'อาทิตย์อุทัย' ที่ไทย

วันนี้ "๔ พฤษภาคม" วันฉัตรมงคล

ขอนำเรื่อง "มงคล" จากที่ "นายกฯ ประยุทธ์" โพสต์เฟซ ถึงการมาเยือนของนายกฯ ญี่ปุ่น "นายคิชิดะ ฟูมิโอะ" ระหว่าง ๑-๒ พ.ค.๖๕ บางตอนมาบันทึกไว้ ดังนี้

ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ

ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค.นี้ ประเทศไทยมีโอกาสที่ดียิ่ง ในการให้การต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการ ของนายคิชิดะ  ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และคณะกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายกระทรวงสำคัญของญี่ปุ่น

ผมมีความยินดีที่จะเรียนให้ทราบถึงความสำเร็จร่วมกัน เพิ่มพูนความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างไทยและญี่ปุ่นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างศักยภาพ Startup และ SMEs ให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ

ทั้งการร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของทั้งสองประเทศ

2.การส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-อะไหล่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และ  BCG ทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วทุกภูมิภาคของไทย         

รวมทั้งเรื่องเวชภัณฑ์-ยา-เครื่องมือแพทย์ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยาระดับโลก รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุน การวิจัย หรือขยายธุรกิจ โดยตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทยให้มากขึ้น

โดยไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ของโลก"

3.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่ EEC

 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมการสร้างแรงงานทักษะสูงใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รองรับการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านสถาบันโคเซ็นในไทย (KOSEN  Education Center) เพื่อมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

4.การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

5.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G

6.การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA: Free Trade  Agreement) ต่างๆ ที่สองฝ่ายเป็นภาคีอยู่

รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  หรือ RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

7.การเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 เตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่ ที่อาจเกิดในอนาคต

ซึ่งผมได้ยืนยันความพร้อมของไทย ในการเป็นที่ตั้งของ  “ศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่”

รวมทั้งหารือถึงแนวทางการส่งเสริมให้มีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศ กลับมาเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น

8.ความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกัน ภายใต้กลไกทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ  การต่อต้านการก่อการร้ายสากล ความมั่นคงทางไซเบอร์  ความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด  โดยในปี 2564 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน  178 โครงการ จากทั้งหมด 1,674 โครงการ

คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท จากทั้งหมด 642,680 ล้านบาท

เฉพาะในเดือน มี.ค.65 มีการลงทุนในพื้นที่ EEC  ของนักลงทุนญี่ปุ่น 2 ราย มูลค่าลงทุนราว 630 ล้านบาท

โดยผมมุ่งหวังสนับสนุนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่น ให้ความสำคัญและเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคนี้ได้

นอกจากนี้ ในฐานะญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญของโลก ผมได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย เดินทางไปหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5 บริษัท

เพื่อเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลและความพร้อมของไทย ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ

โดยออกมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร

รวมทั้งระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเรื่องแบตเตอรี่  การรีไซเคิลแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนต่างๆ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ของทั้งสองประเทศหลังจากนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาค

และเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก  รวมทั้งบรรลุนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อีกด้วย

การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือไปสู่ความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ในหลากหลายมิติ

เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การวิจัย การท่องเที่ยว สาธารณสุข ที่จะเกิดอาชีพใหม่ๆ อีกมากมาย

และวางรากฐานไปสู่อนาคตของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่ความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืน ที่เราจะส่งมอบต่อให้กับลูกหลานของเราในวันข้างหน้าครับ.

--------------------------------

มาฟัง "มุมสะท้อน" คนไทยระดับอาจารย์ด้านวิศวกรรมกันบ้าง ดังนี้

Kunchit Phiu-Nual

#นายกฯ ญี่ปุ่นเยือนไทย

ดูเผินๆ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เดินตามอเมริกาแทบทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

หลายท่านคงคิดว่านายกฯ ญี่ปุ่นมาครั้งนี้ จะมาชักชวนไทยให้ต่อต้านรัสเซีย ตามนโยบายสหรัฐฯ ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการเป็นศัตรูกับรัสเซีย

แต่ผมบอกได้เลยว่า นายกฯ ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่น ไม่ใช่คนโง่เง่าเลย แถมฉลาดเป็นกรด  

ผมมั่นใจว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบงานวิจัยที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง งานวิจัยญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละท่าน ที่จะสร้างกลุ่มลูกศิษย์ที่มีความสามารถสูงสืบต่อกันมา (train of thought)

และด้วยวิธีนี้เองที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาแนวคิดเพื่อการทำงานต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม

นโยบายการต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมองผลประโยชน์ตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร หากไทยมีสถานะ 1, 2,  3 เช่น เป็นตัวแทนหรืออาจถึงขั้นลูกไล่สหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้  หรือสนิทสนมกับจีนมากเกินไป หรือถูกเพื่อนบ้านที่มีรูปแบบการปกครองแตกต่างกัน สร้างเงื่อนไขให้เป็นศัตรู และมีเรื่องราวถึงขั้นก่อสงคราม ในวันใดวันหนึ่ง

ท่านนายกฯ ญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศกับไทย อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในการเดินทางมาครั้งนี้

ความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่นปัจจุบัน ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

ญี่ปุ่นต้องการให้ไทยดูแลตัวเองได้ดีกว่าเดิม เข้มแข็งกว่าเดิม และต้องการให้ใช้เทคโนโลยีด้านอาวุธจากญี่ปุ่น  แทนที่จะเป็นจากจีน หรือจากประเทศอื่นๆ

ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้ คือ ความเข้มแข็งของไทยที่จะคุ้มครองการลงทุนของคนญี่ปุ่นในไทย ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาก

ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น และแม้แต่ลูกพี่ใหญ่ คือ สหรัฐฯ  เองได้พบว่า สหรัฐฯ เดินนโยบายต่างประเทศกับไทยในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาผิดพลาดอย่างมาก

ประการแรก สหรัฐฯ หนุนทักษิณ ซึ่งจนบัดนี้ได้พบแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่มีสติปัญญา รู้เช่นเห็นชาติทักษิณ          และพบว่า ทักษิณคงจะไม่มีทางหวนกลับมาได้

นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศด้านอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่ใช้กับไทยก็ผิดพลาดอย่างมาก

ไทยไม่ยอมสยบกับการบีบคั้นด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่อง GSP การค้า เรื่องเทคโนโลยี  เรื่องนโยบายอาเซียนกับเมียนมา

 (ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลที่โปรตะวันตกขึ้นมาปกครองเมียนมา เพื่อที่จะค่อยๆ สูบทรัพยากรมหาศาลจากเมียนมา) 

นโยบายสนับสนุน NGO ที่แข็งกร้าว (สหรัฐฯ กับเยอรมนี เป็น 2 ประเทศงี่เง่าที่สนับสนุนความพยายามล้มสถาบัน) ความร้าวฉานนี้ต้องใช้เวลาในการกลบเกลื่อน และยังต้องการมุ่งไปที่ยุโรปตะวันออกมากขึ้น

ประกอบกับสหรัฐฯ ต้องการดำเนินนโยบายใต้ดินโดยใช้ไทยเป็นฐาน จึงต้องการที่จะลดบทบาทด้านอื่นๆ ลง โดยเฉพาะนโยบายในอาเซียน

ท้ายที่สุด เป็นเรื่องของ 3 ประเทศด้านตะวันออกของเรา ที่มีระบอบการปกครองสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ ซึ่งแตกต่างกับไทยโดยสิ้นเชิง

โดยเฉพาะเวียดนาม ที่พยายามพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีอะไรๆ ที่แปลกประหลาด คือ ประเทศชาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโซเวียต

ในขณะที่ ปชช.ส่วนใหญ่ที่เป็นเศรษฐี มีเงินส่งกลับมาพัฒนาประเทศ มาจากสหรัฐอเมริกา เงินจำนวนนี้มีความสำคัญกับประเทศเวียดนามมาก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ก็นำพามาจากสหรัฐฯ  ฉะนั้น เวียดนามจึงเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี จาก 2  ประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

และ ปชช.เวียดนาม ยังเป็นชนกลุ่มที่ต้องการความยิ่งใหญ่ เห็นได้จากการครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองกับลาว และกัมพูชา

ฉะนั้น วิธีเดียวที่การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะปลอดภัย คือ ญี่ปุ่นต้องเพิ่มความรับผิดชอบกับไทย และในขณะเดียวกัน ก็สร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับประเทศชาติด้วย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจึงคืบคลานเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธกับไทย และยิ่งง่ายมากด้วย เพราะกิจการพัฒนาอาวุธสำหรับญี่ปุ่น ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ

ฉะนั้น ในอนาคต เพื่อนๆ ลองจับตาดูว่า เราจะมีความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านกิจการทหารเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร 

แต่ผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในกรณีนี้ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยอย่างยิ่ง

-----------------

พรุ่งนี้ มีอีกวัน อย่าหนีนะ!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แบงก์ชาติยันเกาะกูด'

ผมเห็นหัวอก "คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง" ด้วยใจจริง โอกาสเป็น "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" ของท่าน

'นพดลย้อน-คำนูณแย้ง'

ฟัง "คุณนพดล ปัทมะ" ผู้มีส่วนร่วมใน MOU 44 ไปแล้ว ประเด็นหลักที่ต้องเน้นให้เข้าใจกันตามที่คุณนพดลให้สัมภาษณ์

MOU 44 'ผูกมัดใครกันแน่?'

"MOU 44" จริงๆ แล้ว มันยังไงกัน "ใครได้-ใครเสีย?"ฟังแต่ละผู้รู้แล้ว ยังมึนซ้าย-มึนขวา เมื่อวาน อ่านบทสัมภาษณ์ "คุณนพดล ปัทมะ" อดีต รมว.ต่างประเทศ ในเว็บไซต์ "แนวหน้า"