สงครามยูเครนยืดเยื้อ และหนักหน่วงกว่าที่คิด

สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 54 วันนี้ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างน่ากังวล

เรื่องเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนเพื่อสงบศึกไม่อยู่ในวาระของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ

มิหนำซ้ำยังเกิดประเด็นร้อนแรงใหม่เมื่อฟินแลนด์และสวีเดนประกาศว่าจะขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO แบบ “เร่งด่วน” เพราะสงครามยูเครนทำให้ต้องประเมินสถานการณ์ความมั่นคงของตนใหม่

ทันใดนั้นเอง รัสเซียก็โต้กลับว่าหาก 2 ประเทศนี้เข้า NATO มอสโกก็จำเป็นต้องวางกำลังอาวุธนิวเคลียร์ในทะเลบอลติก

ลืมคำว่า “บอลติกปลอดนิวเคลียร์” ไปได้เลย

การสู้รบดุเดือดย้ายไปมาอยู่ทางตะวันออกและทางใต้...แต่ก็ไม่มีอะไรรับรองว่าปูตินอาจปรับแผนอีกรอบหนึ่งในการที่จะหันกลับไปโจมตีกรุงเคียฟอีกหากประสบความสำเร็จในการยึดเขต Donbas ได้สำเร็จ

ขณะเดียวกันรัสเซียก็เสียฟอร์มไม่น้อยเมื่อเรือลาดตระเวน Muskva ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือรัสเซียในทะเลดำมีอันต้องจมลง

มอสโกบอกว่าเกิดไฟไหม้คลังแสงอาวุธบนเรือ และเมื่อพยายามจะลากเข้าฝั่งก็เจอพายุจนเรือต้องจมลง

ยูเครนอ้างว่าความเสียหายต่อเรือลำนี้เกิดจากฝีมือของทหารยูเครนที่ยิงขีปนาวุธใส่ จนสามารถทำลายสัญลักษณ์แห่งความเป็นเจ้าทะเลดำของรัสเซียได้

ความจริงเป็นเช่นไรต้องรอการพิสูจน์ด้วยหลักฐานของจริง

บางสำนักวิเคราะห์บอกว่ากองทัพรัสเซียมีอันต้อง “ช็อก” เมื่อเรือลาดตระเวนติดตั้งระบบขีปนาวุธมีอันต้องอับปางต่อหน้าต่อตา

เหตุผลทางการคือ เกิดจากพายุพัดเรือสูญเสียการทรงตัวระหว่างการลากเข้าท่าเรือ

นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่าการสูญเสียเรือรบลำนี้เท่ากับเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของรัสเซีย

แย้งกับคำประกาศของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อไม่กี่วันก่อนนั้นว่าปฏิบัติการทางทหารพิเศษของเขาในยูเครนกำลัง "เป็นไปตามแผนการ" ทุกประการ

 อีกทั้งยังถือว่าเป็นความพลาดพลั้งครั้งล่าสุดขณะที่ยังพยายามจะรุกหนักเพื่อยึดเมืองท่า Mariupol ที่อยู่บนฝั่งทะเลดำ แต่ยังไม่สำเร็จตามความมุ่งหมาย

อีกด้านหนึ่งปูตินก็คุยได้ว่าสามารถจะหาทางออก ไม่ต้องขายพลังงานให้กับโลกตะวันตก มอสโกจะหันไปเร่งส่งเสริมการส่งออกก๊าช, น้ำมันและถ่านหินให้ประเทศในซีกโลกตะวันออกมากขึ้น ในจังหวะที่ยุโรปตะวันตกพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

ทุกวันนี้รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติประมาณ 40% จากปริมาณรวมที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ใช้อยู่

มอสโกยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกต่อรัสเซียมีผลกระทบต่อการส่งออกพลังงานของรัสเซีย เพราะทำให้มีความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการชำระเงินและการขนส่งหรือโลจิสติกส์

ด้านอียูก็กำลังหาทางให้มีความร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างกันเองเพื่อแบนการสั่งเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างเป็นเอกภาพ พร้อมกับการหันไปหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน

ปูตินใช้วิธีเร่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน เพราะเป็นประเทศผู้บริโภคพลังงานอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียแทน

ทุกครั้งที่มีจังหวะ ปูตินจะแสดงอาการเย้ยหยันโลกตะวันตกเรื่องนี้

“พวกที่เรียกตัวเองว่าเป็นหุ้นส่วน ซึ่งมาจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร (กับรัสเซีย) ยอมรับกันแล้วว่า พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้หากปราศจากทรัพยากรพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งรวมถึงก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น”

และกระแทกต่อว่า “ในเวลานี้ยุโรปไม่มีตัวเลือกดีอื่นๆ ที่จะมาแทนก๊าซจากรัสเซียได้เลย”

ปูตินรู้จุดอ่อนของประเทศยุโรปตะวันตก

เขาบอกว่าการที่ผู้นำยุโรปออกมาพูดถึงแผนการยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียนั้นเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาพลังงานพุ่งและเกิดความไม่มีเสถียรภาพในตลาดพลังงาน

ปูตินตอกย้ำว่ารัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันเท่ากับ 1 ใน 10 ที่ผลิตได้ทั่วโลก และผลิตก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 1 ใน 5 ของโลก

วันนี้รัสเซียกำลังมองไปที่เอเชียและหาทางออกแบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อยกระดับการผลิตพลังงานให้กับตลาดในเอเชีย

แต่อียูก็ใช่จะนั่งรอให้มอสโกขับเคลื่อนแต่เพียงฝ่ายเดียว

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสั่งห้ามบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ขายอาวุธให้รัสเซีย เพราะทุกวันนี้ยังมีช่องโหว่อยู่

เป็นที่มาของคำประกาศจากอียูที่จะปิดช่องว่างที่อนุญาตให้รัฐบาลประเทศในยุโรปขายอาวุธให้กับรัสเซียมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งๆ ที่มีมาตรการห้ามขายอาวุธให้แก่รัสเซีย ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014

ตัวเลขทางการสะท้อนถึงช่องโหว่ด้านนี้อย่างชัดเจน

ปีที่แล้วสมาชิกอียูขายอาวุธให้กับรัสเซียมีมูลค่ารวม 39 ล้านยูโร หรือ 42.3 ล้านดอลลาร์

เท่ากับเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากปีค.ศ.2020

หากย้อนกลับไป ความจริงอียูเริ่มใช้มาตรการห้ามขายอาวุธให้แก่รัสเซียตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่รัสเซียควบรวมแคว้นไครเมีย โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถขายอาวุธได้หากทำสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2014

ประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างล้วนส่งออกอาวุธไปให้กับรัสเซียทั้งสิ้น

พอรัสเซียส่งทหารเข้ายูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เกิดเสียงวิจารณ์ต่อ “ช่องโหว่” ที่ยังเปิดทางให้อาวุธไหลเข้ารัสเซียได้

ที่ผ่านมาอียูได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว 5 ชุด

แต่การพยายามจะปิดช่องโหว่เรื่องขายอาวุธให้รัสเซียเพิ่งจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนวิพากษ์สมาชิกของอียูบางประเทศที่ยังซื้อพลังงานจากรัสเซีย และที่ยังขายอาวุธให้กับมอสโก

“นี่เท่ากับยุโรปบางประเทศส่งเงินไปให้รัสเซียมีท่อน้ำเลี้ยงที่จะเอามาเข่นฆ่าประชาชนชาวยูเครนชัดๆ...”

สงครามยูเครนทำท่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิดจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ