รับมือเศรษฐกิจผันผวน

คงต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ที่ต้องเผชิญ มรสุมคลื่นลมแรงจากภายนอก ทั้งปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนและเกาหลีเหนือ ที่เลือกใช้แนวทางการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระดับการบริโภค การค้าขายของโลก

ขณะเดียวกันทางด้านแผ่นดินยุโรป ปัญหาการเมืองระดับภูมิภาค และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงส่งผลต่อเรื่องระดับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ชนิดฉุดไม่อยู่ และที่สำคัญ เรื่องของพลังงานก็ยังไปกดดัน เรื่องอัตราเงินเฟ้อ ที่เกิดปัญหาแพงทั้งแผ่นดินไปทั่วโลก

ล่าสุดทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในนามสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 พร้อมทั้งแนวโน้มของปี 2565  ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

1.ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สำหรับไตรมาส 1 ของไทยนั้น สามารถเติบโตได้ 2.2%  จำแนกเป็น (1) การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 3.9% (2) การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 0.8% (3) การอุปโภคภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น 4.6% (4) ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 10.2% (มูลค่าการส่งออก USD เพิ่ม 14.6%) (5) ปริมาณการส่งออกบริการเพิ่มขึ้น 30.7% (6) สาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 4.1% (7) สาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.9% (8) สาขาการค้าเพิ่มขึ้น 2.9% (9) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น 34.1% (10) สาขาขนส่งเพิ่มขึ้น 4.6% (11) สาขาไฟฟ้าและก๊าซเพิ่มขึ้น 0.2% (12) สาขาก่อสร้างภาคเอกชนลดลง 5.5%

2.ตัวเลขประมาณการตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งมีการปรับตัวเลขลงเล็กน้อยจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นข้างต้น โดย สภาพัฒน์ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.5-3.5% หรือค่ากลางที่ 3%

ส่วนตัวเลขสำคัญอื่นๆ สำหรับปี 65 ก็มีการคาดการณ์ไว้ดังนี้ การบริโภคภาคเอกชน 3.9% การลงทุนภาคเอกชน 3.5% การลงทุนภาครัฐ 3.4% มูลค่าการส่งออก (รูปเงิน USD) 7.3% และเงินเฟ้อ 4.2-5.2%

ทั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ขณะที่ฐานรายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจขยายตัวตามภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการส่งออก การผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยยกเลิกมาตรการ Test&Go

ในมุมบวกก็มีมุมลบ ที่คาดว่าจะเป็นปัญหา คือ 1.ภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงและจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 2.เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง 3.ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนและมาตรการคว่ำบาตร 4.แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกหลายปัจจัย ที่อาจจะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นั่นก็คือ เรื่องของกำลังซื้อและหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างชัดเจนว่า สัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนไทยที่มีมากขนาดถึง 90.1% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 14.58 ล้านล้านบาทนั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไข

ขณะเดียวกันเรื่องของเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพง ก็ยังมาซ้ำเติมกับกลุ่มคนที่มีภาระหนี้สินอยู่แล้ว โดยระดับเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4-5% นับเป็นตัวเลขที่น่ากลัว เพราะเพิ่มสูงกว่าจีดีพี ซึ่งก็หมายความว่า รายได้ของคนไทยและเงินที่คนมีอยู่ จะมีมูลค่าลดลง ขณะที่ระดับรายได้อาจจะเติบโตน้อยกว่า สินค้าที่แพงขึ้นก็จะยิ่งกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกอีก นับเป็นทุกข์สองเด้ง

ดังนั้น แนวทางจากนี้ของรัฐบาลอาจจะต้องมีการผลักดันโครงการร่วมจ่ายอย่างคนละครึ่งให้กลับมาอีกครั้งเพื่อลดภาระประชาชน ขณะเดียวกันก็เพิ่มกำลังซื้อไปในตัว แต่เข้าใจว่า โครงการนี้จะต้องใช้งบอย่างเหมาะสม เพราะจะได้ไม่เป็นภาระของประเทศในระยะยาว

ขณะเดียวกันในเรื่องของการส่งออกก็ต้องจับตาดู เพราะขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนทำให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจโลก จีนและสหรัฐหยุดชะงัก ก็อาจจะส่งผลต่อภาคการส่งออกได้ อันนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มตลาดใหม่ๆ ในการส่งออกให้มากขึ้นด้วย

ส่วนด้านการท่องเที่ยว ตอนนี้ถือว่าไทยได้เปิดประเทศอย่างสมบูรณ์แล้ว คงต้องติดตามดูว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเยี่ยนเยือนบ้านเราตามเป้าหมายหรือไม่

ทั้งหมดก็คือ สิ่งที่จะต้องจับตาและบริหารทิศทางเศรษฐกิจ ไปในเส้นทางที่ถูก และไทยน่าจะสามารถรอดจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งเครื่องดึงนักท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเกือบ 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ค.2567 ทั้งสิ้น 20,335,107 คน

ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง

หลังจากนายกรัฐมนตรีหญิง แพรทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งอย่างชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนต่างก็ดีใจ เพราะไม่ทำให้ประเทศเป็นสุญญากาศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งแรกที่ภาคเอกชนอย่าง

แนะเจาะใจผู้บริโภคด้วย‘ความยั่งยืน’

คงต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากผู้บริโภค ภาคเอกชน และภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลงัดทุกทางพยุงตลาดหุ้น

หลังจากปล่อยให้ตลาดหุ้นซึมมาอย่างช้านาน จนปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 1,300 จุด เรียกได้ว่าสำหรับนักลงทุนถือเป็นความเจ็บปวด เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน

ดันอุตฯไทยไปอวกาศ

แน่นอนว่าในยุคที่โลกต้องก้าวหน้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น และต่อไปไม่ได้มองแค่ในประเทศหรือในโลกแล้ว แต่มองไปถึงนอกโลกเลยด้วยซ้ำ เพราะจะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคพื้นที่มีความแข็งแกร่งส่งผ่านไปยังอุตสาหกรรมอวกาศได้

แบงก์มอง ASEAN ยังมาเหนือ

ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตามองกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานการณ์โลกและภายในประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้า โดยมุมมองของ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า