ทำไมรัสเซียเต้นเมื่อสวีเดน, ฟินแลนด์จะร่วม NATO?

พอฟินแลนด์กับสวีเดนประกาศจะขอเข้าร่วม NATO ในขณะที่สงครามยูเครนยังร้อนระอุก็มีเสียงขู่จากรัสเซียว่าต้องมีการ “ตีเส้นพรมแดน” ระหว่างรัสเซียกับนาโตใหม่แล้ว

อีกทั้งสิ่งที่เรียกว่า “บอลติก:เขตปลอดนิวเคลียร์” ก็จะกลายเป็นอดีตไปทันที

เพราะมอสโกเคยเรียก 2 ประเทศนี้ว่าเป็น “ประเทศที่เป็นกลาง” ที่ยูเครนควรจะเอาเป็นตัวอย่าง

ความตึงเครียดจึงเพิ่มระดับขึ้นในยุโรปอย่างชัดเจนโดยพลัน

ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และพยายามรักษาสถานภาพของความเป็นกลาง จนกระทั่งรัสเซียโจมตียูเครนครั้งล่าสุด

“ความเป็นกลาง” ในความหมายที่ไม่เข้าร่วม NATO (แม้จะได้รับเชิญเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ในการซ้อมรบของนาโต) และไม่มีนโยบายที่รัสเซียถือว่าเป็นปฏิปักษ์

แต่พอเกิดสงครามยูเครนเท่านั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

รัสเซียบุกยูเครนรอบนี้มีจุดมุ่งหมายเดิมที่จะหยุดยั้งการขยายตัวทางทิศตะวันออกของ NATO ไปประชิดติดพรมแดนของรัสเซีย แต่สงครามกลับทำให้เกิดผลทางตรงข้าม

นั่นคือการผลักดันให้ชาติเป็นกลาง เช่น สวีเดนและฟินแลนด์ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรตะวันตก

ถึงวันนี้ทั้ง 2 ประเทศประกาศว่าจะขอสมัครเป็นสมาชิก NATO อย่างเปิดเผย และขอเข้าสู่กระบวนการนี้แบบ fast track นั่นคือเร่งรัดเป็นพิเศษด้วย

หากทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรตะวันตก ก็หมายความว่า NATO จะเข้าใกล้พรมแดนรัสเซียมากขึ้น และขยาย “ปีกด้านตะวันออก” ของตะวันตกกว้างขึ้นอีก

ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกสูงขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะทางด้านเครมลินได้เตือนทั้ง 2 รัฐประเทศอย่างดุดันว่า หาก 2 ชาตินี้เข้าร่วม NATO จริงๆ มอสโกอาจพิจารณาปรับใช้อาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนที่มีชื่อว่า “คาลินินกราด” Kaliningrad

ซึ่งเป็นดินแดนเล็กๆ ของรัสเซียในวงล้อมของประเทศบอลติก

คนใกล้ชิดของปูตินคนหนึ่งตอกย้ำแนวทางที่รัสเซียกำลังพิจารณาเป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวของฟินแลนด์และสวีเดนว่า

“ในกรณีนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงสถานะที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ของทะเลบอลติกอีกต่อไป เราต้องฟื้นฟูความสมดุลของภูมิภาคนี้” มิทรี เมดเวเดฟ รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศกล่าว

โดยชี้ไปที่จุดที่ตั้งของคาลินินกราด ซึ่งกำลังจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญจุดใหม่

หากย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียก็ได้ส่งสัญญาณเตือนทั้ง 2 ประเทศนี้เอาไว้ล่วงหน้าเหมือนจะจับกระแสความเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างได้

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเตือนว่า

"เห็นได้ชัดว่า มีสัญญาณว่าฟินแลนด์และสวีเดนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหาร นั่นย่อมหมายถึงผลกระทบทางการเมืองและทางทหารอย่างร้ายแรง และรัสเซียจะต้องมีการตอบสนองแน่นอน”

ภูมิภาค “คาลินินกราด” เป็นดินแดนที่ถูกแยกออกมาจากแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียตั้งอยู่ในทะเลบอลติก จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการป้องกันการขยายตัวของ NATO ในยุโรปตะวันออก

จะว่าไปแล้วทั้งฟินแลนด์และสวีเดนก็มีประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะซับซ้อนกับรัสเซีย เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้เข้าร่วมกับ NATO

จึงเป็นประเด็นว่าจะบริหารความสัมพันธ์เชิงซ้อนกับรัสเซียและโลกตะวันตกอย่างไร

สวีเดนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 9

ในช่วงนั้น Rurik ผู้ปกครองชาว Varangian (ไวกิ้ง) แห่งสวีเดน ได้ก่อร่างสร้างรัฐรัสเซียแห่งแรกของประวัติศาสตร์คือ Kievan Rus

ต่อมาผู้สืบทอดจะก่อตั้ง Tsardom of Russia ในกรุงมอสโก แต่ก็มีการทำสงครามกันหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ทั้ง 2 ประเทศทำสงครามกันหลายครั้ง

ตำนานเก่าแก่บอกว่า กองทัพสวีเดนเคยเดินทัพเข้ามอสโก ในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรสวีเดนสนับสนุนกลุ่มกบฏของยูเครนที่ต่อต้านผู้นำมอสโก

ขณะเดียวกัน รัสเซียก็แข็งแกร่งขึ้นจากความขัดแย้งต่างๆ ไปถึงทะเลบอลติกและควบคุมภูมิภาคนั้นได้อย่างแข็งขัน

และในศตวรรษต่อมา ช่วงของการทำสงครามหลายรอบ รัสเซียก็สามารถสร้างความเหนือกว่าสวีเดนในหลายๆ ด้าน

และระหว่างสงครามนโปเลียน 2 ประเทศนี้ก็พัฒนาความสัมพันธ์อย่างกระชับมากขึ้น เพราะในกรณีนี้มอสโกปกป้องสวีเดนจากการรุกรานของผู้นำฝรั่งเศสนโปเลียน โบนาปาร์ต

ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีความขัดแย้งทางทหารระหว่างมอสโกและสตอกโฮล์ม ด้วยเหตุที่มีการสร้างสายสัมพันธ์ในศตวรรษที่ 19 และการสูญเสียดินแดนที่สำคัญของสวีเดนระหว่างสงครามนโปเลียน จึงทำให้สวีเดนดำเนินนโยบาย “เป็นกลาง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

และพอมาถึงช่วงสงครามเย็น สวีเดนเลือกที่จะเป็นกลาง

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง สวีเดนก็ยังยึดแนวทางเป็นกลาง แต่ขณะเดียวกันก็เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปี 1995 ตามมาด้วยการลดงบประมาณทางทหารและยึดแนวทาง “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”

แต่พอรัสเซียบุกยูเครนรอบนี้ ประชาชนคนสวีเดนก็เริ่มจะปรับแนวคิด เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดกับยูเครนจะเกิดกับตนเมื่อไหร่

กลายมาเป็นความเห็นร่วมของชาวบ้านและผู้นำทางการเมืองของสวีเดนว่า NATO อาจเป็น “เกราะกำบัง” เดียวที่จะปกป้องสตอกโฮล์มจากภัยคุกคามใดๆ จากมอสโก

มักดาเลนา แอนเดอร์สสัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน บอกว่า ก่อนและหลังรัสเซียบุกยูเครนนั้น “ภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”.

(พรุ่งนี้ : ฟินแลนด์กับรัสเซีย)                       

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ