สหรัฐทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับหลายประเทศ หลายฉบับ ต่างมีข้อตกลงเฉพาะ มักขึ้นกับบริบทของยุคสมัย เช่น เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐภายใต้สนธิสัญญา Mutual Defense Treaty 1953
ตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ มีสนธิสัญญา Security Treaty Between Australia, New Zealand, and the United States of America (ANZUS) 1951 ปัจจุบันลดเหลือสนธิสัญญาระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐเท่านั้น ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตเป็นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงอีกฉบับ บางประเทศผูกพันกับสหรัฐทั้ง 2 สนธิสัญญา
ก่อนจะเข้าใจชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตควรเข้าใจนาโตก่อน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เกิดขึ้นเพื่อต้านภัยคุกคามจากรัสเซียหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นกองทัพรัสเซียเข้ายึดหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ยึดอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม ชาติยุโรปตะวันตกอยู่ในสภาพอ่อนแอจากการทำลายล้างของสงคราม การตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารโดยมีสหรัฐร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นประโยชน์
บทบาทของนาโตปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัย ปัจจุบันเป็นเสาหลักความมั่นคงของสหรัฐกับพันธมิตร 2 ฝั่งแอตแลนติก เป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นาโตทวีความสำคัญขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐบาลสหรัฐกับพวกมองจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา กับรัสเซียที่ฟื้นฟูในยุคปูตินว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขึ้นทุกที
ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต:
แม้จะชื่อว่า “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต” (Major Non-NATO Ally: MNNA) แต่เป็นพันธมิตรหรือข้อตกลงทวิภาคี ไม่อยู่ภายใต้องค์การนาโต
1) นิยาม MNNA กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐให้นิยามว่า Major Non-NATO Ally หมายถึง ประเทศที่ได้ประโยชน์บางอย่างด้านการป้องกันประเทศ การค้าและความมั่นคงตามที่ระบุไว้ เล็งถึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ให้ความเคารพกันและกันอย่างสูง แต่ไม่ถึงขั้นให้หลักประกันความมั่นคงแต่อย่างใด
กระทรวงการต่างประเทศไทยอธิบายการได้รับสถานะเป็นชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต “ไม่ได้หมายถึงการมีหลักประกันด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศร่วมกันเช่นเดียวกับที่สหรัฐมีกับประเทศสมาชิกนาโต แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่สหรัฐให้แก่ความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตร”
ดังนั้น แม้จะเอ่ยว่าเป็นพันธมิตร (Ally) แต่ MNNA ไม่ใช่สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วม (Mutual Defense Treaty)
เนื่องจากเป็นพันธมิตรที่ไม่ใช่นาโต ประเทศเหล่านี้จึงกระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ยกตัวอย่าง อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา ไต้หวัน โคลอมเบีย และกาตาร์ (2 ประเทศหลังเป็นประเทศล่าสุด 2022) ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศที่ทำข้อตกลงนี้ คือ ฟิลิปปินส์ กับไทย (ทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ.2546)
ดังที่กล่าวแล้วว่า สถานะ MNNA ไม่ถึงขั้นสหรัฐจะเข้ารบช่วยปกป้องประเทศนั้น แต่บางประเทศมีสนธิสัญญาทางทหารอื่นๆ ที่สหรัฐจะส่งกองทัพเข้าปกป้อง MNNA มีจุดเด่นเป็นสนธิสัญญาสดใหม่ ไม่ใช่ของเก่าจากยุคสงครามเย็นในอดีต
2) ลักษณะสำคัญ MNNA แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการเกิดก่อนหลัง ลักษณะความร่วมมือแตกต่างกัน บางประเทศอยู่ในประเภทเดียว บางประเทศอยู่ในทั้ง 2 ประเภท มีขอบเขตความร่วมมือที่พอจะสรุปรวมๆ ได้แก่ สามารถซ่อมแซมอาวุธสหรัฐนอกแผ่นดินสหรัฐ ร่วมวิจัยโครงการต่อต้านก่อการร้ายบางโครงการ สหรัฐช่วยเหลือโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันประเทศ ได้รับอาวุธอุปกรณ์ทางทหารจากสหรัฐ สิทธิ์ในการซื้อกระสุน depleted uranium ammunition สหรัฐช่วยฝึกหรือซ้อมรบร่วม สามารถเช่าหรือยืมอุปกรณ์ทางทหารบางอย่าง ความร่วมมือด้านดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์
3) เหตุและผล ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (MNNA) ให้ภาพว่า เป็นประเทศที่มีสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิด ได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ แม้กระทั่งไต้หวันที่ไม่เป็นประเทศแต่อยู่ในข้อตกลงนี้ ถือเป็นกรณีพิเศษ แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะมีเหตุผลเฉพาะ เช่น หวังให้โคลอมเบียสนับสนุนนโยบายต่อต้านเวเนซุเอลา รัฐบาลไบเดนหวังให้กาตาร์ขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติแก่ยุโรปในช่วงนี้ที่กำลังคว่ำบาตรรัสเซีย เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน
อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยน เช่น สมัยรัฐบาลโอบามากล่าวว่า อียิปต์ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอียิปต์มีสถานะ MNNA เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Muhammad Morsi) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ดำเนินนโยบายยึดมั่นศาสนาอิสลามตามแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)
ฟิลิปปินส์ในสมัยรัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ก็เช่นกัน ดำเนินนโยบายใกล้ชิดจีนกับรัสเซียมากขึ้น มีบางเรื่องที่คิดเห็นตรงข้ามกับสหรัฐแต่ยังคงความเป็น MNNA กันยายน 2016 ดูเตร์เตกล่าวว่า “ไม่ได้ตัดความเป็นพันธมิตร รวมทั้งด้านการทหาร” แต่ฟิลิปปินส์จะเป็นอิสระมากขึ้น มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ จะเห็นว่าความสัมพันธ์ขึ้นกับตัวรัฐบาลด้วย
ความร่วมมือเชิงประจักษ์:
ลำพังการเป็น MNNA ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทั้งหมด มีนโยบายอื่นที่ทำสำเร็จแล้ว บางอย่างกำลังทำ ในที่นี้ขอนำเสนอ 2 ตัวอย่าง
1) AUKUS
พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย (AUKUS) ที่เริ่มเมื่อกันยายน 2021 ใน 3 ประเทศนี้ออสเตรเลียมีฐานะเป็น MNNA และมีจุดเด่นคืออังกฤษเป็นประเทศนอกภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หมายความว่าเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์อังกฤษจะมีภารกิจอย่างสม่ำเสมอในย่านนี้ ด้วยแนวทางนี้อนาคตอาจมีสมาชิกอื่นนอกภูมิภาคเข้าร่วมอีก
2) กรณีติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง
รัฐบาลสหรัฐประกาศตั้งแต่สมัยทรัมป์ว่าหวังจะติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในอินโด-แปซิฟิก ล่าสุดเอ่ยถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไทย ทั้ง 5 ชาติล้วนเป็นพันธมิตรเก่าแก่และเป็น MNNA 10 ชาติอาเซียนมีเฉพาะฟิลิปปินส์กับไทยเท่านั้นที่ทำข้อตกลง MNNA กับสหรัฐ จึงไม่แปลกที่ 2 ประเทศนี้อยู่ในรายชื่อคาดหวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง
ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธนิวเคลียร์หรือหัวรบธรรมดาล้วนมีอานุภาพทำลายสูง มุ่งยิงเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ และชัดเจนว่าเป้าหมายคือจีน (อาจรวมรัสเซียฝั่งเอเชียตะวันออกไกล) และต้องมองไกลกว่าตัวตัวขีปนาวุธ เพราะจะรวมระบบป้องกันทางอากาศ มีฐานทัพอากาศ ศูนย์บัญชาการ ฯลฯ รวมความแล้วเป็นฐานทัพถาวรขนาดใหญ่นั่นเอง ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นการประกาศการเป็นศัตรูกับจีนอย่างชัดเจน และคงยากจะเปลี่ยนแปลง (ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือญี่ปุ่นที่มีฐานทัพสหรัฐในประเทศตนหลายทศวรรษแล้ว ปัจจุบันมีทหารพร้อมอาวุธหนักประจำการอยู่ราว 54,000 นาย)
น่าติดตามว่าบรรดาประเทศที่เป็น MNNA จะตอบสนองต่อการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างไร
ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (MNNA) อาจมองว่าเป็นเพียงสนธิสัญญาความมั่นคงอีกฉบับ แต่เมื่อพิจารณาชื่อและข้อมูลอื่นๆ พบว่ามีความสำคัญในตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาเครือข่ายหรือโครงสร้างความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกตามแนวทางของตน การปรากฏตัวของ AUKUS ทั้งหมดเกิดภาพการสร้างเครือข่ายความมั่นคงที่อาจรวมประเทศอื่นนอกภูมิภาคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโด-แปซิฟิก การแข่งขันทางทหาร ความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง ทุกเรื่องถูกทำให้สัมพันธ์กันหมด ประเทศที่อยู่ใน MNNA มักจะถูกเอ่ยถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก