ช่วงนี้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเจอปัจจัยรุมเร้าจากภายนอกเข้ามากระตุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในจีน ยังไม่นับรวมภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ แถมไทยเจอปัญหาค่าเงินบาทอ่อน และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสวนทางกับรายได้
เมื่อเจอมรสุมที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ทำให้ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใหม่มาอยู่ที่ 3.5% ลดลงจากเดิมที่ 4% ตัวเลขดังกล่าวเมื่อมาประเมินกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5% ต่อไป ซึ่งตีความง่ายๆ ก็คือ ในปีนี้รายได้ของคนไทยเฉลี่ยจะเติบโตน้อยกว่าราคาสินค้าที่แพงขึ้น ประเด็นนี้ส่งผลโดยตรงกับกำลังซื้อของคนไทยอย่างแน่นอน
นี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่ารัฐบาลจะช่วยประคองกำลังซื้อของคนไทยต่อไปอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับภาวะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย
แน่นอนที่ผ่านมารัฐบาลพยายาม (เติมกระสุน) ให้ประชาชนโดยตรง ผ่านโครงการร่วมจ่าย อย่างโครงการเพิ่มกำลังซื้อและคนละครึ่ง ซึ่งผ่านมาถึง 4 เฟสก็กระตุ้นการใช้จ่ายรวมๆ 4-5 แสนล้านบาท โดยครึ่งๆ เป็นงบประมาณโดยตรงจากทางรัฐบาล
แต่วิธีการนี้แม้จะเป็นการอัดฉีดเงินโดยตรงลงถึงประชาชน และได้ผลดี แต่มันก็เป็นภาระงบประมาณที่มหาศาลมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลนำเงินส่วนนี้มาจากการกู้เงิน เป็นภาระที่ประเทศจะต้องใช้คืนหนี้ต่อไป
ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่ยังต้องลุ้นว่ารัฐบาลจะมีการต่ออายุโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่อีกหรือไม่? และด้วยความไม่ชัดเจนนี้เองก็เป็นช่องทางให้ข่าวเฟกนิวส์ออกมา ที่มีการระบุว่ารัฐบาลจะลดการสนับสนุนลงเหลือ 25% ไม่ใช่คนละครึ่ง 50% เหมือนแต่ก่อน
ประเด็นนี้ร้อนไปถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เคยมีการพูดเรื่องการปรับสูตร และไม่เคยพูดว่าจะมีการต่อมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ด้วยซ้ำ
เจ้าตัวทิ้งท้ายว่า การจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งต้องดูหลายองค์ประกอบ อาทิ การเพิ่มขึ้นของรายได้สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้มีรายได้รายวันนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาจะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนอย่างไร
สาเหตุที่ต้องประเมินรอบด้านก็เพราะว่า กระสุนที่รัฐบาลเคยเติมให้เริ่มร่อยหรอลง โดยเฉพาะฐานะการคลังที่เริ่มตึงตัวไปทุกที
จากข้อมูลล่าสุด ปัจจุบันการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาท (กันไว้ใช้สำหรับภัยพิบัติ 3-4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประเมินว่า หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม จะยังสามารถมีพื้นที่ทางการคลังกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ขยายกรอบจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP (ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.17% ของ GDP)
คงต้องวัดใจว่า รัฐบาลจะกล้ากู้เงินมาเพิ่มเพื่อใส่ในโครงการกระตุ้นใช้จ่ายอีกหรือไม่ เพราะแนวทางนี้ไม่ใช่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มันเหมือนเป็นน้ำยาหล่อลื่นให้เศรษฐกิจทำงาน แต่ถ้าหล่อลื่นมากไปจนทำให้เกิดความเคยชิน ระยะยาวก็ย่อมส่งผลเสีย ทั้งต่อตัวประชาชนและรัฐบาล ที่สุดท้ายก็จะต้องมาร่วมชะตากรรมในการชดใช้หนี้กันหัวโต
จากนี้ก็คงต้องเฝ้ารอว่ารัฐบาลจะเดินหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม
จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ
เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ
สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย
ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง
แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ
จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว