ถ้าอ่านจากเนื้อหาของ “แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม” ของผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาหลังการประชุมสุดยอดนัดพิเศษที่วอชิงตัน, ก็ต้องบอกว่าอาเซียนหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐฯ ใช้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อฟาดฟันฝ่ายตรงกันข้ามได้พอสมควร
ภาษาของแถลงการณ์ร่วมค่อนข้างจะเป็นไปตามที่คาดไว้...นั่นคืออาเซียนพร้อมจะเห็นพ้องกับสหรัฐฯ ในประเด็นของหลักการ แต่ไม่ยอมร่วม “ประณาม” หรือ “คว่ำบาตร” ประเทศอื่นใด
แม้จะเอ่ยถึงสงครามในยูเครน แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะระบุชื่อรัสเซียทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่าไผเป็นไผ
แถลงการณ์นี้มีชื่อภาษาอังกฤษทางการว่า Joint Vision Statement of the ASEAN-US Special Summit, 2022
สังเกตได้ว่าอาเซียนสามารถตอกย้ำจุดยืนของการเป็น “แกนกลาง” หรือ ASEAN Centrality ในการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ
แม้ว่าเราก็รู้ว่าภายในอาเซียนเองนั้นมีความแตกแยกที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีเมียนมาหรือสงครามยูเครน
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างจีนหรือสหรัฐฯ หรือรัสเซีย
แต่ในยามนี้เมื่อสหรัฐฯ ต้องการให้ประชาคมโลกเห็นว่าอาเซียนยังยืนอยู่กับวอชิงตันในเรื่องหลักการ, เสียงของอาเซียนก็ยังพอจะมีความหมายบ้าง
ในประเด็นเมียนมาก็เช่นกัน แถลงการณ์ร่วมยังยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อ ตามเดิม
ไม่เปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงมากไปกว่าที่ผ่านมา
กรณีที่เฝ้ามองว่าจะเขียนในแถลงการณ์ร่วมอย่างไรก็พอจะประคับประคองสถานการณ์ไว้ได้
ไม่ให้อาเซียนถูกรัสเซียมองว่าโอนเอียงไปด้านตะวันตกมากนัก
ดังนั้นภาษาที่ใช้ในแถลงการณ์ร่วมกรณียูเครน อาเซียนก็ยังยึดมั่นในหลักการไม่รุกราน การเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน
หลีกเลี่ยงคำว่า “ประณาม” และ “คว่ำบาตร” ไปได้
จะว่าไปแล้วถ้อยแถลงนี้ก็ทำให้สหรัฐฯ เสนอความร่วมมือและช่วยเหลืออาเซียนทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การฟื้นฟูโควิด การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมพอสมควร
นักวิเคราะห์หลายคนอาจจะจับประเด็นได้ว่า ที่มีการเอ่ยถึงทะเลจีนใต้ในแถลงการณ์นั้น มีอะไรที่ย้อนแย้งพอสมควร
เพราะแถลงการณ์บอกว่าจะต้องยึดหลักอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล UNCLOS 1982 ทั้งๆ ที่สหรัฐไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ด้วยซ้ำ
อีกประเด็นหนึ่งคือสหรัฐฯ บอกว่ายอมรับใน Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone (SEANWFZ)
แต่ในทางปฏิบัติกลับไปติดอาวุธนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย ภายใต้กรอบ AUKUS
อาเซียนได้แสดงความไม่สบายใจในประเด็นนี้ในหลายๆ เวทีมาก่อนหน้านี้แล้ว
เวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน 12-13 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้นเป็นการเฉลิมฉลอง 45 ปีของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน
ในแถลงการณ์จากหลายๆ ฝ่ายต่างเน้นการเสริมสร้างบทบาทสำคัญของอาเซียนในการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อความท้าทายเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคในหลายด้าน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ย้ำในคำปราศรัยต่อผู้นำอาเซียนว่า ภูมิภาคอาเซียนยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคที่จะยกระดับมากขึ้นในอนาคต
เนื้อหาที่น่าสนใจด้านอื่นๆ ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฉบับนี้ ระบุถึงความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน ในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 การสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขร่วมกัน และการฟื้นฟูหลังการระบาดร่วมกัน
ในประเด็นด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
รวมถึงการปฏิบัติตาม การจัดการกรอบการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement)
และ แผนปฏิบัติการโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบขยาย (Expanded Economic Engagement Initiatives Workplan) ผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ทั้งสองฝ่ายยังตกลงสานต่อความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน และการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของโลก
รวมทั้งการเชื่อมโยงในภูมิภาคในด้านต่างๆ รวมถึงการกระจายสินค้าและบริการ การแพทย์และเทคโนโลยี การคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ
ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า
ถามว่ากรณียูเครนที่ “ละเอียดอ่อน” ที่สุดนั้น ภาษาในแถลงการณ์เขียนว่าอย่างไร
มีการระบุชื่อประเทศยูเครนในตอนท้ายของแถลงการณ์ โดยย้ำว่า
“จะยังคงยืนยันการเคารพของพวกเราต่ออธิปไตย ความเป็นเอกภาพทางการเมืองและบูรณภาพทางดินแดน”
และเรียกร้องให้เกิดการเปิดทางให้ชาวยูเครนที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับการบรรเทาทุกข์ ตลอดจนเรียกร้องหยุดใช้ความรุนแรงรวมถึงหาทางออกอย่างสันติ
ที่มองข้ามไม่ได้อีกถ้อยแถลงว่าด้วย “ความร่วมมือทางนาวี”
แถลงการณ์ระบุว่า “มีแผนที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกัน” ในหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงความมั่นคง และการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย
นอกจากนั้นยังกล่าวถึงความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ซึ่งแถลงการณ์ให้ความสำคัญต่อการลดความตึงเครียดและลดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยง และยังย้ำว่าควรมีการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศในน่านน้ำดังกล่าว
สอดคล้องกับคำประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ได้เกิดโครงการริเริ่มความร่วมมือทางทะเลใหม่ มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายเดินเรือระหว่างประเทศและการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย
ภายใต้โครงการนี้ ประเทศอาเซียนที่มีดินเเดนติดทะเล จะได้รับการสนับสนุนด้วยเรือจากสหรัฐฯ ที่จะถูกส่งไปทำงานร่วมกัน
ที่ลืมไม่ได้คือเกาหลีเหนือ ซึ่งก็มีการพาดพิงถึงเพียงสั้นๆ เช่นเดียวกับยูเครน
โดยสหรัฐฯ และอาเซียนเรียกร้องให้รัฐบาลเปียงยางทำตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ในส่วนของเมียนมา เอกสารฉบับนี้กล่าวว่าประเทศผู้ร่วมประชุมสุดยอด “กังวลต่อวิกฤตในเมียนมาอย่างลึกซึ้ง” และกระตุ้นให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนปีที่แล้ว
ถ้อยความตอนหนึ่งระบุว่า “เราจะเพิ่มความพยายามร่วมกันเป็นทวีคูณในการหาทางออกที่สันติในเมียนมา ที่สะท้อนถึงการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญอาเซียน”
ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเมียนมาในการประชุมสุดยอดรอบนี้ เพราะไบเดนไม่ได้ส่งคำเชิญไปให้พลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ที่ขึ้นปกครองประเทศด้วยการก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
ด้วยการเว้นว่างเก้าอี้ของเมียนมา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน
ที่ไม่ได้แถลงและคนทั่วไปอยากรู้มากกว่าข้อความในเอกสารทางการคือ ไบเดนพูดอะไรกับผู้นำกัมพูชา, อินโดฯ และไทย ในกรณีการประชุมสุดยอดอาเซียน, G-20 และ APEC ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไบเดนขอไม่ให้อินโดฯเชิญประธานาธิบดีปูตินมาร่วม G-20
ไบเดนบอกอะไรกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฮุน เซน เรื่องประชุมสุดยอด APEC และ ASEAN ในปลายปีนี้เกี่ยวกับปูตินหรือไม่
อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ