เลือกใครเป็นผู้ว่าฯดี?

น่าเห็นใจคนกรุงครับ

นั่งหัวคิ้วชนกัน ไม่รู้จะเลือกใครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดี

เลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ยากที่สุดของคนกรุงเทพฯ

เพราะไม่ใช่แค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ

ยังเลือกอนาคตของประเทศอีกด้วย

ก็ทำนองไม่เลือกเราเขามาแน่นั่นแหละครับ

แต่ก็น่าเหลือเชื่อครับ ตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เที่ยวนี้ โดยเฉลี่ยไม่ได้ดีเด่นดังอะไรมากมาย แต่ทำไมถึงเลือกยากจัง?

ดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี ๒๕๔๓ เป็นตัวอย่าง คราวนั้นผู้สมัครระดับเทพเพียบ

สมัคร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยรักไทย

วินัย สมพงษ์ กลุ่มคนรักเมืองหลวง ส่งเข้าประกวด

กัลยา โสภณพนิช จากกลุ่มกรุงเทพฯ สดใส

และปวีณา หงสกุล ชาติพัฒนา ขอเบียดที่นั่งในเมืองกรุง

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เป็นระดับตำนานการเมืองไทยทั้งสิ้น

แต่กลับกลายเป็นว่าเลือกง่ายครับ  

"สมัคร สุนทรเวช" ชนะแบบแลนด์สไลด์ ได้ถึง ๑,๐๑๖,๐๑๙ เสียง ทิ้ง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปหลายทุ่ง เพราะ "เจ๊หน่อย" ได้มาเพียง ๕๒๑,๑๘๔ เสียง

ที่น่าสนใจคือ "สมัคร สุนทรเวช" ไม่ร่วมดีเบตกับใครทั้งนั้น ไม่ว่าเวทีไหน หรือใครจะเชิญ เหตุผลง่ายๆ กระดูกคนละเบอร์

ก็แน่นอนครับ คนเคยเป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี ลดตัวมาเล่นสนามเล็ก ต้องวางท่าไว้ก่อน

"สมัคร สุนทรเวช" ใช้นโยบาย แผงลอยบนทางเท้าเสรีตลอดทั้งสัปดาห์ พวกพ่อค้าแม่ค้าพากันชอบใจ พากันไปโหวตชนะที่สองถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ครั้งนั้นความขัดแย้งทางการเมืองพอมีบ้าง การแบ่งสีเสื้อของประชาชนยังไม่เกิด เงื่อนไข ปัจจัย ไม่มากมายเหมือนในปัจจุบัน

แต่คราวนี้ต่างออกไปแทบจะสิ้นเชิง

ตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไม่เด่นเท่าปี ๒๕๔๓ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองเทียบกันไม่ได้เลย

ปัจจุบันเลือกตั้งทุกระดับ เกี่ยวข้องกับสีเสื้อทั้งหมด

ประชาชนแยกเป็น ๒ ขั้ว แนวคิดทางการเมืองแบ่งเป็น ๒ ทาง 

จุดเริ่มต้นของความวิบัติคือการก่อเกิดของระบอบทักษิณ

การเมืองบางครั้งต้องใช้เวลาตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอของใหม่

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๔๔ แฟนคลับประชาธิปัตย์จำนวนมากอยากลองของใหม่ หันไปเลือก "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนั้นเพราะ "ชวน เชื่องช้า" เป็นเหตุ ประชาชนอยากได้นายกฯ ที่ตัดสินใจเร็วทำเร็ว

ผลเลือกตั้งใน กทม. ไทยรักไทยกวาดไปถึง ๒๙ ที่นั่ง              

ประชาธิปัตย์ถูกคนกรุง "เท" ได้ไปเพียง ๘ ที่นั่งเท่านั้น

ก็สมหวังครับ หลังจากนั้นโกงกันเร็วเป็นจรวด

กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คราวนี้ แม้ผู้สมัครตัวเต็งคละกันไป มีทั้งเก่าใหม่ แต่ก็มีความพยายามจาก "หน้าเก่า" บางคน สร้างภาพให้ดูใหม่หมด

เก่าที่อื่น ใหม่ที่นี่

"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" มากับภาพ "ผู้สมัครอิสระ" ไม่ขึ้นกับพรรคการเมือง ทำให้คนบางกลุ่มคล้อยตาม และย้ายขั้วเพราะอยากลองของใหม่ 

คล้ายๆ กับครั้งหนึ่ง คนเบื่อนายหัวชวน หันไปเลือก ทักษิณ

คิดว่า "ชัชชาติ" เป็นของใหม่ กลางๆ

ทำให้คนไม่เอาทักษิณ แต่จะไปเลือกชัชชาติ เพราะความเข้าใจว่า "อิสระ" มีอยู่มากพอสมควร

มากพอที่ "ชัชชาติ" ต้องชี้แจงเป็นเรื่องเป็นราว

 “...มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า ‘คุณไม่อาจเปลี่ยนใจคนอื่นได้หรอก การเปลี่ยนใจต้องมาจากตัวเอง’ หลายคนที่ไม่เชื่อว่าผมอิสระ เขาตัดสินใจไปแล้วว่าผมคือเพื่อไทย แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อว่าผมเป็นอิสระจริงๆ อย่างน้อยคุณแม่ของผมก็เชื่อคนนึง และเราก็ทำมาตลอด ตอนที่เราประกาศออกจากเพื่อไทย ก็มีแนวร่วมมาร่วมกับเรา เขามาร่วมกับเรา เพราะว่าแพลตฟอร์มที่เราเป็นอิสระ...”

"...เราแบ่งชัดเจนระหว่างความเป็นเพื่อน กับเรื่องผลประโยชน์ ไม่งั้นอยู่ไม่ได้หรอก การที่ลงผู้ว่าฯ อิสระ ประชาชนต้องสนับสนุน ต้องเชื่อมั่นในตัวเรา ต้องมีความมั่นใจในตัวเรา ถ้ามีจุดที่ด่างพร้อยยังไง มีคนออกมาพูดอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องโปร่งใสและชัดเจน เช่น ถ้าจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส มันก็ไม่สามารถไปช่วยคนอื่นได้ มีเหตุผลอธิบายตามหลักการได้...”

ก็...พูดได้หมดล่ะครับว่าอิสระ แต่การเมืองเขาไม่ได้ดูกันแค่วันเดียว

พื้นเพ แนวความคิด พฤติกรรม หรือไม่กระทั่ง แผนการที่วางกันเอาไว้

คนที่เชื่อว่า "ชัชชาติ" ตัดขาดกับเพื่อไทยแล้ว ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะมีเงื่อนปมทางการเมืองที่ถูกปูทางเอาไว้ให้ "ชัชชาติ"

และ "ชัชชาติ" ต้องปูทางให้ใครต่อ 

ผู้ว่าฯ กทม.ไม่มี ส.ก.เป็นฐาน ทำงานยากครับ

"ชัชชาติ" ไม่ส่งทีม ส.ก. แต่เพื่อไทยส่งพรึ่บทุกเขต

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่!

ขณะที่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล ฝ่ายตรงข้ามลากลงหล่มรัฐประหาร ตอกย้ำภาพเบื่อลุงตู่

นี่เป็นเหตุให้ผลโพลแทบทุกสำนักออกมาในทิศทางเดียวกัน "ชัชชาติ" นำโด่ง

น่าเสียดายครับ เวทีดีเบตหลายๆ เวทีเน้นเรื่องทัศนคติต่อการรัฐประหาร ทำให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อย่าง สุชัชวีร์, อัศวิน, สกลธี ต้องตกเป็นเหยื่อ ความเกลียดชังการเมืองระดับชาติ

ถูกเหมารวมว่าเป็นพวกคลั่งรัฐประหาร

ที่บอกว่าเสียดายคือ ไม่มีคำถามถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่าใครมีทัศนคติล้มล้างสถาบันบ้าง

ควรให้ "ชัชชาติ" และ "วิโรจน์" ตอบคำถามนี้บ้าง

ครับ...มันเป็นกรณีใกล้เคียงกัน

เมื่อฝ่ายหนึ่งเหมารวมอีกฝ่ายว่าเป็นพวกนิยมรัฐประหาร

ฉะนั้นฝ่ายที่ไปเหมารวมเขาก็ถูกตั้งคำถามได้เช่นกันว่า เป็นพวกล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่

"ชัชชาติ" และ "วิโรจน์" เป็นพวกล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือเปล่า

ใช่หรือไม่ใช่ก็ตอบมา!

อย่างนี้น่าทำให้เข้าใจอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้นว่า ไม่ควรไปเหมารวมเขา

ที่ยก "ชัชชาติ" และ "วิโรจน์" ขึ้นมา โดยเฉพาะ "วิโรจน์" มีความชัดเจนเรื่องผู้สนับสนุนในเครือข่ายหลายพวก มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จริง

ส่วน "วิโรจน์" จะล้มล้างด้วยหรือไม่ ก็เหมือนที่เจ้าตัวเที่ยวไปโจมตีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รายอื่น ว่าเป็นพวกนิยมรัฐประหาร

ครับ...เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีหลายเหตุปัจจัยเชื่อมโยงไปถึงอนาคตของการเมืองระดับชาติ

ฝ่ายหนึ่งชนะจะมีคนบอกว่าเผด็จการยังอยู่

อีกฝ่ายชนะก็จะตีกลองร้องป่าวว่าเป็นชัยชนะของขบวนการล้มล้างสถาบัน

แต่ก็มีคนกลุ่มใหญ่มองว่าหากตัวแทนของคนโกงแพ้ จะเป็นชัยชนะของประเทศ

จะเลือกใครตัดสินใจให้ชัดครับ เพราะเลือกได้แค่คนเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี

วันนี้ของ "วันนอร์"

ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น