ไบเดนนัดผู้นำอาเซียนเดือนหน้า ท่ามกลางพายุสงครามยูเครน

นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงต้องเตรียมบินไปวอชิงตันเดือนหน้าเพื่อจับไม้จับมือกับ โจ ไบเดน พร้อมกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ แล้ว

เพราะสหรัฐฯ กับอาเซียนนัดหมายจะมีการประชุมสุดยอดกันที่ทำเนียบขาว 12-13 พฤษภาคมนี้แล้ว หลังจากที่มีการเลื่อนกันมาหลายรอบ

เป็นจังหวะที่สงครามยูเครนยังร้อนแรงอยู่...และเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง

ครั้งนี้จะเป็นการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับผู้นำอาเซียนตัวเป็นๆ ไม่ใช่การพบปะกันทางออนไลน์เหมือนคราวก่อนๆ

และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญในแง่ของยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่เห็นอเมริกากับยุโรปตะวันตกตีเส้นแบ่งกับรัสเซียและจีนกรณีสงครามยูเครนอย่างชัดเจน

และเป็นจังหวะที่อาเซียนเองก็ไม่ได้มีจุดยืนเป็นเอกภาพเกี่ยวกับสงครามยูเครน

เห็นได้ชัดว่าเวียดนามกับ สปป. ลาวมีความเกรงใจรัสเซียในกรณีนี้ไม่น้อย

ขณะที่สิงคโปร์แยกไปอีกทางหนึ่ง กระโดดเข้าข้างสหรัฐฯ และประณามรัสเซียอย่างไม่เกรงอกเกรงใจเช่นกัน

สมาชิกอาเซียนอื่นรวมทั้งไทยพยายามจะรักษา “จุดยืนเป็นกลาง” คือประณามสงคราม, เรียกร้องให้มีการหาทางออกผ่านการเจรจา, ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของยูเครน แต่ไม่ถึงกับประณามรัสเซีย

จึงน่าสนใจว่าเมื่อผู้นำอาเซียนเจอกับไบเดนจะมีการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้มากน้อยเพียงใด

หรือจะมีทางออกทางการทูตที่มีลักษณะบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นได้หรือไม่

ในเมื่อในสงครามยูเครนนั้นบัวก็ช้ำและน้ำก็ขุ่นคลั่กเต็มทีแล้ว

ทำเนียบขาวแถลงหมายนัดใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 16 เม.ย. ด้วยการตอกย้ำว่าไบเดนให้ความสำคัญต่ออาเซียนอย่างสูง

เรียกมันว่าเป็น top priority หรือจัดลำดับความสำคัญให้ในระดับสูงสุดกันเลยทีเดียว

คงจำได้ว่าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับอาเซียนนั้นมีการนัดครั้งก่อนวันที่ 28-29 มี.ค.

แต่ฝ่ายอาเซียนขอเลื่อน เพราะมีสมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่สะดวกในช่วงเวลานั้น

และกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ก็ขอเลื่อนไปก่อน

นี่ถือเป็น “ซัมมิต” ที่จะเกิดขึ้นเป็นวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียน

ต่อเนื่องจากการที่ไบเดนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและชาติพันธมิตรผ่านระบบออนไลน์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ครั้งนั้นไบเดนประกาศมอบความช่วยเหลืออาเซียนมูลค่า 102 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,366 ล้านบาท ในการต่อสู้กับโควิด-19 และความมั่นคงทางสุขภาพ

รวมถึงใช้สำหรับการรับมือกับภาวะโลกร้อนและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ

 “นี่เป็นความสำคัญสูงสุดสำหรับรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส ในการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง และเชื่อถือได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” น.ส.เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวประกาศและย้ำว่า

 “นี่คือการยืนยันในความปรารถนาที่จะปักหมุดต่อไปในคำมั่นของเราที่จะผลักดันอินโด-แปซิฟิกให้มีอิสระ เปิดกว้าง เชื่อมต่อ และยืดหยุ่น”

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ ไบเดนเพิ่งพบกับหลี่ เสียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เพื่อตอกย้ำว่าสิงคโปร์และชาติในฝั่งแปซิฟิกเป็นพันธมิตรอันดับต้นๆ ที่จะทำงานร่วมกับยุโรปและพันธมิตรอื่น ในการต่อต้านรัสเซีย กรณียกทัพบุกยูเครน

แต่ในการลงมติในสหประชาชาติ และการแถลงจุดยืนของแต่ละชาติสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน              (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม)

มีความเห็นต่างอย่างชัดเจนในการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา หลังเหตุการณ์รัฐประหารโค่นอำนาจนางออง ซาน ซู จี เมื่อปีก่อน

อาเซียนบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อให้คณะรัฐประหารเมียนมาเปิดการเจรจาหาหนทางสันติกับฝ่ายต่อต้าน      รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยุติความรุนแรง

แต่รัฐบาลทหารเมียนมากลับเลื่อนการทำตามฉันทามติ อ้างว่าต้องให้ประเทศสงบก่อน หลังปราบปรามผู้ประท้วง และเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้าน

ผู้แทนสหประชาชาติระบุว่า นี่เปรียบเสมือนเป็น “สงครามกลางเมือง” แล้ว

รัฐบาลทหารเมียนมาภายใต้การนำของมิน อ่องหล่าย ยังถูก “แสดงความรังเกียจ” โดยบางประเทศในอาเซียนอย่างชัดเจน

อาเซียนไม่ส่งเทียบเชิญนายทหารผู้ปกครองประเทศปัจจุบัน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน

ถือเป็นการฉีกแนวปฏิบัติปกติอาเซียนที่มีหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน”

เดือนที่แล้วคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เคยบอกนักข่าวถึงเรื่องกำหนดการจัดประชุมสุดยอดสหรัฐอเมริกาและผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงวอชิงตัน ที่เดิมเสนอเป็นในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คุณดอนบอกว่างานนี้ถูกเลื่อนออกไป เพราะเป็นปัญหาของฝ่ายอาเซียนเอง

เหตุเป็นเพราะเกือบทุกประเทศสมาชิกติดภารกิจต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติ และทุกครั้งที่ผ่านมาเคยเป็นลักษณะนี้มาตลอด

ดังนั้นเราจึงต้องคอยติดตามดูว่าแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอดนัดพิเศษที่ทำเนียบขาวครั้งนี้จะส่งสัญญาณไปทางไหน

อาเซียนจะถูกมองว่ากำลังถูกไบเดนกดดันหรือไม่

ผู้นำอาเซียนเองจะพูดจากันก่อนไปร่วมประชุมกับไบเดนให้มีท่าทีที่จะเป็นในแนวทางที่ยังแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นเพียงใด

ล้วนเป็นประเด็นท้าทายและละเอียดอ่อนสำหรับไทยและอาเซียนยิ่งนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ