การมาเยือนไทยของนายกฯ ญี่ปุ่นเกิดขึ้นในจังหวะที่สำคัญยิ่งทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ 2 ประเทศ...และในภาวะของความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะจุดยืนของญี่ปุ่นต่อสงครามยูเครนที่ยืนอยู่ข้างสงครามและร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย
เป็นหัวหน้าการปรึกษาหารือระหว่างผู้นำญี่ปุ่นกับนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนัยสำคัญยิ่ง
เพราะจุดยืนของไทยกรณีสงครามรัสเซียถูกวางอยู่ “ตรงกลาง” ขณะที่ญี่ปุ่นกระโดดไปอยู่ข้างโลกตะวันตกอย่างปฏิเสธไม่ได้
กระทรวงต่างประเทศไทยแจ้งว่า นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr.KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย (Official Visit) ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2565
“การเยือนอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีคิชิดะภายหลังเข้ารับหน้าที่ และเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นับตั้งแต่การเยือนของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ เมื่อปี 2556”
นอกจากนี้ การมาเยือนของนายกฯ ญี่ปุ่นยังเป็นโอกาสพิเศษ เพราะปีนี้ เป็นปีที่ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่น
รวมถึงอยู่ในห้วงที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ปี 2564-2567)
ตลอดจนเป็นโอกาสที่ไทยจะยืนยันความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในช่วงปลายปี
ข่าวจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดหารือข้อราชการกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมวันนี้...วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล
ทั้ง 2 ผู้นำจะคุยเรื่องอะไรบ้าง?
เอกสารทางการไทยบอกว่า
“จะเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การพัฒนาอนุภูมิภาค ภูมิภาค และความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูภายใต้ความท้าทาย รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น...”
แต่ที่ไม่เป็นทางการนั้นต้องเกาะติดความเคลื่อนไหวของนายกฯ ญี่ปุ่นที่ครั้งนี้เยือนอินโดนีเซียและเวียดนามด้วย
นักวิเคราะห์ระหว่างประเทศมองว่า นายกฯ คิชิดะ “ออกทัวร์” รอบนี้ต้องการจะ “สร้างสะพานเชื่อม” ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในกรณีสงครามยูเครนที่มีรัสเซียเป็นตัวละครสำคัญ
คิชิดะเจอกับผู้นำอินโดนีเซียก่อน...และแถลงข่าวร่วมกันด้วยการบอกว่า สงครามในยูเครนเป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่อาจจะยอมรับได้'
นายกฯ แถลงข่าวที่กรุงจาการ์ตาร่วมกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสำคัญคือประณามการที่รัสเซียส่งทหารเข้าเปิดสงครามยูเครน
คิชิดะเรียกการเยือนประเทศต่างๆ รอบนี้ว่าเป็น “ภารกิจเพื่อปกป้องสันติภาพ”
แถลงการร่วมระหว่างผู้นำญี่ปุ่นกับอินโดนีเซียตอนหนึ่งบอกว่า
“การเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่จากการกระทำของฝ่ายเดียวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเราขอยืนยันว่าเราจะเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างสันติต่อความขัดแย้งตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
ในแถลงการณ์ร่วมนั้นผู้นำทั้ง 2 เห็นพ้องว่าจะช่วยกันเรียกร้องให้รัสเซียยุติความเป็นปรปักษ์ในยูเครนทันที และระงับความขัดแย้งผ่านการเจรจา
ทั้ง 2 ผู้นำเห็นด้วยว่าจะต้องช่วยกันหาทางออกจากผลกระทบของสงครามที่มีต่อเศรษฐกิจโลก
ที่กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับอินโดนีเซีย เพราะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจหลักคนปัจจุบัน
โดยที่โจโกวีได้เชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในเดือนพฤศจิกายนนี้
แม้จะมีแรงกดดันจากประเทศตะวันตกไม่ให้อินโดฯ เชิญผู้นำรัสเซียเพื่อโดดเดี่ยวปูตินจากเวทีระหว่างประเทศ
คิชิดะพยายามที่จะช่วยอินโดนีเซียหาทางออกทางการทูตจากปัญหานี้
เป็นไปได้ว่าคิชิดะจะคุยกับโจโกวีถึง “ทางออก” ที่จะไม่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับทั้งเจ้าภาพและผู้เข้าร่วมประชุม
อีกนัยหนึ่งญี่ปุ่นพยายามจะเล่นบทปิดช่องว่างระหว่างประเทศตะวันตกที่ต่อต้านมอสโกและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย
แต่ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
เพียงแค่หวังว่าจากนี้ถึงปลายปีก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 สถานการณ์สู้รบในยูเครนจะออกมาในทางใดทางหนึ่งที่จะทำให้มีทางออกทางการทูต
คิชิดะได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “ระเบียบระหว่างประเทศที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม”
มีการยกตัวอย่างไม่เพียงแต่กรณียูเครนเท่านั้น
แต่ยังโยงไปถึงความขัดแย้งในทะเลตะวันออกและจีนใต้และเกาหลีเหนือด้วย
“เกี่ยวกับประเด็นยูเครน ผมได้เน้นย้ำถึงการเรียกร้องของอินโดนีเซียให้ทุกประเทศเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง” โจโกวีกล่าวในแถลงการณ์ของตน
โดยย้ำว่าสงครามจะต้องหยุดทันที...แม้จะไม่ได้ระบุชื่อรัสเซียอย่างจะแจ้งก็ตาม
คิชิดะเองก็พยายามส่งสัญญาณว่าจะหาทางออกทางการทูตเกี่ยวกับการที่ปูตินจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอด G-20
ทางออกทางหนึ่งคือ การอ้างว่ายังมีอีกหลายเดือนก่อนจะถึงเดือนพฤศจิกายน
“ยังมีเวลาก่อนการประชุมสุดยอด” คิชิดะบอกนักข่าว
“เราจะประสานงานความพยายามของเราโดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่จากนี้” ผู้นำญี่ปุ่นกล่าว...เพราะรู้ว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนที่ทำให้ต้องวางตัวให้เหมาะสม
สมาชิกกลุ่ม G-20 อื่นๆ ได้แก่ จีน ซึ่งเอนเอียงไปทางรัสเซีย และอินเดียซึ่งพยายามรักษา “ความเป็นกลาง” ในเรื่องนี้
“เราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จของการประชุมสุดยอด G-20” คิชิดะกล่าว
นอกจากอินโดฯ และไทยแล้ว คิชิดะจะเยือนเวียดนาม อิตาลี และสหราชอาณาจักรด้วย
จุดยืนของประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการผลักดันระหว่างประเทศเพื่อลงโทษมอสโกด้วยการคว่ำบาตร
ส่วนอินเดีย เวียดนาม และลาว งดออกเสียงในมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ประณามรัสเซีย
เชื่อว่าผู้นำญี่ปุ่นจะพูดคุยกับผู้นำอิตาลีและอังกฤษในหัวข้อที่โยงกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และทะเลตะวันออกที่เกี่ยวกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ญี่ปุ่นหวั่นว่าจีนอาจจะ “เปลี่ยนแปลงสถานภาพปัจจุบัน” โดยประเทศหนึ่งประเทศใดด้วยกำลังอย่างที่เกิดในยูเครน
แม้เขาจะระบุชื่อประเทศใดก็ไม่เป็นที่สงสัยว่าผู้นำญี่ปุ่นหมายถึงบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้
คิชิดะยืนยันว่าเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของนโยบายต่างประเทศของเขา
รัสเซียและจีนมองว่าญี่ปุ่นเป็น “ลูกไล่” ของสหรัฐฯ ในเอเชีย
แต่คิชิดะย้ำว่า แนวทางของเขาสอดคล้องกับค่านิยมด้านการเมืองระหว่างประเทศของเอเชียหลายประเทศ และแน่นอนพันธมิตรหลักของญี่ปุ่นคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป
ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษา “ระเบียบระหว่างประเทศ” ที่มีอยู่
เมื่อรู้ว่าคิชิดะพูดอะไรกับอินโดฯ ไว้ ไทยจะได้แลกเปลี่ยนกับผู้นำญี่ปุ่นแบบ “รู้เท่าทันและสะท้อนจุดยืน” ของไทยได้อย่าง “ทันการณ์ทันเวลา” ด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ