สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงาน และอาหาร กดดันความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนอย่างหนัก โดยส่วนใหญ่ยังคงบอบช้ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการของภาคธุรกิจ ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ครัวเรือน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 3% และปี 2566 ที่ระดับ 4.5% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นั่นคือ “สถานการณ์หนี้ครัวเรือน” โดย ณ สิ้นไตรมาส 4/2564 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 90.1% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของจีดีพีที่หดตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพีน่าจะลดลงได้ในอนาคต
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ 34.5%, เพื่อการประกอบอาชีพ 18.1% และเพื่อการซื้อทรัพย์สิน 12.4% ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่น้อยกว่าอยู่ที่ 27.8% ดังนั้นหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในอนาคตต่อไป
ด้าน “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center : EIC SCB)” ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า EIC คาดการณ์สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2565 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า จากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานอาจฟื้นตัวไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมถึงอาจทำให้มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อชดเชยสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในปีนี้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านปริมาณ (Real GDP) และด้านของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ Nominal GDP (จีดีพีตามราคาปัจจุบัน) ยังขยายตัวสูงในระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน
“EIC มองว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสทรงตัวอยู่ในช่วง 89%-90% ต่อจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และจะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี” จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มทยอยดีขึ้น ทั้งในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในช่วงหลังของปี และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะทยอยลดลง
แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่ EIC มองว่าภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงเปราะบางและน่ากังวล จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ รวมถึงค่าแรงที่ครัวเรือนได้รับอาจเพิ่มขึ้นตามไม่ทันราคาสินค้าและบริการ นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลให้ในระยะต่อไปการช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงจำเป็น!! ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
เนื่องจากปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากภาระหนี้ที่ยังสูงจะทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนมีจำกัด และสร้างแรงกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยในยามที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการจัดการแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมในด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้ต่อเนื่อง การมีนโยบายเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในระยะยาว ผ่านการปรับหรือเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ที่จะส่งผลต่อโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม
เคลียร์ปมสถานีอยุธยา
เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research