เหตุใดยุโรปจึงยังไม่กล้า แบนก๊าซรัสเซียทั้งหมด?

พอรัสเซียหยุดส่งก๊าซและน้ำมันให้โปแลนด์และบัลแกเรียผ่านท่อ Yamal เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องยุโรปตะวันตกต้องพึ่งพาพลังงานจากมอสโกก็ร้อนฉ่าขึ้นทันที

ดูจากชาร์ตของบีบีซีจะเข้าใจว่าทำไมเยอรมนีและอิตาลีจึงลังเลที่จะร่วมคว่ำบาตรการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ทั้งๆ ที่ถูกกดดันจากสหรัฐฯ และประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ

เพราะเยอรมนีรับซื้อก๊าชรัสเซียถึง 42.6% ของทั้งหมด

ตามมาด้วยอิตาลีที่ 29.2%

จีนกับญี่ปุ่นซื้อก๊าชจากรัสเซีย 9.2% และ 8.8% ตามลำดับ

ปริมาณน้ำมันของรัสเซียที่ขายให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกลดลงหลังเกิดสงครามยูเครน

แต่ว่าก๊าซจากรัสเซียก็ยังคงไหลไหลเข้าสู่ยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีบ่นเสียงดังๆ ตลอดว่า ทุกยูโรและดอลลาร์ (หรือรูเบิล) ที่ประเทศยุโรปตะวันตกจ่ายให้มอสโกเพื่อแลกกับก๊าซและน้ำมันก็คือเงินที่รัสเซียเอาไปใช้ทำสงครามกับยูเครนนั่นแหละ

หลังรัสเซียส่งทหารบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรที่มาพร้อมกับการจำกัดการนำเข้าสินค้าต่างๆ จากรัสเซียเป็นชุดๆ

สหรัฐฯ ประกาศห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินของรัสเซียโดยสมบูรณ์

สหราชอาณาจักรจะเลิกใช้น้ำมันรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ และสหภาพยุโรปกำลังลดการนำเข้าก๊าซลง 2 ใน 3

รัสเซียเตือนว่าการห้ามใช้น้ำมันจะนำไปสู่ ​​"ผลร้ายต่อตลาดโลก"

ราคาน้ำมันและก๊าซปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่การรุกรานยูเครน เพราะการซื้อขายและขนส่งต้องชะงักลงทันที

รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย

โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

และก่อนการประกาศคว่ำบาตร กว่าครึ่งของจำนวนนี้ถูกส่งจากตะวันออกไปยังยุโรป

การนำเข้าพลังงานจากรัสเซียคิดเป็น 8% ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมดในสหราชอาณาจักร และ 3% ของอุปสงค์ของสหรัฐฯ

ในช่วงต้นเดือนเมษายน การผลิตน้ำมันของรัสเซียลดลง 700,000 บาร์เรลต่อวัน ตามรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

IEA พยากรณ์ว่าการผลิตอาจลดลงถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นเดือนเมษายน และประมาณ 3 ล้านบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม

พอเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้ซื้อในยุโรปมองหาแหล่งพลังงานหรือซัพพลายเออร์ทางเลือก

และสหรัฐฯ ห้ามนำเข้าน้ำมันของรัสเซียโดยสิ้นเชิงในช่วงต้นเดือนมีนาคม

รัสเซียก็ดิ้นรนพยายามหาตลาดใหม่สำหรับน้ำมันในเอเชีย เช่น จีนและอินเดีย...หรือประเทศอื่นๆ

ถึงขั้นเสนอลดราคาให้อินเดียไม่น้อยกว่า 30% และให้จ่ายเป็นเงินรูปีของอินเดียได้

แต่ถ้าการผลิตของรัสเซียยังลดลงต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

คำถามก็คือ อะไรคือทางเลือกอื่นนอกจากของรัสเซีย

บีบีซีอ้างความเห็นของ Ben McWilliams นักวิเคราะห์วิจัยนโยบายพลังงานว่า การหาซัพพลายเออร์ทางเลือกสำหรับน้ำมันน่าจะง่ายกว่าก๊าซ

สมาชิก IEA บางรายได้ปล่อยสต็อกน้ำมัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 120 ล้านบาร์เรล

เป็นการปล่อยน้ำมันสำรองจากสต็อกที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน สั่งให้ปล่อยน้ำมันครั้งใหญ่จากแหล่งสำรองของอเมริกา เพื่อพยายามลดต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูง

สหรัฐฯ ยังต้องการให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน และกำลังมองหามาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของเวเนซุเอลา

บีบีซีถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าก๊าซรัสเซียหยุดไหลเข้าสู่ยุโรป?

คำตอบก็คือ ก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติของสหภาพยุโรปทั้งหมด

หากก๊าซเหือดแห้งไป เยอรมนีและอิตาลีจะตกอยู่ในฐานะบอบบางที่สุด

ยุโรปอาจหันไปหาผู้ส่งออกก๊าซที่มีอยู่ เช่น กาตาร์ แอลจีเรีย หรือไนจีเรีย

แต่ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศเหล่านี้เร่งขยายการผลิตให้รวดเร็วทันการณ์

สหราชอาณาจักรพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเพียง 5% ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้นำเข้าก๊าซของรัสเซียใดๆ

2 ประเทศนี้จึงไม่เดือดร้อนเรื่องพลังงานจากรัสเซียนัก

วอชิงตันไปกดดันให้ยุโรปบอยคอตรัสเซีย ก็ต้องหาทางบรรเทาปัญหาของพันธมิตร

ด้วยเหตุนี้อเมริกาจึงตกลงที่จะจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติมอีก 15 พันล้านลูกบาศก์เมตรไปยังยุโรปภายในสิ้นปีนี้

เป้าหมายคือการจัดหาก๊าซเพิ่มเติมจำนวน 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จนถึงอย่างน้อยปี ค.ศ.2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การเปลี่ยนจากก๊าซไปหาแหล่งพลังงานอื่นเป็นเรื่องยากกว่า

เพราะมีท่อขนาดใหญ่ที่นำก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรปได้อย่างสะดวกสบายอยู่แล้ว

สหภาพยุโรปหวังว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานลม

แต่พลังงานทดแทนต้องใช้เวลาในการนำมาปฏิบัติได้จริง

ด้วยเหตุนี้ในระยะสั้น นี่ย่อมไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

อาจจะหมายถึงการเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างที่อิตาลีและเยอรมนีกำลังคิดจะทำแผนรองรับฉุกเฉินอยู่ในขณะนี้

สหภาพยุโรปได้เสนอแผนเพื่อให้ยุโรปเป็นอิสระจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียก่อนปี 2030

รวมถึงมาตรการในการกระจายแหล่งก๊าซและพลังงานทดแทนเพื่อผลิตความร้อนและพลังงาน

ประธานาธิบดีปูตินรู้จุดอ่อนของยุโรปตะวันตกดี จึงใช้วิธีกดดันด้วยการบอกว่าใครจะซื้อพลังงานของรัสเซียในช่วงที่มอสโกถูกคว่ำบาตรต้องจ่ายเป็นเงินสกุลรูเบิลเท่านั้น

เอาเข้าจริงๆ รัสเซียก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองถึงขนาดนั้น เพราะประเทศยุโรปตะวันตกโต้กลับว่าสัญญาที่ทำกันไว้ไม่ได้ระบุเช่นนั้น

สงครามยูเครนทำให้เกิดสงครามพลังงาน, สงครามการเงินและสงครามยื้อยุดกันในเกือบทุกเวทีกันเลยทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ