ศรีลังกาลาแล้ว

นาอูชา คนขับตุ๊กๆ ผู้กลายมาเป็นเพื่อน เมื่อคืนนี้เขาจอดตุ๊กๆ ค้างคืนไว้ที่ลานจอดรถแห่งหนึ่ง ดื่มเบียร์กับผมแล้วเขาก็โบกตุ๊กๆ กลับบ้าน เช้านี้โดยสารตุ๊กๆ ของคนอื่นไปยังตุ๊กๆ ของตัวเอง จ่ายค่าที่จอด 150 รูปีแล้วขับมาหาผมที่โรงแรม

ผมเคยเข้า “สีมา มาลากา” โบสถ์กลาง “ทะเลสาบเบรา” ของวัดคงคารามเมื่อเกือบ 3 สัปดาห์ก่อน ทั้งสองสถานที่นี้อยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร ปกติแล้วตั๋วของสีมา มาลากา ใช้เข้าวัดคงคารามได้ มีอายุการใช้งานภายในวันเดียวกัน ซึ่งตอนโน้นผมยังไม่ได้เข้าวัดคงคาราม นาอูชาบอกว่าวันนี้ให้นำตั๋วใบเดิมไปด้วย เขาจะพูดกับเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุโลมให้ แต่พอถึงหน้าวัดผมดึงตั๋วออกมา นาอูชาไม่ทันได้พูดอะไร เจ้าหน้าที่ก็ผายมือเชิญให้เข้าวัด

หากเจ้าหน้าที่ไม่คิดว่าเป็นตั๋วที่ผมเพิ่งซื้อ ก็คงเพราะวัดกำลังมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายส่วน อาจไม่จำเป็นต้องใช้ตั๋วอยู่แล้ว สำหรับชาวศรีลังกาอย่างนาอูชานั้นเข้าสถานที่แห่งใดก็ไม่ต้องใช้ตั๋ว เพราะตั๋วมีไว้ขายนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น

วัดคงคารามมหาวิหารสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศรีลังกา ไทย จีน และอินเดีย ออกทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างโดยเจ้าของบริษัทขนส่งชาวศรีลังกานาม “ดอน บาสเตียน” เศรษฐีท่านนี้ยังได้นำหน่อของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอนุราธปุระมาปลูกและดูแลด้วยตนเอง

ในวัดมีหอบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (แต่ผมไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน) วิหาร เจดีย์ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ปัจจุบันวัดมีชื่อเสียงด้านการสร้างสาธารณกุศล ทั้งดูแลสวัสดิภาพของผู้พิการ เด็กกำพร้า อุปถัมภ์ผู้ไร้บ้าน และยังมีโรงเรียนสอนสามเณรด้วย

ผมเคยได้ยินว่าวัดมีโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งว่ากันว่ามากจนเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของวัด เข้ามาชมก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ก็จัดแสดงสิ่งสะสมอย่างอัดแน่นในพื้นที่เล็กๆ ทำให้ดูเหมือนห้องเก็บคอลเลกชันส่วนตัวของใครบางคนมากกว่า อีกทั้งไม่มีป้ายชื่อบ่งบอกวัตถุที่จัดแสดง

ส่วนที่ผมประทับใจมากที่สุดคือภายในพระวิหารที่มีประติมากรรมรูปคนและเทวดาจำนวนมาก อาจเป็นปูนปั้นหรือไฟเบอร์ ประดับตกแต่งบนผนังและเพดานอย่างวิจิตรงดงาม ดูเหมือนเคลื่อนไหวมีชีวิต คล้ายล่องลอยอยู่ในนภากาศ

ออกจากวิหารเดินไปยังเจดีย์พุทธคยาจำลอง มีพระพุทธรูปจำนวนมากวางอยู่ด้านหน้าพระเจเดีย์ วางเรียงอยู่เป็นแถว เป็นชั้น ต่อๆ กันขึ้นไป ชายหนุ่มคนหนึ่ง อายุคงประมาณ 30 ปีกำลังยืนดูพระเจดีย์ เขาพูดกับนาอูชาว่าพระเจดีย์นี้จำลองมาจากพุทธคยา นาอูชาเป็นมุสลิม อาจจะไม่รู้เรื่องนี้ ผมเลยเข้าไปคุยแทนนาอูชา

คุยกันไม่กี่ประโยค ชายหนุ่มคนนี้ก็บอกว่าเขาเป็นเหลนของ “อนาคาริก ธรรมปาลา” ชาวศรีลังกาผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ และได้อุทิศตนให้กับการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดีย โดยเฉพาะการเรียกคืนพุทธคยาจากชาวฮินดูกลุ่มมหันต์ที่เข้าไปครอบครองพื้นที่และย่ำยีโบราณสถาน-โบราณวัตถุ อีกทั้งท่านยังเป็นทูตของพุทธศาสนาที่ได้เดินทางไปเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธองค์ถึง 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

ชายหนุ่มพำนักในประเทศออสเตรเลีย ไม่ค่อยมีโอกาสกลับมาเยี่ยมศรีลังกา ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่และมีชื่อเสียงของศรีลังกา Don Caloris and Sons โดยผู้ก่อตั้งบริษัทก็คือ “ดอน แคโรลิส เหววิตรเน” บิดาของ “ดอน เดวิด เหววิตรเน” ชื่อเดิมของท่านอนาคาริก ธรรมปาลา

หลานชายของท่านธรรมปาลาบอกผมว่าครอบครัวของเขากำลังจะถวายเฟอร์นิเจอร์ให้กับวัดชุดใหญ่หลังการบูรณะเสร็จสิ้น นอกจากนี้เขาก็สารภาพว่าเพิ่งรู้ไม่นานนี้เองว่าคนในตระกูลของเขาได้ทำสิ่งดีงามให้กับพุทธศาสนาและประเทศชาติไว้มากมาย
เขาเล่าประวัติของท่านธรรมปาลาให้ผมฟัง ซึ่งก็เล่าย่นย่อได้เป็นอย่างดี และที่ผมไม่เคยทราบคือ “เอ็ดมุนด์ เหววิตรเน” น้องชายคนสุดท้องของท่านธรรมปาลา (พี่น้อง 3 คน) ถูกอังกฤษจับตัวและขังคุกในเมืองจาฟฟ์นาจากข้อหาก่อจลาจลอันเกี่ยวเนื่องกับการรณรงค์เรียกร้องเอกราช และทรยศหน้าที่ในฐานะทหารกองหนุน หลังจากอยู่ในเรือนจำได้ 5 เดือนเขาก็เสียชีวิตลงด้วยโรคไข้ไทฟอยด์เพราะไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ

คุยกันอยู่พักใหญ่ พอเขาปลีกตัวไปทางอื่นผมก็เดินไปทางต้นโพธิ์ น่าเสียดายที่ต้นโพธิ์แลดูไม่โดดเด่นเพราะเหมือนจะอยู่ชิดกำแพงรั้ว และถูกล้อมด้วยอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ผมเดินหาห้องน้ำแต่ไปเจอรูปเคารพศาสนาฮินดูตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งของวัด รวมถึงศิวลึงค์และโยนี

เข้าไปยังห้องหนึ่งที่มีพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ข้างๆ มีป้ายแสดงใจความว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรขนาดเท่าองค์จริงในวัดพระแก้วมรกต พระบรมมหาราชวัง มอบให้วัดคงคาราม โดยกรมศิลปากร ราชอาณาจักรไทย เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา พ.ศ.2559 เป็นฝีมือการแกะสลักของอาจารย์สาคร โสภา ใช้หยกอย่างดีจากประเทศเมียนมา

ระหว่างที่ผมอยู่ในวัด นาอูชาจะเดินคุมเชิงอยู่ห่างๆ แล้วก็ถึงเวลาที่เขารอคอยมานาน ผมยินดีให้เขาพาไปที่ร้านขายของที่ระลึกชื่อ Laksaru เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ เข้าใจว่าเพิ่งเปิดไม่กี่ปี ชื่อคล้ายกับ Laksala ร้านขายของที่ระลึกของรัฐ
ผมตั้งใจจะซื้อชาศรีลังกาหรือชาซีลอนอยู่แล้ว ได้ชิมทั้งชาร้อนและกาแฟร้อนท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวเพราะไฟฟ้าดับ อาการน้ำมูกไหลและจามเริ่มถามหาเพราะพักผ่อนน้อย สติสัมปชัญญะทำงานไม่เต็มที่ อีกทั้งการแนะนำสินค้าอย่างเหนือชั้นของลุงสิริเสนา ผู้จัดการวัย 71 ปี ทำให้ผมซื้อง่าย ซื้อแบบไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วน ซื้อทุกอย่างที่แกเชียร์ บางอย่างดูราคาผิด นึกว่า 750 รูปี แต่ตอนหลังเห็นว่าเป็น 3,750 รูปี เหตุเพราะเลข 3 เขียนห่างจากเลข 7 เป็นนิ้ว

ถือว่าเป็นการซื้อของฝากที่เยอะอย่างที่ไม่เคยซื้อมาก่อนในชีวิต ตอนคิดเงินลุงสิริเสนาลดให้ 5 เปอร์เซ็นต์ แกว่าปกติไม่เคยลดให้ใคร

นาอูชาได้ค่าคอมมิชชั่น 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดทั้งหมด ขอพาผมไปเลี้ยงข้าวบริยานีและไก่ทันดูรีที่ร้านชื่อ Sulthan Palace ใกล้ๆ ศาลาว่าการเมือง เขาว่านี่คือร้านที่อร่อยสุดในกรุงโคลัมโบ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ค่อยรู้จัก

เขาจอดตุ๊กๆ อย่างช่ำชองที่หน้าร้าน บนรากต้นไม้ใหญ่ ระหว่างลำต้นกับรถยนต์คันหนึ่ง เดินนำผมขึ้นไปชั้น 2 ของร้าน ปกติร้านเปิดเครื่องปรับอากาศแต่วันนี้ไฟดับทั่วเมือง ต้องเปิดหน้าต่าง ไก่ทันดูรีและข้าวบริยานีอร่อยสมกับที่นาอูชาโม้ไว้จริงๆ ตอนเรียกเก็บเงินเขาไม่ยอมให้ผมดูบิล เป็นไปได้ว่าเขาอาจควักเนื้อนิดหน่อย นอกเหนือจากค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับจากร้าน Laksaru

นาอูชาแวะหน้าทางเข้าอุทยานวิหารมหาเทวีซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาว่าการเมือง เขาซื้อบุหรี่ 1 ตัวจากร้านรถเข็นริมทาง บอกว่าสูบเฉพาะตอนที่มีความสุข เช่นเดียวกับเมื่อคืนที่สูบหลังดื่มเบียร์เสร็จ

ผมขอให้เขาแวะที่โรงแรมเพื่อรับกระเป๋าที่ฝากไว้แล้วไปส่งผมที่สถานีรถไฟ Colombo Fort ผมซื้อตั๋วไปนีกัมโบ เมืองใกล้สนามบินนานาชาติบันดารานายาเก (ประมาณ 8 กิโลเมตร) เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นผมต้องบินกลับเมืองไทยในเที่ยวบินที่เช้ามากชนิดที่ว่าไม่กล้าเสี่ยงเดินทางไปขึ้นเครื่องจากโคลัมโบ (ห่างกันราว 35 กิโลเมตร) และนีกัมโบคือเมืองที่ผมลงเครื่องแล้วเข้าพักค้าง 2 คืนเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ขากลับขึ้นเครื่องจึงคิดว่าควรพักที่นีกัมโบ การจัดการเกี่ยวกับที่พักและรถไปสนามบินจะง่ายกว่า

นาอูชาช่วยแบกกระเป๋าเดินไปส่งถึงชานชาลา เขาไม่ทวงค่าโดยสารด้วยซ้ำ และผมก็เกือบลืมจ่าย เขาว่าถ้ามีเงินไม่พอสำหรับค่าโรงแรมคืนนี้ ไม่ต้องจ่ายเขาก็ได้ ยิ่งทำให้ผมต้องรีบจ่าย กล่าวคำอำลา และอวยพรให้เขาโชคดี

แต่เท่าที่ทราบ ชาวศรีลังกาเวลานี้น้อยคนที่จะโชคดี ประเทศกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ไม่รู้ว่าผู้คนที่ผมพานพบเมื่อสี่ห้าเดือนก่อนจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ระหว่างนั่งรถไฟหมายจะไปลงที่สถานีนีกัมโบ ผมเปลี่ยนแผนกะทันหัน ลงที่ Katunayake South เพราะเห็นว่าใกล้สนามบินมากกว่า (ประมาณ 3 กิโลเมตร) และลุงคนหนึ่งในรถไฟที่มองเห็นอาการลังเลของผมพูดขึ้นว่า “แอร์พอร์ต ลงนี่เลย”

อีกไม่กี่นาทีต่อมาผมก็สรุปกับตัวเองว่า เลยไปลงนีกัมโบน่ะดีแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย