ประชุมผู้นำอาเซียน ที่ไร้เงา มิน อ่อง หล่าย

ภาพนี้ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ครับ

การประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนปีนี้ (ครั้งที่ 38-39) ไม่เชิญผู้นำจากเมียนมา หนึ่งในสมาชิก

จึงกลายเป็นการประชุม 10 ลบ 1

ท่ามกลางคำถามมากมายว่าอนาคตของอาเซียนจะเป็นอย่างไร

การตัดสินใจที่จะ “ลงโทษ” พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ของเมียนมาครั้งนี้จะนำไปสู่มาตรการที่เข้มข้นกว่านี้หรือไม่

การไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมามาร่วมประชุม และตัดสินใจเชิญ “ตัวแทนที่ไม่มีนัยทางการเมือง” (คือปลัดกระทรวงต่างประเทศ) มาร่วมประชุมแทนนั้นจะเป็นเพียงก้าวแรกของมาตรการที่เข้าข่าย “จากเบาไปหาหนัก” หรือไม่

สิ่งที่อาเซียนไม่เคยคิดจะทำคือการอัปเปหิสมาชิกออกจากองค์กร

แต่เมื่อเกิดเรื่องกับ มิน อ่อง หล่าย ครั้งนี้ สิ่งที่เคยคิดว่าไม่น่าจะเกิดก็อาจจะกลายเป็นประเด็น “สงสัยจะต้องนำมาพิจารณา” เสียแล้ว

หรือ มิน อ่อง หล่าย จะตัดสินใจ “ชนแหลก” นั่นคือไม่แคร์ว่าอาเซียนอีก 9 ประเทศ จะรวมหัวกันคว่ำบาตรตนอย่างไร

มิน อ่อง หล่าย อาจจะกำลังคิดถึงทางออกสุดขั้ว นั่นคือการปิดประเทศเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง อยู่แบบที่พม่ายุคสมัย นายพลเน วิน ทำมาแล้วจนถึงตาน ฉ่วย

ถ้าคิดอย่างนั้น มิน อ่อง หล่าย ก็จะต้องเผื่อทางหนีทีไล่เอาไว้

อาจจะต้องพึ่งพาจีนและรัสเซียเป็นหลัก

แต่จีนเองก็ใช่ว่าจะเห็นพ้องกับวิถีแบบ “ปิดบ้านปิดเมือง” แบบที่เกาหลีเหนือทำ

เพราะจีนวันนี้ไม่ใช่จีนยุคเก่าที่วางอุดมการณ์ทางการเมืองเหนือข้อพิจารณาด้านเศรษฐกิจและสังคม

ตรงกันข้าม เราจะเห็น สี จิ้นผิง เน้นความสำคัญของแนวทาง “พหุภาคี” และการผลักดันให้เกิดการค้าการขายระหว่างกันมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หาก มิน อ่อง หล่าย คิดจะพึ่งพาจีนเพื่อจะต้านอิทธิพลจากสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่เขากล่าวหาว่าได้รับแรงกดดันจากโลกตะวันตกอีกทอดหนึ่ง ก็แปลว่าจะต้องพร้อมกลายเป็น “สุนัขหัวเน่า” ในเวทีระหว่างประเทศ

เอกสารที่ผมนำมาแสดงให้เห็นนี้สะท้อนถึงจุดยืนของ มิน อ่อง หล่าย ต่ออาเซียน 1 วันก่อนเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

แถลงการณ์นี้อ้างว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียน

การที่ประธานอาเซียนปีนี้ (บรูไน) อ้างมติของที่ประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าจะเชิญตัวแทนที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง (non-political representative) จากเมียนมานั้น รัฐบาลทหารพม่าถือว่าไม่ใช่มติเอกฉันท์

คำว่าเอกฉันท์คือ consensus ซึ่งเป็นศัพท์แสงที่อาเซียนใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอด

รัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) อ้างว่าเมื่อการตัดสินวันนั้นไม่ใช่ consensus เขาจึงไม่ถือว่าเป็นมติที่ชอบธรรม

แถลงการณ์นั้นบอกต่อว่า การที่ประธานอาเซียนเชิญ “ปลัดกระทรวงต่างประเทศ” ของเมียนมาไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนั้นเขาถือว่าเป็นการ “ลดชั้น” ความสัมพันธ์กับเมียนมา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ชอบ

เขายืนยันว่าตัวแทนที่รัฐบาล SAC จะยอมรับได้ก็ต้องเป็นระดับผู้นำรัฐบาลหรือตัวแทนของผู้นำในระดับรัฐมนตรี

พูดๆ ง่ายคือ มิน อ่อง หล่าย บอกว่า ถ้าอาเซียนไม่เชิญเขา อย่างน้อยก็ต้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเขา (ในทีนี้คือ วันนา หม่อง ลวิน ที่ไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา)

อย่างนี้ถือว่า มิน อ่อง หล่าย ยอมถอยก้าวเล็กๆ หรือไม่

คำตอบคือช้าไปแล้ว

เพราะประธานอาเซียนเห็นว่า มิน อ่อง หล่าย ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับ “ทูตพิเศษอาเซียน” ว่าด้วยกิจการเมียนมาที่ได้ขอเข้าไปเมียนมาเพื่อพบปะกับตัวแทนของ “ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย”

ทูตพิเศษอาเซียนที่ว่านี้คือรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน เอราวัน ยูซอฟ ซึ่งได้ส่งเสียงตำหนิรัฐบาลทหารพม่าในเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว

มิน อ่อง หล่าย อ้างว่ายังพร้อมจะร่วมมือกับอาเซียนในการทำแผนสันติภาพ “ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

เท่ากับเป็นการเล่นคำเพื่อจะซื้อเวลา เพราะ มิน อ่อง หล่าย อ้างว่าทูตพิเศษอาเซียนจะไปพบกับ อองซาน ซูจี ไม่ได้ เพราะเธออยู่ในฐานะเป็น “ผู้ต้องหา” ในคดีต่างๆ หลายคดี

เท่านั้นแหละ อาเซียนอย่างน้อย 3-4 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ก็ออกมาประสานเสียงกันว่า อย่างนี้สงสัยจะให้ มิน อ่อง หล่าย “ลอยนวล” อยู่ไม่ได้

เพราะผู้นำอาเซียนจะถูกมองว่า “ไร้น้ำยา” และตอกย้ำคำปรามาสของหลายฝ่ายมาตลอดว่าอาเซียนเป็นแค่ “เสือกระดาษ” ที่แม้แต่ผู้นำทหารพม่ายังไม่ยำเกรงเลยแม้แต่น้อย

จึงขอบันทึกภาพและแถลงการณ์ของรัฐบาลทหารพม่าเอาไว้เป็นบทเร้าใจบทหนึ่งของอาเซียนในวัยเกิน 50 ปีขององค์กรที่ไทยเราเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแห่งนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว