ย้อนดูอดีตที่ยุ่งยากของ รัสเซีย-ฟินแลนด์-สวีเดน

ภาพที่เห็นนี้คือประธานาธิบดี Sauli Niinisto กับนายกรัฐมนตรี Sanna Marin ของฟินแลนด์ที่ประกาศเมื่อวันอาทิตย์อย่างเป็นทางการว่าประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียแห่งนี้จะขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO แน่นอนแล้ว

รอเพียงขอเสียงโหวตให้ผ่านมติในรัฐสภาซึ่งพรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว

เป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์สำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีชายแดนติดกับรัสเซียยาวถึง 1,340 กิโลเมตร ที่ได้พยายามรักษาสถานะ “เป็นกลาง” มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ผู้นำฟินแลนด์ทั้งสองประกาศว่าประชาชนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ต้องการจะให้เข้าร่วมนาโต เพราะเกิดหวั่นไหวมากหลังรัสเซียส่งทหารบุกยูเครน

ปูตินเตือนว่าการตัดสินใจเช่นนั้นเป็น “ความผิดพลาด”

แต่ได้ขู่ว่าจะสั่งสอนฟินแลนด์ทางทหารหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

เมื่อฟินแลนด์เดินหน้าเช่นนี้ก็เชื่อว่าสวีเดนก็จะตามมาในเส้นทางเดียวกัน

ทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับรัสเซียที่น่าสนใจมาก

“อดีตอันยากลำบาก” ของสวีเดนและฟินแลนด์กับรัสเซียย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 และ 18 เมื่อพระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซียพยายามยึดครองฟินแลนด์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 ของสวีเดนส่งกองทัพยึดครองบางส่วนของรัสเซียในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 แต่พ่ายแพ้ในยุทธการที่ Poltava ในยูเครนในปัจจุบัน

ทหารรัสเซียขณะนั้นอยู่ใต้การบัญชาการรบของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช

นั่นคือจุดสิ้นสุดของสวีเดนในฐานะมหาอำนาจในยุโรปเหนือ

สวีเดนสูญเสียฟินแลนด์ให้กับรัสเซียในสงครามในปี พ.ศ.2352 ทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นดินแดนปกครองตนเองของจักรวรรดิรัสเซีย

ในความโกลาหลที่เกิดจากการปฏิวัติรัสเซียในปี 2460 ฟินแลนด์ประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมในปีนั้น

หลังจากอิสรภาพของฟินแลนด์และก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมันและสหภาพโซเวียตได้ทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกัน

ซึ่งรวมถึงข้อตกลงลับที่กำหนดให้ฟินแลนด์ เอสโตเนีย และลัตเวียตกอยู่ภายใต้ "เขตอิทธิพล" ของสหภาพโซเวียต

ต่อมากองทัพแดงของโจเซฟ สตาลิน เข้าโจมตีฟินแลนด์ในปี 2482

เรียกการศึกครั้งนั้นว่า “สงครามฤดูหนาว”

แม้จะมีศักยภาพทางทหารน้อยกว่ามาก แต่ฟินแลนด์ก็ปักหลักต่อสู้กับการรุกรานของสหภาพโซเวียตอย่างเด็ดเดี่ยว

ฟินแลนด์ขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรตะวันตก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ

ฟินแลนด์สูญเสียดินแดนประมาณ 10% ให้กับสหภาพโซเวียตในสัญญาสงบศึกกับมอสโกในเดือนกันยายน พ.ศ.2487

และต้องอพยพผู้คนกว่า 400,000 คน หรือ 11% ของประชากรออกจากดินแดนที่เสียไป

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังต้องลงนามในความตกลงมิตรภาพ ความร่วมมือ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับรัสเซียในปี 2491

ประธานาธิบดี Urho Kekkonen ที่บริหารฟินแลนด์อย่างยาวนาน 2499 ถึง 2525 มุ่งเน้นที่การรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับมอสโก เพื่อรักษาเอกราชโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

นโยบายรักษาความเป็นกลาง อดทนอดกลั้น ไม่ทำตนเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซีย นี่แหละที่เรียกกันว่าเป็นแนวทา งFinlandisation

หรือจะเรียกว่า “ฟินแลนด์โมเดล” ก็ไม่ผิดนัก

การสิ้นสุดของสงครามเย็นทำให้ฟินแลนด์ก้าวออกจากเงาของรัสเซีย และเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 2538 และเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซนในปี 2542

ในขณะนั้นการเข้าร่วมสหภาพยุโรปและการลงนามในมาตรการป้องกันร่วมกัน หมายความว่าฟินแลนด์เปลี่ยนจากความ “เป็นกลาง” อย่างเป็นทางการเป็นนโยบาย “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายทหาร”

แต่ในช่วงนั้นฟินแลนด์เลือกที่จะไม่เข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศตะวันตก

โพลหลายสำนักยืนยันว่าจนถึงปี 2563 มีประชากรฟินแลนด์เพียง 20% เท่านั้นที่ต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วม NATO

แต่พอรัสเซียบุกยูเครนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของฟินแลนด์ ทัศนคติของชาวฟินแลนด์ก็เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน

กลายเป็นว่าประมาณ 76% ของชาวฟินน์สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก NATO

ที่ต่อต้านลดลงมาเหลือ 12%

"เราได้เห็นแล้วว่ารัสเซียมีพฤติกรรมอย่างไรในยูเครน และแน่นอน เราต้องพิจารณาว่าวิธีใดที่จะดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นกับฟินแลนด์" ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ กล่าวก่อนการประชุมของฟินแลนด์ การตัดสินใจของนาโต

ความสัมพันธ์ของสวีเดนกับรัสเซียในประวัติศาสตร์ก็น่าสนใจมากเช่นกัน

สวีเดนและรัสเซียไม่ได้ทำสงครามกันตั้งแต่ปี 2352 เมื่อสวีเดนต้องยกฟินแลนด์ให้รัสเซีย

สวีเดนให้ฟินแลนด์ยืมเครื่องบินทหารตอนถูกโจมตีโดยรัสเซียในช่วงสงครามฤดูหนาวในปี 2482

แต่สวีเดนก็พยายามคงความเป็นกลางตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

ด้วยบทบาทอย่างเป็นทางการของสวีเดนในฐานะที่ “เป็นกลาง” ทำให้สามารถวิจารณ์ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา

แต่ในช่วงสงครามเย็นนั้น สวีเดนมีข้อตกลงลับที่สหรัฐฯ จะเข้ามาปกป้องสวีเดนหากโซเวียตโจมตี

สวีเดนและสหภาพโซเวียตมีข้อพิพาททางการทูตหลายครั้งตลอดช่วงสงครามเย็น

ส่วนใหญ่มักเป็นประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดน่านน้ำ

เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในยุค 50 เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินรบของโซเวียตยิงเครื่องบินสวีเดน 2 ลำ พลเรือน 1 ลำตกเหนือทะเลบอลติกในปี 2495

ในปี 2524 เรือดำน้ำชั้น “วิสกี้” ของโซเวียตได้วิ่งเกยตื้นชายฝั่งทางตอนใต้ของสวีเดน

เรียกกันว่าเป็น “เหตุการณ์วิสกี้ออนเดอะร็อกส์”

สวีเดนบอกว่า ตรวจพบรังสีที่บ่งชี้ว่าเรือลำดังกล่าวติดอาวุธนิวเคลียร์

มีการแลกเปลี่ยนข้อกล่าวหาทางการทูตกันอยู่ 10 วัน

แต่ไม่มีข้อสรุปว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ได้ละเมิดข้อตกลง หรือจงใจที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับฟินแลนด์และสวีเดน จึงมีเรื่องระหองระแหงในฐานะเพื่อนบ้านยักษ์กับชาติเล็กๆ ที่ถูกกำหนดโดยภูมิศาสตร์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน

แต่วันนี้นโยบาย “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ของทั้งสองประเทศกำลังถูกสลัดทิ้งอย่างเป็นทางการ

เปิดศักราชแห่งการเผชิญหน้าที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สงครามยูเครนขยายวงไปสู่ “เขตอิทธิพล” ของ NATO อย่างน่ากังวลยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ