร่ำรวยทั้งหลายเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันแล้วในตอนนั้น ความหวังในการเปิดชายแดนเปิดน่านฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวเห็นรำไร ทั้งไทยเราและหลายชาติตะวันตก
หลังถูกโควิดจับขังมา 1 ปีครึ่ง ตัวผมรอจังหวะอย่างใจจดจ่อ อยากเดินทางไปต่างแดน มองไปยังยุโรปตาเป็นมัน เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ต่อด้วยหน้าร้อนที่เหมาะแก่การแบกเป้ตะลอนจากเมืองนี้สู่เมืองนั้น
ประเทศไทยค่อนข้างปลอดโควิดจึงอยู่ลิสต์สีเขียวเที่ยวยุโรปได้ แม้ว่าหลายชาติยังรังเกียจวัคซีนจีนและแอสตร้าเซนเนก้าที่ไม่ได้ผลิตในยุโรป แต่ทางกลุ่มประเทศบอลข่านอ้าแขนต้อนรับ
เรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ผมเคยได้ยินผู้ที่น่านับถือบางท่านกล่าวว่าควรเที่ยวไทยให้ทั่วเสียก่อนจึงค่อยไปเมืองนอก ส่วนรัฐบาลก็เน้นนโยบายไทยเที่ยวไทยเพื่อเงินทองไม่รั่วไหล แต่หลังจากที่ได้เดินทางต่างแดนมาสักระยะ ผมเห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งผมมีความเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้คนไทยไปเที่ยวเมืองนอกเสียบ้าง คนไทยจะยิ่งรักเมืองไทย
ยิ่งถ้าได้ไปเห็นคุกตวลสเล็ง ไปเจอค่ายมรณะเอาชวิตซ์ ไปเข้าพิพิธภัณฑ์แสดงนิทรรศการสงครามกลางเมืองของบางประเทศ ไปดูอนุสรณ์สถานพลีชีพเพื่อชาติและเอกราช แม้กระทั่งไปนอนหิวกลางคืน แต่ไม่มีร้านอาหารเปิดสักร้าน
รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศควรหรือไม่ที่จะต้องเจรจาหาประเทศที่คนไทยเดินทางเข้าไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเพิ่มจากที่มีอยู่จำนวนเพียงหยิบมือ
ข้อมูลจาก Passportindex.org พาสปอร์ตของไทยมีศักดิ์และสิทธิ์อยู่ลำดับที่ 55 ของโลกร่วมกับอาเซอร์ไบจาน อินโดนีเซีย และสุรินาเม ต่ำกว่าติมอร์เลสเต บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ และต่ำกว่าค่ากลางของโลกอยู่ไม่น้อย
หลังสงกรานต์ สถานการณ์โควิดในไทยกลับกลายว่าเราเป็นนักมวยที่พิงเชือกให้โควิดต้อนชกบ้าง แต่ตอนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่วันละประมาณ 2,000 คนช่วงกลางปี ไทยเรายังมีเครดิตเข้ายุโรปได้หลายประเทศ ถ้าไม่ฉีดวัคซีนครบโดสก็แค่มีผลตรวจเชื้อเป็นลบ ส่วนตัวผมนั้นรอฉีดวัคซีน คิดว่าครบ 2 เข็มแล้วก็แบกเป้เหินฟ้าราคาประหยัด โปแลนด์และยุโรปตะวันออกคือจุดหมายปลายทาง ขากลับบินเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
เวลา 2 ปีเต็มเข้าไปแล้ว ภาพเครื่องบินลงจอดในต่างแดนที่ผู้เขียนถวิลหาแต่ยังมาไม่ถึง
จนพ้นกลางปีมาได้ไม่เท่าไหร่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยเราพุ่งจากวันละ 2,000 คน เป็น 20,000 คน คราวนี้เครดิตที่สะสมมาหายเกลี้ยง แม้แต่กลุ่มประเทศบอลข่านก็ปิดประตูใส่ ส่วนจะให้ไปอเมริกาที่ดาราและพวกอินฟลูเอ็นเซอร์ทรงอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่เดินทางเข้าไปฉีดวัคซีน mRNA กันแน่นทุกเที่ยวบิน ผมเองไม่รู้จะไปทำไม เพราะฉีดซิโนแวคไปแล้ว และอเมริกาก็ยังมียอดผู้ติดเชื้อสูงอยู่ (แม้จนบัดนี้ก็ยังสูง) กลัวจะไปติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเสียมากกว่า ส่วนประเทศทางซีกโลกตะวันออกและชาติบ้านใกล้เรือนเคียงของเราไม่มีที่ไหนเปิดรับนักท่องเที่ยว
รุ่นน้องคนหนึ่งอุตส่าห์บินไปฉีดไฟเซอร์ เขียนรีวิวชื่นชมการให้บริการของอเมริกา ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 สลับกับด่ารัฐบาลและวัคซีนที่มีในประเทศตัวเอง
เห็นอีกทีก็ตอนที่กำลังรีวิวการกินยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ที่ฮอสพิเทลในกรุงเทพฯ เพราะตรวจพบเชื้อเดลตาขณะเข้ากักตัวในโรงแรมหลังกลับถึงไทย วัคซีนเทพ 2 เข็มก็ติดเชื้อได้เหมือนกัน
ทุกประเทศทางฝั่งตะวันออกของไทยไม่มีแนวโน้มจะเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเลยแม้แต่รายเดียว มีบาหลีของอินโดฯ ที่ผลุบๆ โผล่ๆ เกาะฝูก๊วกของเวียดนามก็เลื่อนไปปลายปี สีหนุวิลล์และเกาะรงของกัมพูชาก็เช่นกัน ส่วนเสียมราฐเปิดต้นปีหน้า ผมจึงจำเป็นต้องหันไปมองทางฝั่งตะวันตกเหมือนเดิม
หน้าร้อนของซีกโลกตะวันตกล่วงผ่านเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ผมไล่ดูข้อมูลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของแต่ละประเทศ มีความเป็นไปได้และน่าสนใจเพียง 2 ชาติ คือ “จอร์เจีย” และ “ตุรกี” 2 ประเทศนี้คนไทยไม่ต้องขอวีซ่า โดยจอร์เจียนั้นพำนักได้สูงสุดถึงคราวละ 365 วัน ส่วนตุรกีฟรีวีซ่า 30 วัน
2 ประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคยูเรเซีย มีพรมแดนติดกัน ตุรกีติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ ส่วนจอร์เจียติดทะเลดำ ติดตุรกี ติดอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และถัดจากอาเซอร์ไบจานไปคือทะเลแคสเปียน จอร์เจียยังติดกับรัสเซียที่อยู่ทางเหนือ คนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเข้ารัสเซียหากอยู่ไม่เกิน 30 วัน แต่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในรัสเซียสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง และไม่มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว
นับตั้งแต่ช่วงหน้าร้อน จอร์เจียยกเลิกมาตรการคุมเข้ม เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ขอเพียงฉีดวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง กรุงทบิลิซี เมืองหลวงกลับมามีชีวิตชีวา ทว่าแต่รัดกุม เทศกาลงานรื่นเริงจัดได้ แต่จำกัดขนาด ส่วนทัวร์ชิมไวน์ไม่มีใครห้าม และต้องขอเรียนว่าไวน์ของจอร์เจียนี่ไม่ธรรมดานะครับ รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ราคาย่อมเยา ทั้งมีประวัติศาสตร์สืบย้อนไปยาวนาน หลักฐานขุดพบเมื่อปีที่แล้วยืนยันได้ว่าผลิตมาแล้วราว 8,000 ปี นานกว่าที่ใดในโลก
ข้อความในเว็บไซต์ทางการและเว็บไซต์ท่องเที่ยวต่างๆ ระบุไว้ว่า ไม่ว่านักท่องเที่ยวจากชาติใดก็สามารถเดินทางเข้าจอร์เจียได้ แต่เมื่อตรวจสอบลึกลงไปกลับไม่มีไทยแลนด์ ถามไปหลายทางก็ไม่ได้รับคำตอบว่าเพราะอะไร เป็นไปได้ว่าเนื่องจากไทยก็ไม่อนุญาตให้ทางจอร์เจียเดินทางเข้ามา เป็นการแก้เผ็ดคล้ายอินเดียที่ทำกับอังกฤษ เพราะอังกฤษรังเกียจชาวภารตะก่อน
ตุรกีจึงเป็นทางเลือกที่เหลือ ประเทศของชาวเติร์กเปิดให้นักท่องเที่ยวเกือบทั่วทั้งโลก รวมทั้งไทย เดินทางเข้าตุรกีได้หากฉีดวัคซีนครบโดส โดยจะไม่มีการตรวจเชื้อทั้งก่อนและหลังเดินทางเข้าประเทศ
นครอิสตันบูลเวลานี้จากที่อ่านในเว็บไซต์วารสารการท่องเที่ยว กลับมาคึกคัก ผู้คนใช้ชีวิตเกือบจะเป็นปกติ ร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ เปิดท้าโควิด ผู้โดยสารเต็มรถไฟใต้ดินและรถราง
สถานทูตไทยประจำกรุงอังการาตอบอีเมลผมกลับมาเมื่อตอนกลางเดือนตุลาคมว่า “…ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงอยู่ แต่เกือบจะทุกส่วนของประเทศเปิดแล้วเวลานี้ และไม่มีมาตรการเข้มงวด ยกเว้นการสวมหน้ากากอนามัยที่ยังคงบังคับ...”
อากาศอิสตันบูลในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนออกไปทางค่อนข้างเย็น ฝนตกบ่อยให้พอรำคาญ ผมวางแผนว่าถ้าไปถึงแล้วพยากรณ์อากาศแจ้งว่ามีฝนหลายวันติดกัน ก็จะหนีไปยังชายฝั่งทะเลที่เมืองอิซเมียร์และอันตัลยา คิดจะข้ามจากเอเชียไปยังยุโรปเข้าสู่บัลแกเรียอยู่เหมือนกัน ซึ่งช่วงนี้บัลแกเรียเป็นหนึ่งประเทศที่เปิดกว้างสำหรับการท่องเที่ยว แต่คนไทยต้องขอวีซ่า สถานทูตใช้เวลาพิจารณาราว 2 สัปดาห์ ไม่ทันการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการตัดสินใจ และบัลแกเรียเริ่มหนาวหนักตั้งแต่กลางฤดูใบไม้ร่วง จึงต้องลืมโยเกิร์ตประเทศไปก่อนในตอนนี้
ได้วางแผนคร่าวๆ ไว้แล้วด้วยซ้ำว่า ขณะอยู่ในนครอิสตันบูลจะพักที่โซนไหนของเมือง เช็กราคาที่พักจากออนไลน์เอเจนซี หันไปมองตัวเลขผู้ติดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นต่อวัน เสียชีวิต 2 ร้อยกว่าๆ แต่เรียนตามตรงว่าผมไม่กลัวโควิด ยิ่งเพิ่งจะบูสต์เข็ม 3 มาหมาดๆ และจะระวังตัวเป็นพิเศษ ที่กลัวคือตอนกลับเข้าประเทศ
ผมมั่นใจว่ารัฐบาลต้องประกาศเปิดประเทศแน่ๆ ไม่กลางตุลาคมก็ต้นพฤศจิกายน ยังไม่กดซื้อตั๋วเพื่อรอดูว่าตุรกีจะติดหนึ่งในรายชื่อประเทศเข้าไทยโดยไม่กักตัวหรือไม่
คนไทยที่อาศัยหรือท่องเที่ยวในต่างแดน เมื่อจะกลับเข้าไทยก็ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่พลเมืองหรือผู้อยู่อาศัยในประเทศนั้นๆ ได้รับจากรัฐบาลไทย
หมายความว่าถ้าเราเที่ยวอยู่ในประเทศที่ไม่อยู่ในรายชื่อไฟเขียว เพราะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง กลับเข้าไทยก็ต้องกักตัว ไม่สามารถใช้ความเป็นอภิสิทธิ์คนไทยที่ฉีดวัคซีนครบขอกลับบ้านแบบเท่ๆ ได้ ซึ่งผมเห็นด้วย ไม่งั้นก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจโดยใช่เหตุ
พอข่าวออกมาว่ามีเพียง 10 ประเทศที่จะเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ผมเชื่อว่าไม่มีตุรกีอยู่แน่ๆ
ช่วงเวลาเดียวกันทราบว่าอินเดียจะเปิดให้ท่องเที่ยวได้ตั้งแต่กลางตุลาคมโดยต้องเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ส่วนเที่ยวบินพาณิชย์ทั่วไปเปิดกลางพฤศจิกายน ผมจึงเบนเข็มมาที่อินเดีย คราวนี้ขอเที่ยวอินเดียทางใต้ทีเถอะ ทางเหนือช่วงปลายปีอากาศเย็นผสมฝุ่นควันจะทำให้ป่วยง่าย สารภาพว่าเข็ดแล้วจริงๆ ส่วนทางใต้ช่วงปลายปีอากาศเป็นใจ
ยิ่งพอนายกฯ ประกาศว่าจะมีถึง 46 ประเทศที่จะได้รับไฟเขียวเข้าไทย หากใครมาท้าตอนนั้นผมกล้าวางเดิมพันว่าต้องมีพี่ใหญ่อินเดียอย่างแน่นอน ระหว่างรอการยืนยันอย่างเป็นทางการว่ามีประเทศอะไรบ้าง ผมก็สำรวจแผนที่กูเกิลทันที บินไปลงมุมไบ เที่ยวลงใต้มาเรื่อยๆ แวะปูเน เข้าพื้นทวีปไปยังไฮเดอราบัด กลับออกไปยังชายทะเลอาหรับที่กัว ล่องไปโคจิ ต่อไปมาดูไรในรัฐทมิฬนาดู วกขึ้นเหนือไปหน่อย บินกลับเมืองไทยจากบังกาลอร์
แต่รายชื่อ 46 ประเทศที่ประกาศออกมา ไม่มีอินเดียอยู่ในนั้น
ไม่มีตุรกีนั้นเข้าใจได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเกือบ 3 หมื่นต่อวัน ไม่มีจอร์เจียตอนนี้ก็ไม่เป็นไร แต่แปลกใจที่ไม่มีอินเดีย ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมาวันละไม่ถึง 2 หมื่น ขณะที่อเมริกาเป็น 1 ใน 46 ซึ่งถ้าเป็นเดือนก่อนติดเชื้อวันละ 2 แสน ตายวันละ 2 พัน ช่วงนี้ลดเหลือเฉลี่ย 1แสน ตายเฉลี่ยวันละราว 1,500 คน ส่วนสหราชอาณาจักรติดเชื้อวันละเกือบ 5 หมื่น ก็ติดในรายชื่อเข้าไทยไม่ต้องกักตัว
ลองมาพิเคราะห์ดูรายชื่อ 46 ประเทศแล้ว เอาเข้าจริง เกณฑ์การพิจารณาอาจไม่ใช่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่น่าจะเป็นตัวเลขของจำนวนเงินในกระเป๋าของประชากรประเทศเหล่านั้นมากกว่า
เมื่อตอนกลางปีถ้าได้ไปเที่ยวยุโรป ผมยินดีกลับเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หากอยู่บนเกาะแค่ 7 วัน แต่อย่างที่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็น 14 วัน ผมไม่มีเวลาให้กับภูเก็ตนานขนานนั้น และเวลานี้ที่มีคนจาก 46 ประเทศเดินทางเข้าไทยได้โดยอาจต้องกักตัวเพียงแค่วันเดียวหากฉีดวัคซีนครบโดสและสอบผ่านการตรวจเชื้อ ก็ให้รู้สึกน่าน้อยใจ ปนเสียดายเงินและเวลา ถ้าต้องกักตัว 7 วัน หรือเข้าแซนด์บ็อกซ์ 7 วัน
ไล่ดูรายชื่อแต่ละประเทศที่เข้าเกณฑ์มาไทยไม่ต้องกักตัวล้วนเป็นประเทศในซีกโลกเหนือ และกำลังเข้าสู่ช่วงอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ หลายประเทศไม่เปิดให้คนไทยเข้าไปง่ายๆ
มีเพียงสเปนที่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศโดยไม่ต้องกักตัวทุกกรณี บางประเทศหากฉีดวัคซีนครบแล้วก็เข้าไปได้ รวมถึงไทยด้วย สเปนบางเมืองที่อยู่ทางชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนอากาศยังแค่เย็นๆ แต่หากต้องรอการพิจารณาวีซ่าของสถานทูต 2 สัปดาห์ ถึงตอนนั้นคือกลางเดือนพฤศจิกายน และหากต้องเดินทางไปท่องเที่ยวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางๆ ธันวาคม ก็ไม่พ้นหนาวอยู่ดี ผมเข็ดแล้วเรื่องเดินทางระหว่างเมืองของยุโรปในช่วงหน้าหนาว ไม่สนุกเลย หากอยู่กับที่ยังพอทำเนา
จึงทำได้แค่ยกยอดยุโรปไปฤดูใบไม้ผลิหรือหน้าร้อนปีหน้า หากว่าสถานการณ์โควิดไม่แย่ลงไปอีก
ไม่กี่วันก่อน ได้อ่านข่าวที่ “คุณเทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มอินเดีย และ สปป.ลาว เข้าสู่บัญชีประเทศยินดีต้อนรับของไทย คุณเทพไทบอกว่า
“...สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือ มีอยู่ 2 ประเทศ ที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในรายชื่อ 46 ประเทศ ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย คือ
1.ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าของไทย เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีกำลังซื้อและการบริโภคที่สูงมาก แต่กลับไม่มีรายชื่ออยู่ใน 46 ประเทศ ผมเองมีเพื่อนเป็นคนเชื้อสายอินเดียหลายคน ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามนี้ต่อเพื่อนๆ ได้ว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้คนอินเดียเดินทางมาประเทศไทยเหมือนกับประเทศอื่นๆ อีก 46 ประเทศ ทั้งที่ในประเทศไทยก็มีคนไทยเชื้อสายอินเดียที่มีบทบาททางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อย และปริมาณการติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียก็ลดน้อยลง คนอินเดียส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนเกือบหมดทั้งประเทศแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะกีดกันคนอินเดียไม่ให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
2.สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีมากประเทศหนึ่ง และมียอดผู้ติดเชื้อต่ำมาก ประชากรก็ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเช่นกัน เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย สามารถติดต่อเดินทางเข้า-ออกทางด้านพรมแดนและช่องทางธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย มีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่กลับไม่มีอยู่ในรายชื่อ 46 ประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชากลับมีรายชื่ออยู่ใน 46 ประเทศด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะตอบคำถามและจะหาเหตุผลอธิบายต่อเพื่อนของเราในสองประเทศนี้ได้อย่างไร...”
ผมเห็นด้วยกับคุณเทพไท และขอเสริมอีกนิดว่า ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนานั้นส่วนใหญ่ถ้าเขาไม่มีเงินในกระเป๋ามากพอ เขาจะไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว
ส่วนคนจากชาติร่ำรวย พวกที่เดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่เดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนานั้น ผมมั่นใจว่าเป็นซำเหมาประหยัดงบเสียเกือบครึ่งหนึ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ
ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร
จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย
กลัวสมัครใจ 'ขาลอย'!
ไม่รู้ "ตั้งใจ" หรือ "บังเอิญ" การมอบนโยบายการบริหารราชการที่ ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แม่ทัพใหญ่สีกากี เรียกประชุมมอบนโยบายการบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ลัคนากันย์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการทำตามความฝันและเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางชีวิต ตลอดทั้งปีเจอเรื่องแสบ-เศร้าแทรกในชีวิตสองช่วง แต่ไม่เกินกำลังรับมือ แถมสู้กลับแล้วได้อะไรดีๆ
Nationalism Patriotism and Treason ชาตินิยม รักชาติ และขายชาติ
วันนี้ขอจั่วหัวด้วยภาษาอังกฤษ 3 คำที่มีความสำคัญกับประเทศไทยของเราเป็นอย่างมากในเวลานี้ แต่ก็ได้ให้คำแปลภาษาไทยไว้ด้วยแล้ว คำว่า Nationalism
อำลา-อาลัย...คุณพี่'โสภณ องค์การณ์'
ถึงจะห่างๆ ไม่ได้เจอะหน้าเจอะตากันมานับสิบๆ ปี...แต่การที่คุณพี่ โสภณ องค์การณ์ คอลัมนิสต์และนักจัดรายการทีวีของสำนักข่าว ผู้จัดการ