นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปวอชิงตันเพื่อร่วมประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ วันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้
เป็นจังหวะเดียวกับที่สงครามยูเครนยังดำเนินต่อเนื่อง
ทำให้เกิดประเด็นว่าผู้นำอาเซียน (รวมถึงไทย) จะถูกสหรัฐฯ นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับรัสเซียหรือไม่
จะเป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” หรือไม่
ไทยจะมีนโยบาย “ถ่วงดุลมหาอำนาจ” อย่างไรในสถานการณ์ที่เปราะบาง
และหลังสงครามยูเครน (ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบลงเมื่อใด และฝ่ายใดจะอยู่ในฐานะได้เปรียบเสียเปรียบต่อกัน) “ระเบียบโลกใหม่” จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
รัฐบาลไทยกำลังถูกมองว่าโอนเอียงเข้าสหรัฐฯ มาก จนทำให้จีนมีความไม่พอใจต่อแนวทางของไทยจริงหรือไม่
ในภาวะที่อาเซียนดูเหมือนจะมีความแตกแยกทั้งในประเด็นเรื่องจีน, สหรัฐฯ และแม้แต่กรณีเมียนมา ไทยเรามีการปรับยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูต, การเมืองและความมั่นคงอย่างไร
ล้วนเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับความสนใจ และต้องได้รับการถกแถลงในมวลหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง, รอบด้านและอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและตรวจสอบได้
วันก่อนผมได้อ่านคำแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศในบางประเด็นเหล่านี้
จึงขอนำมาเล่าต่อเพื่อประกอบกับการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยกันเองดังนี้
เมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวต่อกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเยือนไทยระหว่าง ๑-๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นการชักจูงไทยเข้าร่วมต่อต้านจีนและรัสเซีย และการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามแนวคิด "NATO 2" ดังนี้
๑.การยกระดับสถานะความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” สะท้อนความแน่นแฟ้นและความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งครบรอบ ๑๓๕ ปีในปีนี้
๒.นอกจากนี้ ผู้นำไทยและญี่ปุ่นได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันภายใน ๕ ปี โดยส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ของไทย
๓.ทั้ง 2 ฝ่ายหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และความสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อการจัดประชุมเอเปกของไทย โดยไม่ได้มีการพูดถึงการต่อต้านจีนหรือรัสเซีย หรือปูพื้นฐานให้ไทยเป็นสมาชิกของยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านจีนแต่ประการใด
๔.การเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒ ของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่าง ๑๒-๑๓ พฤษภาคมนี้ ที่กรุงวอชิงตัน มีวัตถุประสงค์ฉลอง ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-๑๙ ทั้งนี้ ระหว่างการเยือนนายกรัฐมนตรีไทยจะพบภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อหารือส่งเสริมการลงทุนและการทำธุรกิจในไทยและพบชุมชนไทยในสหรัฐฯ ด้วย
๔.ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล ส่งเสริมบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคมาโดยตลอด ซึ่งหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) ของอาเซียนที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น ๔๐ ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง ๕ ประเทศด้วย
ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างไทยและญี่ปุ่น และความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ไทยมีกับประเทศอื่นๆ นั้น เป็นความร่วมมือทวิภาคี ที่มีการหารือมาหลายปีแล้ว และญี่ปุ่นก็มีกับหลายประเทศในภูมิภาคแล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญาดังเช่นสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แต่อย่างใด
๕.จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า วาทกรรมเรื่องการจัดตั้ง "NATO 2" เป็นเพียงการตีความตามจินตนาการของบางบุคคล โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
หัวใจของเรื่องคงอยู่ที่ประโยคที่ว่า “ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล”
คำว่า “สมดุล” ในภาวะที่โลกกำลังเข้าสู่ความขัดแย้งที่แยกขั้วอย่างชัดเจนเพราะสงครามยูเครนนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายและละเอียดอ่อน
อีกทั้งยังต้องเข้าใจและตามให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของดุลแห่งอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา
เพราะการเมืองระหว่างประเทศวันนี้ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่มีพลวัตที่ปรับและขยับตัวอยู่ตลอดเวลา
หน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศคือ การทำให้นโยบาย “สมดุล” ที่ว่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในแง่การชี้แจงอธิบาย และในทางปฏิบัติที่คนไทยทั่วไปสามารถเข้าใจและรับรู้ได้ด้วย
นั่นย่อมหมายถึงการที่รัฐบาลไทยต้องทำให้คำว่า “นโยบายต่างประเทศ” ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการทูตของกระทรวงต่างประเทศ หากแต่ต้องหมายรวมถึงความมั่นคง, การค้า, การลงทุน, วัฒนธรรม, การท่องเที่ยว และที่เรียกว่า soft power ให้เป็นนโยบายเดียวกันด้วย
ความสำคัญอยู่ที่การที่ไทยสามารถกำหนด “ผลประโยชน์ของประเทศไทย” ณ เวลาใดเวลาหนึ่งและต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใด
มิใช่เพียงแค่อ้างคำว่า “เป็นกลาง” โดยไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ