Kaliningrad : จุดยุทธศาสตร์ เผชิญหน้านิวเคลียร์กับ NATO

ชื่อของดินแดนเล็กๆ ที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักเท่าไหร่ กำลังจะกลายเป็นชื่อที่คนทั้งโลกต้องเริ่มทำความรู้จัก

ชื่อนั้นคือ Kaliningrad

ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นที่ต้องสนใจเพราะสงครามยูเครน

และเมื่อฟินแลนด์กับสวีเดนประกาศว่าจะละทิ้งนโยบายเป็นกลางด้วยการสมัครเข้า NATO รัสเซียก็ประกาศว่า Kaliningrad จะเป็นจุดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซียขึ้นมาทันที

Kaliningrad คืออะไร?

คาลินินกราดเป็นดินแดนของรัสเซียที่ตั้งอยู่ใจกลางยุโรป

ที่ต้องสนใจจุดนี้เป็นพิเศษ เพราะอาจจะกลายเป็นที่ฐานยิงนิวเคลียร์ที่อาจจะถล่มยุโรปได้...หากสงครามขยายวงจากยูเครนเข้าสู่ประเทศสมาชิก NATO

เพราะรัสเซียประกาศแล้วว่าถ้า 2 ประเทศนี้เข้าเป็นสมาชิก NATO คำว่า “บอลติกปลอดนิวเคลียร์” ก็เป็นอันยกเลิกไปทันที

คาลินินกราดเป็นเขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลบอลติก

ที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นของรัสเซีย แต่คาลินินกราดก็ไม่ได้อยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย

หากแต่มีชายแดนติดกับโปแลนด์และลิทัวเนีย

ถือว่าเป็นแดนของรัสเซียที่อยู่ใจกลางยุโรปกันเลยทีเดียว

ถูกมองว่าเป็นดินแดนที่ถูกปิดล้อม (ที่ฝรั่งเรียกว่า Enclave) ก็ได้

หรือจะเรียกว่าเป็น “ไข่แดง” ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่งก็ได้เช่นกัน

หากสงครามยูเครนยืดเยื้อ และหาก NATO ขยายมากินประเทศริมทะเลบอลติกทั้งหมด รัสเซียก็มีแผนที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่คาลินินกราด

เพราะนี่คือมาตรการป้องปรามสำหรับมอสโกที่มีความสำคัญยิ่ง

นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์สงครามบางสำนักเชื่อว่า หาก NATO เข้ามามีบทบาทกำกับการสู้รบในยูเครนมากขึ้นตามลำดับ หรือถ้ารัสเซียมองไปที่อดีตสาธารณรัฐโซเวียตอื่นๆ ที่กำลังส่งอาวุธให้กับยูเครน

คาลินินกราดก็อาจกลายเป็นฐานที่ตั้งสำหรับการโจมตีประเทศที่มอสโกถือว่า “ไม่เป็นมิตร” ของตนก็ได้

เป้าที่ชัดเจนสำหรับรัสเซียหากเกิดการสู้รบในกรณีนี้ก็ย่อมจะหนีไม่พ้นแนวชายแดนทางตะวันออกสุดของ NATO

นั่นก็คือโปแลนด์กับเบลารุส

หรือหนึ่งในกลุ่มประเทศบอลติก เช่น เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย...

ซึ่งอยู่ห่างจากคาลินินกราดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นักวิเคราะห์ทางทหารบอกว่า ปูตินได้เตรียมความพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์ตั้งแต่เริ่มโจมตียูเครนแล้ว

เป็นที่รู้กันว่ารัสเซียมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ Iskander

บางสำนักเชื่อว่า Iskander มาประจำการอยู่ในคาลินินกราดแล้ว

และอาจจะเล็งไปที่เมืองหลวงในยุโรป...เผื่อในกรณีที่ความขัดแย้งบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์

จริงหรือที่รัสเซียได้วางกำลังนิวเคลียร์ไว้ที่นั่นแล้วแม้ก่อนสงครามยูเครนระเบิด

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียพูดไว้เมื่อปี 2018 ว่าเป็นเรื่องภายในของรัสเซีย ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวกับใคร

เขาเคยบอกว่า "การติดตั้งอาวุธใดๆ หรือหน่วยทหารในดินแดนของรัสเซียเป็นเรื่องของสหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น"

แต่เพื่อนบ้านใกล้ชิดเช่นประธานาธิบดีของลิทัวเนีย ดูเหมือนจะเคยยืนยันว่ารัสเซียได้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราดเรียบร้อยแล้ว

อีกบางกระแสอ้างข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียมที่ชี้ไปว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัสเซียได้จัดสถานที่จัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ในคาลินินกราดแล้วเช่นกัน

แม้ก่อนจะเกิดสงครามยูเครน ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย และอดีตประธานาธิบดีเคยตอกย้ำว่า รัสเซียสามารถนำอาวุธนิวเคลียร์ไปใช้ในคาลินินกราดได้

เพราะ NATO ได้ติดตั้งขีปนาวุธในโปแลนด์และประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ แล้วเช่นกัน

ผู้รู้เล่าว่าคาลินินกราดมีข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งคือ มีท่าเรือที่ปลอดน้ำแข็งตลอดทั้งปีเพียงแห่งเดียวในทะเลบอลติก

เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการขนส่งทั้งในแง่การค้าและทางความมั่นคงที่มีความสำคัญสำหรับรัสเซีย

และสำหรับกลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียอีกด้วย

ความเป็นมาของคาลินินกราดที่เป็นของรัสเซีย แต่มาวางไว้ ณ ใจกลางยุโรปก็น่าสนใจไม่น้อย

ย้อนกลับไปศตวรรษที่ 13 คาลินินกราดเคยมีชื่อว่า เคอนิชส์แบร์ค (Konigsberg)

เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า หุบเขาแห่งกษัตริย์

อีกทั้งเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซีย หรือที่กลายมาเป็นเยอรมนีในปัจจุบัน

ถึงปี 1701 ราชวงศ์ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงเบอร์ลิน

ปรัสเซียเสียเคอนิชส์แบร์คให้กับรัสเซียในช่วงปี 1758 แต่สามารถยึดคืนมาได้ในอีก 4 ปีต่อมา

มีบันทึกไว้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เป็นสนามรบที่รุนแรงระหว่างกองกำลังโซเวียตและนาซีเยอรมนี

พอสงครามสงบเมื่อปี 1945 เมืองนี้ก็ตกเป็นของสหภาพโซเวียต

เปลี่ยนชื่อเป็นคาลินิน

เป็นการให้เกียรติ มิคาอิล คาลินิน ผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์

และรัฐบุรุษซึ่งเป็นประมุขอย่างเป็นทางการของสหภาพโซเวียต ระหว่างปี 1922-1946

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 คาลินินกราดก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาจนถึงวันนี้

เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน

ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากส่วนต่างๆ ของรัสเซีย

จากเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก อาจจะกลายเป็นจุดบนแผนที่ที่ทุกคนต้องจำให้แม่นยำขึ้น

เพราะคนทั้งโลกกลัวว่าสงครามนิวเคลียร์จะเกิด...และอาจจะเริ่มจากจุดนี้ก็ได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ