การเลือกข้างก่อให้เกิดคำถามว่าคือการเปลี่ยนปรปักษ์ให้กลายเป็นศัตรูจริงๆ ใช่หรือไม่ ทำอย่างไรรัสเซียจึงจะวางใจแม้สวีเดนเลือกข้าง
หลังสวีเดนสูญเสียฟินแลนด์แก่จักรวรรดิรัสเซียในสงครามช่วง ค.ศ.1808-1809 นับจากนั้นเป็นต้นมาเปลี่ยนจากประเทศที่ขยายดินแดนด้วยการทำสงครามสู่ประเทศที่หลีกเลี่ยงสงคราม ยึดนโยบายเป็นกลางหรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ถึงกระนั้นทุกวันนี้ชาวสวีเดนจำนวนหนึ่งยังมองรัสเซียเป็นภัยคุกคาม บรรดาพรรคการเมืองโน้มเอียงเห็นด้วยกับความสัมพันธ์ 2 ฝั่งแอตแลนติก (นาโตคือตัวแทนความสัมพันธ์นี้) ล่าสุดรัฐบาลสวีเดนยื่นเรื่องขอเข้าร่วมนาโตแล้ว เปลี่ยนนโยบายที่ยึดถือมากว่า 2 ศตวรรษ
มุมมองของสวีเดน:
ประการแรก สัมพันธ์ที่เลวร้ายลง
รัสเซียบุกไครเมียเมื่อกุมภาพันธ์ 2014 เป็นเหตุการณ์สำคัญทำให้สวีเดนมองรัสเซียในแง่ลบเพิ่มขึ้นชัดเจน Peter Hultqvist รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสมัยนั้นกล่าวว่า เรื่องนี้ผลักดันให้สวีเดนต้องเพิ่มงบป้องกันประเทศ นักการเมืองหลายพรรคเห็นพ้องว่าถึงเวลาแล้วที่สวีเดนต้องเป็นสมาชิกนาโต หันไปร่วมมือทางทหารกับสหรัฐมากขึ้น
ปี 2015 สวีเดนมีสัมพันธ์ทางการกับรัสเซียเพียงเล็กน้อย เฉพาะด้านการค้าที่ดำเนินได้ดี คิดว่ารัฐบาลรัสเซียมักถือว่าสวีเดนมีอำนาจน้อยกว่าตน ความสัมพันธ์อยู่ในสภาพเป็นมิตรภาพอันเยือกเย็น (cold friendship)
กองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ชี้ว่ารัสเซียทำลายความมั่นคงยุโรป
ประการที่ 2 มีทั้งที่มองว่าเป็นภัยคุกคามและไม่เป็น
เป็นธรรมดาที่มีทั้งพวกที่มองรัสเซียเป็นภัยคุกคามกับไม่เป็น ฝ่ายที่ไม่ถือว่ารัสเซียเป็นศัตรูอธิบายว่า รัสเซียไม่คิดจะรุกรานสวีเดน ไม่มีสัญญาณเช่นนั้นเลย แต่ถ้าสวีเดนเข้าร่วมนาโต รัสเซียย่อมถือว่าสวีเดนมีโอกาสเป็นศัตรูทันที (potentially hostile state) ไม่แปลกเมื่อถึงตอนนั้นรัสเซียจะต้องคิดแผนโจมตีเป้าหมายในสวีเดน (หากเกิดสงคราม)
พวกที่สนับสนุนเข้านาโตจะชี้ภัยคุกคามรัสเซีย อ้างเหตุต่างๆ จากรัสเซียตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนถึงแทรกแซงเลือกตั้ง คิดอยู่เสมอว่ารัสเซียจะบุกสวีเดนในที่สุด มีกระบวนการปั่นกระแสภัยคุกคามรัสเซียอยู่เสมอจนสังคมแบ่งขั้ว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สังคมสวีเดนถูกครอบงำด้วยกระแสหวาดกลัวรัสเซีย สื่อจะนำเสนอภัยรัสเซียเป็นระยะๆ ผู้คนเอ่ยถึงจนเป็นนิสัย ที่น่าสนใจคือ ทุกภัยจากรัสเซียมักจะลงเอยด้วยการเข้านาโต
ประการที่ 3 ทางเลือกมีทางเดียวคือนาโต
เป็นความจริงที่ว่าหากสวีเดนทิ้งหลักการเป็นกลาง องค์การนาโตย่อมเป็นทางเลือกที่ดีและอาจเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ Mark Brzezinski อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสวีเดน กล่าวว่า นาโตคือบริษัทประกันภัย (insurance company) ของสวีเดน ความคุ้มครองจะเกิดขึ้นหากคุณซื้อประกันก่อนประสบเหตุร้าย นาโตเท่านั้นที่จะช่วยปกปักษ์รักษา
ประการที่ 4 มุมมองเข้านาโตเสี่ยงกว่าเดิม
Anders Österberg จากพรรค Social Democrat ชี้ว่า หากเป้าหมายคือเลี่ยงสงครามก็ไม่ควรเข้านาโต การเข้าร่วมจะยิ่งเสี่ยงเกิดสงครามกว่าเดิม ทางออกคือต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียด (détente) ลดความตึงเครียดในภูมิภาค หลักการไม่เข้าร่วมพันธมิตรทางทหารพิสูจน์นับร้อยปีแล้วว่าใช้ได้ผล ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องทิ้งหลักนิยมนี้
อีกทั้งจะสูญเสียการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ภาพลักษณ์ของประเทศเปลี่ยนไป
มุมมองแบบรัสเซีย:
ประการแรก ไม่ได้ให้ความสำคัญ
ในขณะที่สวีเดนมองรัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ฝ่ายรัสเซียตอบกลับว่าตนไม่ได้ให้ความสำคัญกับสวีเดนมากนัก มีประเด็นหรือประเทศอื่นที่รัสเซียต้องให้ความสำคัญยิ่งกว่าสวีเดนมากนัก
ประการที่ 2 สวีเดนกลัวเกินเหตุ ไร้เหตุผล
เนื่องจากสวีเดนกังวลต่อเนื่องไม่หยุด ฝ่ายรัสเซียจึงชี้ว่าเป็นความกังวลเกินเหตุ คิดไปเอง มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่กองทัพรัสเซียจะบุกสวีเดนตราบเท่าที่ยังยึดความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รัสเซียไม่ค่อยคาดหวังประโยชน์จากสวีเดน มองมุมบวกต่อประวัติศาสตร์สวีเดนที่ยึดมั่นความเป็นกลาง
ประการที่ 3 ที่ผ่านมาสวีเดนอิงอียู
รัสเซียเห็นว่าอียูมีอิทธิพลต่อนโยบายสวีเดน (สวีเดนเป็นสมาชิกอียู) ดังนั้นความสัมพันธ์ทวิภาคีจึงขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอียู ถ้าสวีเดนเข้าร่วมนาโตย่อมต้องยึดแนวนโยบายนาโต
ท่าทีนาโต:
ประการแรก หวังให้สวีเดนร่วมเป็นสมาชิกเสมอ
แม้ในช่วงแรกเมื่อสิ้นสงครามเย็นภัยคุกคามจากโซเวียตรัสเซียหมดไปแต่นาโตยังอยากให้สวีเดนเป็นสมาชิก (นาโตเกิดขึ้นเพื่อต้านโซเวียตในสมัยสงครามเย็น) ข้อนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว (NATO Enlargement, NATO expansion) ที่ตั้งเป้าให้ยุโรปทุกประเทศเป็นสมาชิกนาโตรวมทั้งรัสเซียด้วย บนหลักคิดที่ว่าถ้าอยู่องค์กรเดียวกันจะไม่เป็นศัตรูต่อกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสงครามเย็น สิ้นสงครามเย็น รัสเซียกับจีนที่ก้าวขึ้นมาใหม่ในศตวรรษที่ 21 นาโตพยายามดึงสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกอยู่เสมอ
ประการที่ 2 ใช้ทุกเหตุการณ์เพื่อโน้มน้าวใจ
ทุกเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงภัยรัสเซียไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็ก นาโตไม่พลาดที่จะเข้าหาหว่านล้อมทั้งทางตรงทางอ้อมให้เห็นว่าการเข้าร่วมนาโตคือทางออก
ประการที่ 3 ภัยรัสเซียนั้นรุนแรงเหลือเกิน
ในบางกรณีรัสเซียเป็นภัยจริงแต่ถูกนำเสนอให้รุนแรงเกินควร คาดการณ์หรือจินตนาการให้ใหญ่โตรุนแรงอยู่เสมอ มักนำสู่ความขัดแย้งทางทหาร กองทัพรัสเซียคิดจะรุกรานฟินแลนด์กับสวีเดน ซึ่งหากพิจารณาลงรายละเอียดจะพบว่าภัยคุกคามที่เอ่ยถึงไม่มีข้อมูลหลักฐานชัดเจน มักจะระบุว่า “เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ” (credible information) “มีความเป็นไปได้สูง” (highly likely) หรือด้วยการคาดเดาว่ามีแต่รัสเซียที่จะทำเช่นนั้น อ้างอิงภาพถ่ายมัวๆ (hazy photos) บางครั้งกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็ถูกตีความล่วงหน้าแล้วว่าต้องเป็นรัสเซีย
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:
ล่าสุด สวีเดนขอเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการแล้ว Magdalena Andersson นายกฯ สวีเดนกล่าวว่าเพราะต้องการหลักประกันความมั่นคง รัสเซียบุกยูเครนได้ ทำลายระบบความมั่นคงของสวีเดนและยุโรปทั้งมวล Ann Linde รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยอมรับว่าการเข้านาโตจะขัดแย้งรัสเซีย แต่ไม่ถึงขั้นทำสงครามต่อกัน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า ฝ่ายการเมืองของสวีเดนถูกอำนาจรัฐบาลสหรัฐกดดันให้เลิกสัมพันธ์กับรัสเซีย
สงครามในอดีตระหว่างสวีเดนกับรัสเซียยังฝังจิตฝังใจคนสวีเดนแม้จะผ่านไปกว่า 200 ปีแล้ว รัสเซียในวันนี้ไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ สังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมาก แต่คนสวีเดนจำนวนมากไม่ลืมอดีตและนำมาผนวกกับสถานการณ์ปัจจุบัน มองรัสเซียเป็นปรปักษ์หลัก แต่การเลือกข้างก่อให้เกิดคำถามว่าคือการเปลี่ยนปรปักษ์ให้กลายเป็นศัตรูจริงๆ ใช่หรือไม่ นำสู่การเผชิญหน้าใช่หรือไม่ ต้องคิดหนักว่าทำอย่างไรรัสเซียจึงจะวางใจแม้สวีเดนเลือกข้าง แม้สุ่มเสี่ยงแต่จำต้องไหลไปตามบริบทของโลกแห่งการช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ
อย่างไรก็ตามลึกๆ แล้วนาโตไม่ได้เป็นเอกภาพ สงครามยูเครนเป็นเพียงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ชาติสมาชิกแสดงตัวให้ความร่วมมือต่อต้านรัสเซีย แท้จริงแล้วภายในนาโตแยกออกเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องการเป็นอิสระอย่างแท้จริง กับกลุ่มประเทศที่หวังอิงความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ การเข้ามาของสวีเดนกับฟินแลนด์อาจยิ่งทำให้ความเป็นเอกภาพลดน้อยลง อาจเป็นผลดีต่อประเทศที่ใฝ่หาสันติมากกว่าสงคราม ในระยะยาวจะเห็นภาพเหล่านี้เด่นชัดขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด