เมื่อสหภาพยุโรปเสียงแตก กรณีคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย

สหภาพยุโรปมีปัญหาว่าจะช่วยยูเครนทำสงครามกับรัสเซียโดยที่ไม่มีผลกระทบตนเองอย่างไร

มือหนึ่งส่งอาวุธให้ยูเครน อีกมือหนึ่งจ่ายเงินซื้อพลังงานรัสเซีย

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนวิพากษ์ว่า ประเทศยุโรปที่ยังซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเท่ากับเป็นการส่งเงินไปช่วยมอสโกทำสงครามกับยูเครน

แต่หลายประเทศในสหภาพยุโรปมีเหตุผลที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

จึงจะเห็นว่าการประชุมครั้งล่าสุดของ EU ก็ยังไม่อาจจะมีความเป็นเอกภาพในการประกาศคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ที่มีความแข็งขันด้านไม่นำเข้าพลังงานของรัสเซีย

ฮังการียืนยันยันยังไม่สามารถจะหยุดการซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนของตนได้ เยอรมนีก็ลังเลไม่น้อย

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีบอกว่าอาจจะสามารถหยุดการซื้อน้ำมันของรัสเซียได้ภายในสิ้นปี 2022

รัฐมนตรีของสหภาพยุโรปเรียกประชุมฉุกเฉินเมื่อต้นสัปดาห์เพื่อหารือถึงวิธีจัดการกับสถานการณ์ ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักที่จะตัด “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่สนับสนุนการทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในยูเครน

มีประเด็นท้าทายที่สำคัญ 2 เรื่องคือ

วิธีชำระค่าพลังงานของรัสเซียในรูปแบบที่จะไม่ทำให้มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อรัสเซียกรณีสงครามยูเครนไร้ความหมาย

และวิธีจัดหาและพัฒนาหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อไม่ต้องพึ่งพารัสเซีย

หัวหน้านโยบายพลังงานของสหภาพยุโรป Kadri Simson แจ้งว่า การที่รัสเซียหยุดส่งก๊าซไปยังโปแลนด์และบัลแกเรีย ได้ช่วยเสริมเจตจำนงของกลุ่มที่จะเป็นอิสระจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย

แต่ในความเป็นจริงนั้น ประเทศยุโรปทั้งหลายยังนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอยู่ แม้จะประกาศปาวๆ ว่าจะแบนน้ำมันและก๊าซจากประเทศนั้น

ตามรายงานของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) สหภาพยุโรปได้นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น

ใครคือผู้นำเข้ารายใหญ่?

หนีไม่พ้นว่าคือเยอรมนี รองลงมาคืออิตาลี

Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่รัสเซียประกาศหยุดส่งออกก๊าซไปยังโปแลนด์และบัลแกเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ประเทศเหล่านั้นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัสเซียให้เปลี่ยนไปใช้การชำระเงินเป็นเงินสกุลรูเบิล

อีกหลายประเทศในยุโรปก็เตรียมเผชิญกับปัญหาเดียวกันในเดือนนี้

โปแลนด์และบัลแกเรียได้วางแผนที่จะหยุดใช้ก๊าซของรัสเซียในปีนี้

ทั้ง 2 ประเทศบอกว่าสามารถรับมือกับการระงับการส่งน้ำมันจากรัสเซียได้

สหภาพยุโรปโต้รัสเซียว่า การบังคับให้จ่ายน้ำมันเป็นรูเบิล เป็น "การละเมิด" สัญญาที่มีอยู่ ประเทศผู้ซื้อ “ไม่อาจจะยอมรับได้”

หนึ่งในมาตรการตั้งรับคือ ประเทศสมาชิกอียูกำลังสร้างคลังเก็บก๊าซก่อนฤดูหนาวจะมาถึงอีกรอบหนึ่ง

ชัดเจนว่าการขาดความเป็นเอกภาพในบรรดาประเทศยุโรปตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้มาตรการ “ลงโทษ” รัสเซียในกรณีนี้ล้มเหลวในระดับหนึ่ง

มีความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่า ยุโรปได้รับก๊าซธรรมชาติประมาณ 40% จากรัสเซีย

แต่ผลกระทบเมื่อมีการแบนการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียนั้นมีความแตกต่างกัน

บางประเทศโดนหนัก แต่อีกบางประเทศก็มีทางออกของตน แต่

เยอรมนีเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะได้รับน้ำมันประมาณ 25% และก๊าซ 40% จากรัสเซีย สโลวาเกียและฮังการีได้รับ 96% และ 58% ตามลำดับ

โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีบอกว่า ประเทศของเขาสามารถตั้งรับเรื่องรัสเซียไม่ส่งน้ำมันได้พอสมควร

แต่สำหรับเรื่องก๊าซนั้นยังต้องใช้เวลาปรับตัวอีกระยะหนึ่ง

เขายอมรับว่าประเทศอื่นๆ อาจต้องใช้เวลามากกว่านี้

ดูเหมือนว่าสมาชิกอียูส่วนใหญ่จะยอมรับว่าต้องให้เวลาสำหรับฮังการีและสโลวาเกียในการปรับตัว

นั่นคืออาจจะต้องยอมให้ 2 ประเทศนี้ยังซื้อหาพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่ประเทศอื่นที่พร้อมกว่าก็เดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มข้นต่อไป

เพราะเป็นที่รู้กันในวงการว่า การหาแหล่งขายน้ำมันใหม่ง่ายกว่าการหาประเทศที่พร้อมจะขายก๊าซให้แทนรัสเซีย

สถาบันวิจัยพลังงาน EWI กล่าวว่า เยอรมนีควรจำกัดการใช้ก๊าซในขณะนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะตัดขาดในอนาคต

Uniper หนึ่งในบริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนียังเตือนด้วยว่า ถ้าสหภาพยุโรปหยุดซื้อน้ำมันรัสเซีย มอสโกก็อาจจะกดดันด้วยการหยุดส่งก๊าซ

ประเด็นเรื่องรัสเซียให้จ่ายค่าพลังงานเป็นรูเบิลก็มีทางออก เช่น ประเทศที่ซื้อจ่ายเป็นเงินสกุลยูโรแล้วแปลงเป็นรูเบิล เพื่อเป็นทางออกให้กับทั้งรัสเซียและประเทศผู้ซื้อ

มีรายงานว่า บริษัทพลังงานอื่นๆ ในยุโรปกำลังเตรียมทำเช่นเดียวกัน เพราะกลัวว่าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียจะลดน้อยลงหากไม่หาทางออกเพื่อตอบสนองเสียงขู่ของรัสเซีย โดยที่อียูก็ไม่เสียจุดยืนของตน

วันนี้ยุโรปจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะด้านหนึ่งต้องกดดันรัสเซียให้ถอยจากยูเครน อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องอาศัยพลังงานของรัสเซีย

รัฐมนตรีอียูที่ประชุมฉุกเฉินสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเสนอให้สมาชิกลงมติคว่ำบาตรด้วยการยุติการซื้อน้ำมันรัสเซียภายใน 6-8 เดือน

นั่นแปลว่าจะไม่หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า คือไม่ต้องทำทันที ยังให้เวลาปรับตัวสำหรับประเทศที่ไม่พร้อม และยกเว้นเป็นกรณีพิเศษให้กับฮังการีและสโลวาเกีย

ประเด็นเรื่องก๊าซก็มีความสลับซับซ้อนของตัวเอง

เยอรมนีและอิตาลีบอกว่าพร้อมจะจ่ายค่าก๊าซให้รัสเซียเป็นรูเบิล

โปแลนด์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องปรับบริษัทเยอรมนีและอิตาลีเหล่านั้น

เพราะโปแลนด์ถือว่าตนเสียสละก่อนใครด้วยการยอมให้รัสเซียตัดการส่งก๊าซให้กับตนไปก่อนแล้ว

แต่การลงมติเรื่องค่าปรับต้องเป็นเอกฉันท์ ยังไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดจะผ่านหรือไม่

ด้านสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกว่า อเมริกาจะขาย LNG ให้ยุโรปเพิ่มขึ้นอีก                แต่เอกชนบอกว่ามีกำลังผลิตเหลืออย่างจำกัดจำเขี่ย

วิกฤตสำหรับโลกจะผ่อนคลายหรือตึงเครียดขึ้นว่าด้วยตลาดต้องดูไตรมาสที่ 3 ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้

ผลที่ตามมาก็ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อที่วิ่งขึ้นอย่างน่ากลัวทั่วโลกก็อาจจะวิ่งขึ้นต่อไปอีก

นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะถูกกระแทกอย่างอย่างจังในช่วงครึ่งหลังของปี

หนักหนาสาหัสจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ