กว่าจะถึงอเมริกาใต้

เปิดหัวมาอย่างนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ทันทีว่า “ไม่ง่าย” ก่อนจะเล่าเรื่องการเดินทางในอเมริกาใต้ ขออนุญาตเล่าถึงอุปสรรคการเดินทางเข้าอเมริกาใต้สัก 1 ตอนนะครับ

ความจริงแล้วที่หมายแรกของผมคือเม็กซิโก ชื่อทางการคือ “สหรัฐเม็กซิโก” เป็นประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนปลายทาง บอกไว้ให้เหมือนเป็นตัวอย่างหนัง นั่นก็คืออาร์เจนตินา ชื่อทางการคือ “สาธารณรัฐอาร์เจนตินา”

บางท่านอาจทราบข่าวคราวการเดินธุดงค์ร่วมสร้างสันติภาพโลกของพระสงฆ์ไทยกลุ่มหนึ่งมาบ้างแล้ว มีพระที่ผมรู้จักและให้ความเคารพรักมานาน คือพระสุธรรม ฐิตธัมโม พระสงฆ์ผู้เดินธุดงค์ใกล้จะรอบโลก และพระศุภชัย สุภาจาโร พระหนุ่มอดีตนักข่าวและเคยทำงานแนวๆ สืบสวนสอบสวน

จัตุรัสโบลิวาร์ กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย

ประมาณห้าเดือนก่อน พระสงฆ์กลุ่มนี้เดินจากสหรัฐอเมริกาเข้าเม็กซิโก เดินในเม็กซิโกแล้วบินไปเปรู เดินในเปรู ทะลุไปโบลิเวีย เจาะแม่น้ำสาขาของอเมซอน ก่อนเข้าอาร์เจนตินา โดยที่อาร์เจนตินาคณะได้เข้าพักที่วัดหลวงอาร์เจนตินา วัดไทยแห่งเดียวในอเมริกาใต้ซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพี่น้องชาวลาวที่ได้อพยพมาอยู่อาร์เจนตินาช่วงปี ค.ศ.1979-1980 หลังลาวแตก

เรื่องราวของวัดหลวงอาร์เจนตินาและชาวลาวในอาร์เจนตินา จะเล่าอย่างละเอียดในโอกาสต่อไปครับ

หลังจากอยู่ในอาร์เจนตินาได้ประมาณ 2 เดือน คณะสงฆ์ก็มีโปรแกรมร่วมกิจกรรมที่จัดโดยสถานทูตไทยและเอกชนไทยในละตินอเมริกา (ตั้งแต่เม็กซิโกลงมาเรียกว่าลาตินอเมริกา ยกเว้นประเทศที่ไม่ได้พูดภาษากลุ่มโรมานซ์ อาทิ เบลิซ กายอานา และสุรินาม) ส่วนมากเป็นการได้รับเชิญให้บรรยายธรรม สอนการนั่งสมาธิ และเล่าประสบการณ์การเดินธุดงค์

ช่วงต้นเมษายน คือช่วงที่ผมวางแผนจะเข้าร่วมกับคณะที่เม็กซิโก โดยกิจกรรมในเม็กซิโกนั้นค่อนข้างเยอะ กินเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ และหลังจากเม็กซิโกคณะก็จะเดินทาง (บิน) ไปยังโคลอมเบีย

การเข้าเม็กซิโกสำหรับคนไทยต้องใช้วีซ่า ผมได้รับคำเตือนจากคนไทยในเม็กซิโกว่าวีซ่าท่องเที่ยวเม็กซิโกดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย และจะว่าไปในหลายกรณี ยากกว่าวีซ่าอเมริกาเสียอีก

เริ่มตั้งแต่การกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อนัดยื่นเอกสาร แม้จะมีปุ่มให้เปลี่ยนภาษาเป็นอังกฤษ แต่เนื้อในก็เป็นภาษาสเปนอยู่ดี และไม่สามารถก๊อปปี้ออกไปวางในโปรแกรมแปลภาษาได้อีกต่างหาก

ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ก็ไปยื่นเอกสารสมัครกับสถานทูตเม็กซิโกที่ตึกคิวเฮาส์ หัวถนนสาทร เจ้าหน้าที่คนไทยเห็นว่าผมไม่ได้ทำงานประจำ แนะนำว่าอย่าเพิ่งยื่นสมัคร ยื่นไปก็ไม่ผ่าน กรณีแบบนี้หากไม่มีเงินแช่อยู่ในบัญชีธนาคารมากพอจำนวนหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ก็ต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของมาอย่างน้อย 2 ปี หากเป็นโฉนดที่ดินก็นำโฉนดให้บริษัทรับแปลเอกสารแปลให้ จากนั้นนำไปให้กรมการกงสุลรับรองว่าเอกสารที่แปลนั้นแปลถูกต้อง

ผมไม่มีเงินจำนวนมากพอแช่ในบัญชีธนาคารต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนเรื่องเอกสารครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นพอตรวจสอบระยะเวลาการแปลและการรับรองการแปล จะต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เพราะแค่คิวของกรมการกงสุลนั้นก็ปาเข้าไป 2 สัปดาห์แล้ว

คนไทยในเม็กซิโกท่านเดิมแก้เกมให้ด้วยการแนะให้ผมขอวีซ่าของประเทศอื่นที่ใช้เข้าเม็กซิโกได้ นั่นคือวีซ่าเชงเกน วีซ่าสหรัฐ และวีซ่าแคนาดา หมายความว่าหากเรามีวีซ่าใดวีซ่าหนึ่งในสามวีซ่านี้ และใช้วีซ่าดังกล่าวเดินทางเข้าประเทศนั้นมาแล้ว ก็จะสามารถเข้าเม็กซิโกได้ทันที

ผมเคยมีวีซ่าแคนาดา แต่หมดอายุไปพร้อมกับพาสปอร์ตเล่มหนาอายุสั้น 5 ปีของไทยเรา (เมื่อปีที่แล้วเพิ่งจะเริ่มให้เลือกทำพาสปอร์ตอายุ 10 ปีได้ ก่อนนี้ที่ต้องทำใหม่บ่อยๆ เล่มพาสปอร์ตจึงมีการพิมพ์บ่อยๆ คงไม่ต้องบอกว่าผลประโยชน์ตกไปที่ไหนบ่อยๆ ฮ่าๆๆ) คิดว่าเลือกไปขอของแคนาดาน่าจะลุ้นง่ายกว่าเชงเกน ส่วนสหรัฐนั้นทราบมาว่าต้องรอคิวยาวราวๆ 5 เดือน และผมไม่เคยมีความคิดที่จะเข้าสหรัฐ

ความจริงผมเคยได้วีซ่าเชงเกนมาหลายครั้ง อาจจะขอไม่ยาก แต่นึกถึงเพื่อนบางคนในแคนาดาที่อยากไปเยี่ยม ก็เลยตั้งใจว่าบินไปแวนคูเวอร์และแวะเยี่ยมเพื่อนสักสี่ห้าวัน จากนั้นจึงบินต่อไปเม็กซิโก เช็กตั๋วแล้วมีหลายตัวเลือกและราคาไม่แพงจนเกินไป

การยื่นเอกสารบังคับให้ยื่นออนไลน์เท่านั้น โดยต้องอัปโหลดเอกสารแต่ละประเภท (ประมาณ 7 ประเภท) ให้มีขนาดไม่เกินประเภทละ 2 เมกะไบต์ และแต่ละประเภทต้องอัปโหลดเป็นไฟล์เดียวกัน ยกตัวอย่าง ประเภทพาสปอร์ตเล่มเก่าทุกเล่มในชีวิต สมมติว่าท่านอายุ 80 ปี และมีพาสปอร์ตเล่มหนาอายุสั้นในชีวิตมาแล้ว 10 เล่ม แต่ละเล่มมีตราประทับหลายสิบหน้า ท่านก็ต้องเอาทุกเล่ม ทุกหน้ามาสแกนจัดเรียงให้อยู่ในไฟล์เดียวกันโดยจำกัดขนาดไม่เกิน 2 เมกะไบต์

อัปโหลดและซับมิตเรียบร้อย จากนั้นรออีเมลให้จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต (จ่าย 2 รอบ) ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ผมจ่ายเงินให้สถานทูตแคนาดาไปประมาณ 5 พันบาท และถูกเรียกไปเก็บลายนิ้วมือและถ่ายรูป จนบัดป่านนี้ผ่านไป 2 เดือน ตรวจสอบในแอคเคาต์การยื่นขอวีซ่าของเว็บไซต์ตรวจคนเข้าเมืองแคนาดา ในนั้นยังระบุว่า “กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ” ถามกับบริษัทรับยื่นวีซ่า (VFS) ก็บอกว่าแผนกวีซ่าของแคนาดาทำงานแค่จันทร์และศุกร์ ส่วน VFS ทำงานจันทร์ พุธ ศุกร์ เลิกบ่าย 2 โมง (และมีพักเที่ยง)

ผมพลาดเม็กซิโกแน่นอนแล้ว เกรงว่าจะพลาดโคลอมเบียด้วย จึงรีบซื้อตั๋วบินไปโคลอมเบีย เพราะได้วีซ่าโคลอมเบียมาก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่สถานทูตโคลอมเบียบอกว่าวีซ่าท่องเที่ยวใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน แต่ถ้ามีหนังสือเชิญจะใช้เวลาสั้นกว่ามาก ผมจึงขอหนังสือเชิญจากทางผู้จัดงานในโคลอมเบีย และเมื่อหนังสือส่งมาและอัปโหลดเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยจำกัดให้ไฟล์มีขนาดรวมกันไม่เกิน 5 เมกะไบต์ยื่นใบสมัครผ่านระบบออนไลน์ แต่กลับต้องเดินทางไปจ่ายเงินค่าสมัครด้วยตัวเองที่สถานทูตโคลอมเบีย อาคารแอททินี ถนนวิทยุ ถึง 2 รอบ และเนื่องจากเป็นวีซ่าสื่อมวลชน ค่าวีซ่าตกอยู่ที่ประมาณ 7,400 บาท มากกว่าวีซ่าท่องเที่ยวราว 2 เท่า ผมถามเจ้าหน้าที่สถานทูตว่าเหตุใดวีซ่าสื่อจึงแพง ได้รับคำตอบว่า “สื่อรวย”

โรงละคร Teatro Amazonas เมืองมาเนาส์ ประเทศบราซิล

วันที่ 15 เมษายน 2565 ผมเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิด้วยอาการไม่ค่อยมั่นใจอะไรบางอย่าง การจะเข้าโคลอมเบียนั้นต้องลงทะเบียนตรวจคนเข้าเมืองและกรอกเอกสารคำให้การเกี่ยวกับโควิด-19 เสียก่อน เรียกว่า Check-Mig เป็นระบบคล้ายๆ ไทยแลนด์พาสของเรา เพียงแต่การลงทะเบียน Check-Mig ไม่ต้องรอการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ระบบจะอนุมัติให้เอง (ซึ่งไทยแลนด์พาสก็กำลังจะเป็นเช่นนี้)

และหากคุณเชื่อมั่นในระบบคอมพิวเตอร์มากเกินไป เมื่อมีปัญหา มันจะมีปัญหายิ่งกว่ามีกับคน

ระบบนี้เปิดให้ลงทะเบียนได้ 48 ชั่วโมงจนถึง 1 ชั่วโมงก่อนเดินทาง แม้ในเว็บไซต์จะบอกว่า 72 ชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงจะคลิกไม่ได้ ผมลงทั้งคืนก่อนเดินทาง ไม่สามารถลงได้ แต่เห็นบอกว่า 1 ชั่วโมงก็ทันจึงคิดว่าไปจัดการที่เคาน์เตอร์เช็กอินแต่เนิ่นๆ ไม่น่ามีปัญหา

บรรดาพนักงานเช็กอินของสายการบินเอติฮัดช่วยไม่ได้ ให้ข้อมูลบางอย่างผิดพลาด ความจริงพวกเธอคงไม่รู้จักเจ้า Check-Mig นี้มาก่อน เพราะคงไม่ได้ตั้งหลักว่าจะมีคนไทยเดินทางไปโคลอมเบียในห้วงเวลานี้ พนักงานท่านหนึ่งแนะนำให้ผมโหลดแอป Check-Mig ผมโหลดมาแต่ลงทะเบียนไม่ได้ ทำยังไงก็ไม่ได้ (ทราบต่อมาจากเจ้าหน้าที่ทูตว่าลงกับแอปจะไม่ผ่าน) เหลือเวลาใกล้ 1 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง มีการเรียกสตรีท่านหนึ่งมา น่าจะเป็น Check-in Supervisor ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่เอติฮัดจ้างมา (ตามที่ผู้สัดทัดกรณีให้ข้อมูลกับผมหลังจากนั้น) นอกจากเธอช่วยไม่ได้แล้วยังกดดันต่างๆ นานา ทั้งยังกล่าวบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของเธอ นั่นคือเรื่องการจองที่พักของผมในโคลอมเบีย และสุดท้ายเธอบอกว่า “เหลือ 1 ชั่วโมงก่อนเครื่องออก เคาน์เตอร์ปิดแล้วค่ะ” ตลอดเวลาที่พูดกับผม สาบานว่าไม่มีท่าทีเป็นมิตรแม้แต่นิดเดียว

พนักงานเช็กอินบอกให้ผมโทร.เปลี่ยนตั๋วกับคอลเซ็นเตอร์ของสายการบิน ไม่สามารถเปลี่ยนที่เคาน์เตอร์ได้ และกว่าจะเปลี่ยนได้ผมใช้เวลาอีกเกือบ 1 วัน จ่ายค่าธรรมเนียมการเปลี่ยน 45 ยูโร ได้เที่ยวบินเดียวกัน คือ EY407 เวลา 19.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน แต่คืนก่อนจะบินผมก็ลงทะเบียน Check-Mig ไม่ได้เหมือนเดิม จนต้องขอความกรุณาจากเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในเปรูซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โคลอมเบีย

คนไทยในเม็กซิโกท่านเดิมซึ่งจะเดินทางไปโคลอมเบียด้วยก็ลงทะเบียนไม่ได้ ระบบขึ้นข้อความยอกย้อน วกวน กลับไปกลับมา บอกว่าอารมณ์เสียจนอยากจะทุบแล็ปท็อปกับขอบโต๊ะ

สุดท้ายผมได้อีเมลยืนยันว่า “ผ่าน” สามารถเข้าโคลอมเบียได้ ถามเคล็ดลับเจ้าหน้าที่ผู้มีเมตตา เธอตอบว่าตอนเลือกประเภทของพาสปอร์ตให้เลือก Official Passport หรือ “หนังสือเดินทางราชการ” ส่วนคุณคนไทยในเม็กซิโกซึ่งเข้ามาได้โดยไม่ต้องพึ่งเจ้าหน้าที่เฉลยว่าอยู่ๆ ก็ลงได้ก่อนเดินทางไม่กี่ชั่วโมง เขาคิดว่าเพราะสัปดาห์ที่มีปัญหานั้นเป็นวันหยุดในเทศกาลอีสเตอร์ของโคลอมเบีย คงไม่มีใครไปซ่อมระบบ และเปิดมาวันจันทร์ก็มีคนไปซ่อมจนใช้งานได้

ความจริงในรายละเอียดปลีกย่อยของ Check-Mig นี้ยังลักลั่นอีกหลายประการ เช่น อีเมลจากสถานทูตโคลอมเบียในไทยบอกว่าต้องลงทะเบียนภายใน 48 ชั่วโมงก่อนจะถึงโคลอมเบีย หมายความว่าระบบจะเปิดให้ 48 ชั่วโมงก่อนเที่ยวบินลงจอดตามกำหนด ถ้าเรามีไฟลต์บินอ้อมและบินหลายต่อจนยาวนาน 49 หรือ 50 ชั่วโมง เราจะลงทะเบียนไม่ได้เลย และบินไม่ได้เลย (กรณีของผมนาน 34 ชั่วโมง แวะต่อเครื่องที่อาบูดาบีและมาดริด)

น้ำตกอิกวาซู ฝั่งประเทศอาร์เจนตินา

เย็นวันที่ 18 เมษายนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างเช็กอินก็ยังมีปัญหาอีกนิดหน่อย เพราะวีซ่าโคลอมเบียปีนี้ พ.ศ.นี้ ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ได้แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งมาทางอีเมลทั้งนั้น ทางคุณ Check-in Supervisor เห็นวีซ่าที่ผมปรินต์มาจากอีเมล เหมือนจะไม่เชื่อว่าเป็นวีซ่า ขอดูหนังสือเชิญ พอเธอเห็นว่าหนังสือเชิญมาจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

“คุณจะไปโคลอมเบีย แต่หนังสือเชิญมาจากเปรู มันคนละประเทศกันนะคะ” เธอพูดด้วยน้ำเสียงของคนได้เปรียบในการประลอง

“เราไม่มีสถานทูตไทยในโคลอมเบียครับ แต่มีสถานทูตไทยในเปรูเป็นผู้ดูแลโคลอมเบียและอีกบางประเทศแถบนั้นครับ” ผมอธิบาย

เธอเดินจากไปโดยไม่กล้าสบตา ผมอุตส่าห์ฉีกยิ้มแช่ไว้ตั้งนาน แถมยังมองตาม

ความพยายามในการสกัดกั้นไม่ให้ผมออกนอกประเทศในครั้งที่ 2 ไม่เป็นผลสำเร็จ

ตอนผมถึงสนามบินนานาชาติเอลโดราโด กรุงโบโกตา หลังยื่นพาสปอร์ตให้ ลุงตรวจคนเข้าเมืองเรียกดู Check-Mig ตามด้วยวัคซีนพาสปอร์ต และตั๋วบินออกจากโคลอมเบีย พอผมยื่นวีซ่าที่ปรินต์มาให้ไปด้วย ลุงแกพูดขึ้นว่า “โอ้ มีวีซ่าด้วย” ราวกับว่าวีซ่าไม่สำคัญซะอย่างนั้น มาคิดดูอีกที แกก็คงไม่แม่นเรื่องว่าคนจากประเทศไหนต้องใช้หรือไม่ใช้วีซ่าเข้าโคลอมเบียนั่นเอง และที่ผ่านมาแกเจอคนไทยสักกี่คนกัน

เรื่องการลงทะเบียนออนไลน์ รวมถึงการใช้จ่ายออนไลน์เท่าที่ประสบในอเมริกาใต้ ดูแล้วไม่ค่อยสะดวกราบรื่นเท่าบ้านเรา เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนผมบินจากบราซิลเข้าอาร์เจนตินาด้วยสายการบิน LATAM ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่สุดในอเมริกาใต้ ต้องการซื้อน้ำหนักกระเป๋าโหลดขึ้นเครื่อง ปรากฏว่าไม่สามารถจ่ายเงินได้ ไม่ว่าจ่ายด้วยวิธีใด การ์ดใบใด หรือการ์ดของใคร ขึ้นข้อความว่า We experienced a problem with your card ทุกครั้ง จนต้องไปซื้อหน้าเคาน์เตอร์ในราคาที่แพงกว่าปกติ ผมเลยสงสัยว่าเป็นความตั้งใจอะไรบางอย่างหรือเปล่า?

ส่วนเรื่องตรวจคนเข้าเมืองยังมีให้ปวดหัว อาร์เจนตินามีระบบชื่อ DDJJ เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง และผมก็ลงไม่ได้เช่นเดิม ลงเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ ระบบขึ้นที่หน้าจอว่า An error has occurred. We could not send the email to your mailbox ผมแคปหน้าจอมือถือไว้เพื่อไปยื่นให้พนักงานเช็กอินดู แสดงให้เห็นว่าได้พยายามแล้วหลายครั้งตลอดทั้งวัน พนักงานเช็กอินเห็นใจ เดินไปปรินต์เป็นกระดาษมาให้กรอก

แต่พอเครื่องลงและเผชิญหน้ากับตรวจคนเข้าเมืองกรุงบัวโนสไอเรส ตม.หนุ่มบอกว่าต้องลงผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ที่เป็นกระดาษใช้ไม่ได้ ผมยืนยันว่าลงไม่ได้ เขาว่าลงไม่ได้ก็ไม่ให้เข้าประเทศ ผมใช้ Free WiFi ของสนามบิน คราวนี้กลับลงได้ฉลุย

การเดินทางเข้าอาร์เจนตินาไม่มีการประทับตราใดๆ ลงในพาสปอร์ต มีแต่เก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ คนไทยพำนักอยู่ได้โดยไม่ต้องมีวีซ่านานสุด 90 วัน

เวลานี้ผมอยู่ที่อาร์เจนตินาครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย