ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประเพณีการปกครองของอังกฤษ (ตอนที่ ๘)

ในกรณีของอังกฤษและรวมถึงประเทศอื่นๆที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ การแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์ (ไม่ว่าจะเป็นองค์รัชทายาทที่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่เป็นทางการก็ตาม)                                                            

และหากมีการแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  และผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์นั้นจะต้องอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป                                               

กรณีของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ อันเป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ หากพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็เข้าข่ายที่จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็จะต้องแต่งตั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลสในฐานะที่เป็นผู้ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์       

 แต่ขณะนั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทรงมีพระชนมายุเพียง ๔พรรษา  ตามกฎหมายถือว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจไม่ได้ เพราะยังทรงพระเยาว์  พระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้ก็ต่อเมื่อทรงพระชนมายุครบ 18 พรรษา (ในกรณีของอังกฤษ เกณฑ์อายุขึ้นที่ครองราชย์ได้และสามารถบริหารพระราชภารกิจได้คือ ๑๘ ปี แต่ในกรณีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีอายุ ๒๑ ปี)  ซึ่งพระองค์จะทรงพระชนมายุ ๑๘ พรรษาในปี ค.ศ. ๑๙๖๖                                                                                         

ดังนั้นตาม พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น  จะต้องแต่งตั้งเจ้าหญิงมากาเรตในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์อันดับถัดไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมายด้วย       ส่วนดยุคแห่งเอดินเบอระ (Duke of Edinburgh) ผู้เป็นพระสวามีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและพระราชบิดาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์ จึงสามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมายอีกด้วย                                                                                     

สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ที่สร้างความยุ่งยากให้กับทั้งสามพระองค์ นั่นคือ ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินเบอระและเจ้าหญิงมากาเรต  จึงทำให้ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นครั้งที่สามในปี ค.ศ.๑๙๕๓  หลังจากที่มีการแก้ไขครั้งแรกไปแล้วในปี ค.ศ. ๑๙๔๓            ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว                                                                    

ดังนั้น หากศึกษาและพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวของอังกฤษ  น่าจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ความยุ่งยากที่คล้ายคลึงกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศอื่นๆ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสถานการณ์ต่างๆด้วย  โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนรัชกาล อย่างที่เกิดขึ้นในคราวที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๙๕๒  ซึ่งนอกจากอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เจ้าฟ้าชายชาร์ลสยังทรงพระเยาว์) ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีปัญหาความยุ่งยากอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับลำดับชั้นของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย นั่นคือ  จากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก ทำให้พระราชินีของพระองค์ไม่อยู่ในรายพระนามในตำแหน่งของผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป                                                                                    

ดังนั้น ในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงควรทำความเข้าใจลำดับชั้นของพระบรมวงศานุวงศ์และผู้ที่อยู่ในลำดับชั้นที่จะสืบราชสันตติวงศ์เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล อีกทั้งรัฐบาลก็ควรจะเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้เข้าใจกฎเกณฑ์ประเพณีดังกล่าว รวมทั้งกฎมณเฑียรบาลด้วย                                                    

ซึ่งในกรณีของไทยนั้นกฎมณเฑียรบาลก็เป็นเอกสารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านกูเกิล (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การสืบราชสันตติวงศ์)                                                                                            

อย่างในกรณีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สถานะของพระองค์ภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอยู่ในสถานะ  “ราชกุมารี”  หรือ “princess royal”  เช่นเดียวกันกับเจ้าฟ้าหญิงแอนในขณะนี้ภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง         แต่ไม่ใช่ “crown princess” หรือ “มกุฎราชกุมารี” ที่อยู่ในสถานะของผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว                                                                                

และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติถือเป็นพระรัชทายาทโดยสันนิษฐาน ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า presumptive heir                            

พระรัชทายาทโดยสันนิษฐาน (presumptive heir) หมายถึงผู้เป็นทายาทอยู่ในสายที่มีสิทธิ แต่อาจจะมีผู้ใดมาแทนเมื่อใดก็ได้ โดยตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช

๒๔๖๗ ในฐานะ “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” และเมื่อทรงพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตําแหน่งสมเด็จพระยุพราช  พระองค์ก็จะทรงเป็นพระรัชทายาทโดยแท้หรือที่เรียกว่า apparent heir  อันหมายถึง องค์รัชทายาท ผู้ที่ไม่สามารถมีผู้ใดมาแทนได้ในการรับตำแหน่งหรือมรดก นอกจากมีเหตุการณ์อันคาดไม่ถึงเกิดขึ้น                                                                                                           

เฉกเช่นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่สามของไทย                                                                                                      

ขณะนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา และจะทรงพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๖๘  นั่นคืออีกสามปีนับจากนี้     

                                   

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ

 ขณะเดียวกัน ก็ควรพึงตระหนักถึงความจำเป็นของสถานการณ์ที่อาจต้องมีแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏในกรณีการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ และ ค.ศ. ๑๙๕๓  และนักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษเองก็คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะต้องมีปรับปรุงให้ทันสมัยอีกในไม่ช้า         เพราะอย่างในกรณีของอังกฤษที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงไปแล้ว  ได้เกิดสภาวะที่มีปัญหายุ่งยากขึ้นอในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ที่อาการพระประชวรของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามทำให้พระองค์ไม่

ทรงสามารถแสดงพระราชประสงค์ (the royal will) ผ่านพระราชหัตถเลขาในช่วงเวลาหนึ่ง  แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระสติปัญญาสมบูรณ์ปรกติ  และกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า พระราชประสงค์ขององค์พระประมุขจะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น                                                                                                            

ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้นึกถึงกรณีของญี่ปุ่น  เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังในช่วงวันที่ ๕-๖ มีนาคม พ.ศ.  ๒๕๖๐   และในการเสด็จเยือนประเทศไทย สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรและทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์                                            

ผู้เขียนได้สอบถามถึงพิธีการดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่สำนักข่าวญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทราบความว่า ในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของญี่ปุ่น      

องค์สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงพระราชทานพระราชสาส์นแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษรแก่เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร                                                                                                                                    

และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตคือ หากมีกรณีที่องค์พระจักรพรรดิไม่ทรงสามารถแสดงพระราชประสงค์ (the royal will) ผ่านพระราชหัตถเลขาในช่วงเวลาหนึ่ง  แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพระสติปัญญาสมบูรณ์ปรกติก็ตาม !   

                

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ (พ.ศ. ๒๕๕๙)     

เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ปัจจุบัน สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490