โลกจะเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรงเมื่อเกิดสงครามยูเครนที่เรายังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน และจะจบเมื่อใด
ประเทศไทยจะต้องเข้าใจสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างไร และยุทธศาสตร์ของเราจะต้องมีรูปแบบและเนื้อหาสาระอย่างไร
ผมตั้งวงคุยกับ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council – APRC) เพื่อมองหาทางออกสำหรับประเทศไทย
คอลัมน์เมื่อวานได้เล่าถึงการเสนอแนวคิดริเริ่มของจีนและสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสนใจและศึกษารายละเอียดให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงให้จงได้
พอเกิดสงครามยูเครน โลกก็ถูกปรับเปลี่ยนไปพอสมควร
สหรัฐฯ เริ่มมองหามิตรหนักขึ้น ย้ำเรื่อง Indo-Pacific Concept และ Indo-Pacific Economic Framework มาใช้มากขึ้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญผู้นำอาเซียนไปร่วมประชุมสุดยอดที่วอชิงตัน
ตอนหนึ่งของคำปราศรัย ไบเดนพูดว่า “ข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน Asean Centrality”
“ตอนที่ไบเดนพูดประโยคนี้แกก็กระแอมพอดีเลย และพูดต่อว่า I mean it sincerely แปลว่าแกพูดอย่างนั้นด้วยความจริงใจนะ จึงมีคนแซวว่าไบเดนพูดคำนี้แล้วกระแอมนั้นหมายความว่าเชื่ออย่างนั้นจริงหรือเปล่า...” ดร.สุรเกียรติ์เล่า
เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น...ด้วยการยกระดับความสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งก็รวมถึงไทยด้วย
นั่นเท่ากับเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของอาเซียนไปเท่ากับของอาเซียนกับจีน
ส่วนไส้ในมีอะไรเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบรรดาสมาชิกอาเซียนกันเองนั้น ส่วนหนึ่งก็อยากให้ใกล้ชิดกับจีน อีกส่วนหนึ่งก็ขยับใกล้อเมริกา
“ไทยเราอยู่กลาง ๆ...อยากไปกับทั้ง 2 ประเทศ”
แต่อาเซียนเองมีประเด็นที่อาจจะแตกกันอยู่สัก 2 เรื่อง
เรื่องแรกเกี่ยวกับท่าทีต่อการที่รัสเซียบุกยูเครน
ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าการลงมติในสหประชาชาติของสมาชิกอาเซียนก็ไม่เหมือนกัน
สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย
การโหวตใน UN Human Rights Council ว่าจะเอารัสเซียออกหรือไม่ ก็ไม่เหมือนกัน
กรณีจุดยืนเกี่ยวกับเมียนมาก็เริ่มแตกกันในสมาชิกอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
“พูดตรงไปตรงมาก็คือ ขณะนี้อาเซียนอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมาก..กับการเข้าสู่อาเซียนที่จะไม่มีความหมายในเชิงสาระ...”
แต่อาเซียนมีภาพที่ดี มีสมาชิก 10 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 640 ล้านคน มีความร่วมมือกันหลายๆ มิติ และไม่มีสงครามระหว่างกัน ซึ่งล้วนเป็นภาพที่ดี
แต่จุดอ่อนของอาเซียนก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกที่กำลังหมุนไปเร็ว ขณะที่อาเซียนเองเคลื่อนไปช้ากว่า
กรณียูเครนกับรัสเซียนั้นทำให้ระเบียบโลกต้องเปลี่ยนไปอีก
แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่เพียง 40,000 คน Liechtenstein เสนอมติเข้าสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
และทั้งอเมริกา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ รวมกันเป็น 10 ประเทศรวมกันสปอนเซอร์
เป็นข้อเสนอให้ลดการใช้อำนาจวีโตของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง
ข้อเสนอนี้บอกว่า เมื่อใดก็ตามที่ 5 ประเทศนี้ใช้อำนาจวีโต จะมีกลไกที่ trigger กำหนดให้ต้องส่งเรื่องนั้นเข้าสู่ที่ประชุมของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติภายใน 10 วัน
และให้ประเทศที่ใช้สิทธิ์วีโตนั้นไปอธิบายกับสมาชิกกว่า 190 ประเทศของยูเอ็นว่าทำไมจึงใช้สิทธิ์วีโต
ไม่ใช่มุบมิบทำกันใน 15 ประเทศที่เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแล้วก็จบไป
เรื่องอย่างนี้ไม่เคยมีมาก่อน
“เรื่องการปฏิรูปสภาความมั่นคงแห่งชาติเริ่มตั้งแต่สมัยผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศโน่น แต่ก็ไปไม่ถึงไหน แต่อยู่ดีๆ เรื่องนี้ก็เสนอขึ้นมาได้...และปรากฏว่าที่ประชุมสมัชชาใหญ่รับรองข้อเสนอนี้ด้วยฉันทามติ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 24 เมษายนนี่เอง...” ดร.สุรเกียรติ์บอก
นั่นคือตัวอย่างว่าระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไปจริงๆ...แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญค่อนข้างมาก
ความกังวลของ ดร.สุรเกียรติ์ ณ วันนี้ก็คือ “ผมเห็นว่าโลกและประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่อันตรายมากกว่า 6 เดือนข้างหน้านี้”
“ผมหวังว่าผมคาดผิดนะ...เพราะผลจากการแซงก์ชันรัสเซียนั้นก็มีผลอะไรตามมามากมาย...”
ดร.สุรเกียรติ์เสนอว่า เราต้องทำ Foresight หรือการมองไปข้างหน้าแล้วว่าภายในสิ้นปี 2565 จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก
เราเห็นราคาปุ๋ยแพงขึ้น ต้นทุนของเกษตรกรพุ่งขึ้น และเงินเฟ้อมาทับซ้อนด้วย
“แม้สหรัฐฯ ก็มีปัญหาเงินเฟ้อ แต่ไทยเราไปเทียบกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กับของเราไม่เหมือนกัน เพราะสาเหตุต่างกัน...ของสหรัฐฯ นั้นเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี เขาฟื้นจากโควิด เขามีการจับจ่ายใช้สอยที่ดี ของเขาคือ demand-pulled inflation ปัญหาเงินเฟ้อของเขามาจากความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจเขาดีขึ้น เขาจึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย...”
ส่วนของไทยนั้น เศรษฐกิจกำลังทำท่าจะดีขึ้น เริ่มจะเปิดประเทศ เพิ่งสตาร์ทเครื่อง เงินก็เฟ้อแล้ว มันมาจาก cost-pushed คือมาจากต้นทุนของน้ำมัน, ปุ๋ย, ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นหมด
ปัญหาใหญ่คือจะกระทบคนยากคนจน
ตอนเกิดต้มยำกุ้ง คนชนบทและเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าไหร่
ตอนวิกฤตยูโรโซน ไทยก็กระทบน้อย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยค่อนข้างอนุรักษนิยม คนบ่นกันเยอะ กลายเป็นข้อดี เราไม่ได้ไปซื้อ derivatives มากเกินไป ก็จึงไม่พังมาก
แต่วิกฤตครั้งนี้มีผลกระทบต่อคนส่วนมาก กระทบต่อคนยากคนจน และ SMEs มีแต่บริษัทใหญ่ๆ และเทคสตาร์ทอัพบางแห่งที่ยังไปได้
“เรากำลังเดินเข้าสู่จุดอันตรายมากๆ และถ้าเราไม่เตรียมอะไรไว้ ก็ยิ่งจะอันตรายมากขึ้น เพราะเงินที่เรากู้มาอุ้มราคาน้ำมันก็จะไม่พอ...เงินก็ต้องยิงให้ถูกเป้า ยิงแบบปูพรมไม่ได้เลย เพราะเงินเหลือน้อยแล้ว...”
(พรุ่งนี้ : คำถามใหญ่คือวิกฤตครั้งนี้จะยืดเยื้อไปนานเท่าไหร่?)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ