สักการะพระเขี้ยวแก้ว

“ผู้ใดครองพระเขี้ยวแก้ว ผู้นั้นได้สิทธิ์ครองราชบัลลังก์” ชาวศรีลังกาถือคตินี้สืบต่อกันมาช้านาน แต่หากจะกล่าวใหม่ว่า “ผู้ใดครองราชบัลลังก์ ผู้นั้นได้สิทธิ์ครองพระเขี้ยวแก้ว” ดูจะตรงตามความเป็นจริงมากกว่า

พระเขมาเถรีได้รับพระเขี้ยวเบื้องขวาด้านล่างของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เมืองกุสินารา จากนั้นภิกษุณีผู้เป็นอัครเสวิกาเบื้องขวาท่านนี้ได้นำพระเขี้ยวแก้วไปมอบแด่พระเจ้าพรหมทัต แห่งอาณาจักรกลิงคะ เพื่อทำการปกปักรักษา

กาลล่วงมา 8 ร้อยกว่าปี ถึงสมัยพระเจ้าคูหะสิวะ ขณะกำลังทำสงครามป้องกันการถูกแย่งชิงพระเขี้ยวแก้ว พระองค์ได้มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงเหมมาลาและเจ้าชายทันตกุมาร พระสวามี แอบอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วออกจากพระนครเพื่อเดินทางมายังเกาะลังกา ด้วยเหตุที่ว่าพระเจ้าคูหะสิวะเกรงจะต้านการรุกรานไม่อยู่ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้ามหาเสนา พระมหากษัตริย์กรุงอนุราธปุระ ทั้งทรงหยั่งรู้ว่าในศรีลังกาพระเขี้ยวแก้วจะปลอดภัยจากพวกนอกรีต


เจ้าหญิงเหมมาลาปลอมพระองค์และซ่อนพระเขี้ยวแก้วในมวยผม เดินทางถึงกรุงอนุราธปุระพร้อมด้วยพระสวามีในสมัยการครองราชย์ช่วงต้นของพระเจ้าสิริเมฆวรรณะ (ครองราชย์ พ.ศ.847-875) พระราชโอรสของพระเจ้ามหาเสนา พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญประดิษฐานในพระราชวังพระทันตธาตุ หรือหอพระเขี้ยวแก้วแห่งอนุราธปุระ และเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงพระเขี้ยวแก้วก็ถูกอัญเชิญไปยังราชธานีแห่งใหม่ทุกครั้ง จนกระทั่งมาถึงกรุงกัณฏี หรือแคนดี เมื่อ 4 ร้อยกว่าปีก่อน


วัดพระเขี้ยวแก้วแห่งแคนดี หรือในภาษาสิงหลเรียกว่า “ศรี ดาลาดา มาลิกาวา” ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบแคนดีทางด้านทิศเหนือ อยู่ในเขตพระราชวัง สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย “พระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 1” พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรแคนดี (ครองราชย์ พ.ศ.2133–2147) ทว่ารูปลักษณ์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยพระเจ้าวีระนเรนทรสิงหะ กษัตริย์สายเลือดสิงหลองค์สุดท้ายของศรีลังกา หลังจากนั้นอีก 4 พระองค์ล้วนเป็นกษัตริย์เชื้อสายทมิฬจนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอย่างเด็ดขาดในปี พ.ศ.2358


ผมเดินหาร้านกาแฟเพื่อกินกาแฟแก้วที่สองของวันในช่วงสายๆ ด้วยแก้วแรกที่เกสต์เฮาส์พร้อมอาหารเช้านั้นเป็นกาแฟต้มรสชาติค่อนข้างจืด กาเฟอีนยังไม่ได้ดีกรี เดินหาตามลายแทงในแผนที่กูเกิลไปยังร้าน Hide Away Cafe ยังไม่เปิด เดินไปที่ร้าน Cafe Secret Alley วันนี้คือวันจันทร์ร้านปิด สุดท้ายต้องเข้าไปกินในบาร์ของโรงแรมควีนส์ ได้ดับเบิลเอสเปรสโซมาพร้อมบันและมัฟฟินในตะกร้าจำนวนนับสิบชิ้น ชมพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมของโรงแรมควีนส์ซึ่งมีประวัติน่าสนใจมาก (จะนำมาเล่าในตอนต่อไป) แล้วก็เดินออกจากโรงแรมทางปีกฝั่งทิศตะวันออก ข้ามถนนไปยังประตูทางเข้าวัดพระเขี้ยวแก้ว


ขณะต่อคิวตรวจพาสปอร์ต มีลุงชาวศรีลังกาคนหนึ่งมาจับแขนแล้วถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “คนไทยใช่มั้ย มาๆ มากับลุง” พอผมผ่านเครื่องตรวจสัมภาระและประตูสแกนสิ่งของต้องห้ามมาได้ ผมก็อยู่ในปกครองของลุงแกทันที หน้าตาท่าทางดูแล้วไม่มีพิษภัยหรือเล่ห์กลใดๆ จนถึงขั้นต้องกังวล


แกชื่อ “กัมมาต” อายุ 75 ปี เป็นไกด์ที่มีเทคนิคการหาลูกค้าแปลกๆ เช่นแบบที่ผมกำลังประสบอยู่ แกชี้ไปตรงไหนก็อธิบายสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างชี้ไปที่ธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธงพุทธศาสนาสากลอันมีต้นกำเนิดในศรีลังกา แกก็อธิบายความหมายของแต่ละสีได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ


จากซุ้มประตูทางเข้า เดินไปอีกประมาณ 300 เมตรกว่าจะถึงจุดจำหน่ายตั๋ว ระหว่างทางแกเล่นทายปัญหาเชาว์ฆ่าเวลา เช่น ถามว่า “ประโยคใดในภาษาอังกฤษมีตัวอักษรอยู่ครบทั้ง 26 ตัว” ผมตอบไม่ได้ แกเฉลย “The quick brown fox jumps over the lazy dog” ยังมีอีกหลายข้อ ผมจำได้อีกหนึ่ง นั่นคือ “A handle of a cup lines in which side?” แกคงกะจะให้ตอบ Left side หรือ Right side ผมตอบ Outside แกเฉลยว่าถูก แล้วลั่นหัวเราะ


ตั๋วเข้าวัดพระเขี้ยวแก้วของผมราคา 1,000 รูปี ขณะที่ฝรั่งจากชาติตะวันตกต้องจ่ายกันคนละ 1,500 รูปี ลุงกัมมาตบอกว่าสำหรับประเทศพุทธศาสนาอย่างไทยแลนด์คิดแค่ 1,000 รูปี แต่ผมอ่านข้อความหน้าห้องขายตั๋วเขียนไว้ว่าราคา 1,000 รูปีสำหรับชาวอนุทวีปอินเดียและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ผู้เข้าเยี่ยมชมวัดพระเขี้ยวแก้วทุกคนต้องถอดรองเท้าฝากไว้ในที่ฝาก ผมยื่นรองเท้าผ้าใบให้เจ้าหน้าที่หลังเคาน์เตอร์ เขานำไปวางในชั้นวางด้านหลัง แล้วขอให้ผมปลดเป้ลงจากหลัง รับเป้ไปวางเบียดๆ ในช่องเดียวกับรองเท้า ด้านลุงกัมมาตคว้าตั๋วไปจากมือผมแล้วเดินนำหน้าเข้าสู่ประตูวัด (ประตูสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ)


แกพาผมไปตามจุดสำคัญต่างๆ ของวัด เจ้าหน้าที่ของวัดหลายคนกล่าวทักทายแก ก่อนจะพาผมเดินจาก Handun Kunama หรือหอประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไปยังอาคารพระราชวังเก่า ซึ่งมีห้องหนึ่งจัดแสดงพญาคชสาร “ราชา” ที่ถูกสตัฟฟ์ไว้ (ราชาเป็นช้างที่เคยแห่พระเขี้ยวแก้วในเทศกาล “เอสาละ เปราเหะระ” นาน 50 ปี และเป็นช้างเชือกหลักในพิธีอยู่ถึง 37 ปี) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพูดกับผมจากริมระเบียงพิพิธภัณฑ์วัดพระเขี้ยวแก้วว่า “อย่าเชื่อลุงแกนะ ไม่ว่าแกจะพูดอะไร แกชอบหลอกนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นประจำ”


พอเดินกลับจากชม “ช้างราชา” ใกล้จะถึงหน้าพิพิธภัณฑ์อันตั้งอยู่ติดกับหอพระเขี้ยวแก้ว ลุงกัมมาตขอให้ผมหยุด คงเพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่คนเดิมเห็น แกพูดขึ้นว่า “ลุงขอค่าบริการหน่อย” ผมถามราคา แกตอบว่า “เท่าไหร่ก็ได้?” ผมยังไม่ได้แลกเงิน มีธนบัตรละ 500 รูปีอยู่ 1 ใบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 100 บาท ที่เหลือเป็นใบละ 20 รูปีอีกไม่กี่ใบ แกรับแบงค์ 500 รูปีแล้วถามว่า “มีแค่นี้หรือ?” แกดูเศร้าๆ แต่สุดท้ายก็พูดขึ้นว่า “โอเค โชคดี เจอกันใหม่”


ผมรู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ช่วยไม่ได้ ผมมีเงินแค่นั้น และทัวร์ของแกกินเวลาแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง อีกทั้งผมไม่ได้เป็นผู้เรียกใช้บริการตั้งแต่แรก คิดได้ดังนั้นแล้วก็เดินเข้าพิพิธภัณฑ์วัดพระเขี้ยวแก้ว อาคารหลังนี้เคยเป็นพระราชวัง (หลังใหม่) มาก่อน เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ พอจะคาดการณ์ได้ตั้งแต่ก่อนเข้าวัด ผมจึงหยิบปากกาออกมาจากเป้และฉีกกระดาษจากสมุดบันทึกมา 1 แผ่นเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง ตอนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็จดบันทึกไว้เท่าที่กระดาษมีพื้นที่


ภายในชั้นที่ 1 ของพิพิธภัณฑ์ บริเวณผนังรอบห้องแสดงภาพถ่ายความเสียหายของวัดพระเขี้ยวแก้วหลังจากเหตุการณ์ขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมบุกโจมตีเมื่อ พ.ศ.2541 ความเสียหายเกิดกับตัวพระราชวังด้านนอก ซึ่งถือว่ารุนแรงไม่น้อย นอกจากภาพถ่ายแล้วยังมีภาพจิตรกรรมบนกำแพงพระราชวังที่ถูกทำลายกลายเป็นเศษอิฐเศษปูนชิ้นเล็กชิ้นน้อยและได้นำกลับมาติดกาวปะติดปะต่อกัน จัดแสดงอยู่ในกรอบภาพหลายภาพ
ภายในห้องโถง มีแบบแปลนของพระราชวังเดิม ประวัติการเดินทางของพระเขี้ยวแก้วตั้งแต่เมื่อสมัยอยู่ในอนุทวีปอินเดียจนถึงปัจจุบัน มีจารึกโบราณจัดแสดงประกอบ มีภาพถ่ายพระเขี้ยวแก้ว ภาพถ่ายพิธี “เอสาละ เปราเหระ” หรือการแห่ฉลองพระเขี้ยวแก้ว ตัวอย่างฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน รูปปั้นของ Diyawadana Nilame หรือไวยาวัจกรของวัดพระเขี้ยวแก้วที่ผ่านมาครบทุกท่าน (เริ่มมีไวยาวัจกรดูแลวัดเบ็ดเสร็จหลังจากอังกฤษเข้ายึดครองอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2358) มีธงทองเหลือง ร่มทองเหลือง และกลองแบบต่างๆ


ห้องชั้นที่ 2 จัดแสดงพระพุทธรูปและพระพุทธบาทอยู่ตรงกลางห้อง ฝั่งขวามือคือคัมภีร์ใบลาน งาช้างจากพม่าซึ่งเป็นช้างที่ใช้ในพิธีแห่พระเขี้ยวแก้วนาน 12 ปี งาช้างแกะสลักเป็นรูปต่างๆ เครื่องใช้ไม้สอยเก่าแก่ เหรียญโบราณ ธงราชธานีแคนดี และธงสำหรับทำสงคราม


ปลายห้องฝั่งซ้ายมีรอยพระพุทธบาทผ้าไหมทองคำประดับบนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 2 คูณ 1เมตร รอบๆ แท่นประดับตกแต่งเป็นเขาพระสุเมรุ รอยพระพุทธบาทนี้นำมาจากกรุงศรีอยุธยาโดยพระอุบาลีเถระ นอกจากนี้ยังมีสิ่งของจากประเทศไทยอีกหลายชิ้นที่มีความสำคัญและใช้ในพิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว ปลายห้องฝั่งขวาจัดแสดงตะเกียงโบราณแบบต่างๆ และบานประตูจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกระเบิดโจมตีโดยขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม


เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์คนหนึ่งกวักมือเรียกผม แกเปิดหน้าต่างให้ถ่ายรูปหลังคาของหอพระเขี้ยวแก้ว พอรู้ว่าผมเป็นคนไทยก็ล้วงเหรียญ 10 บาทไทยออกมาเต็มกำมือ แกขอแลกเป็นเงินรูปี เข้าใจว่าคงขอเหรียญจากนักท่องเที่ยวชาวไทย บอกว่าขอไว้เป็นที่ระลึก แต่มีแผนที่จะสะสมเพื่อนำมาแลกเป็นเงินรูปี ผมบอกแกว่าตอนนี้ไม่มีเงินรูปีในกระเป๋า มีแต่เงินบาท เรียกเสียงหัวเราะเจื่อนๆ ออกมาจากทั้งสองฝ่าย


ผมออกจากวัดเพื่อไปกินมื้อกลางวัน กลับที่พัก แล้วตอนเย็นก็กลับมาที่วัดพระเขี้ยวแก้วอีกครั้งเพื่อกราบสักการะพระเขี้ยวแก้วในพิธีรอบ 18.30-19.30 น. (ปกติมีวันละ 3 รอบ อีก 2 รอบ ได้แก่เวลาตี 5 ครึ่ง–7 โมง และ 9 โมงครึ่ง–11 โมง) ตั๋วที่ซื้อไว้ใช้ได้ในวันเดียวกัน


มีเวลาเหลือก่อนพิธีเริ่ม ผมเดินเข้าพิพิธภัณฑ์อีกรอบ เจ้าหน้าที่คนใหม่ หน้าตายังหนุ่มชื่อ “คามาล” เปิดหน้าต่างให้ถ่ายรูปยอดหลังคาของหอพระเขี้ยวแก้วโดยไม่มีตาข่ายลวดของหน้าต่างขวางกั้นเหมือนเมื่อตอนกลางวัน อีกทั้งเห็นหลวงพ่อโตบนเนินเขาห่างออกไปราว 2–3 กิโลเมตรที่ประดับไฟสว่างงดงามมาก


พอกลับลงไปจากอาคารพิพิธภัณฑ์ก็ได้ยินเสียงกลองและแตรประโคมอันเป็นสัญญาณว่ากำลังจะเปิดให้สาธุชนเข้าสักการะพระเขี้ยวแก้ว กลองและแตรบรรเลงอยู่บริเวณชั้นหนึ่งของหอพระเขี้ยวแก้ว ส่วนห้องที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอยู่ชั้น 2
ชาวศรีลังกานำดอกไม้ที่แยกมาเป็นดอกล้วนๆ วางบนแท่นที่ถูกจัดเตรียมไว้ นักท่องเที่ยวงัดกล้องถ่ายรูปขึ้นมาเตรียมถ่ายพระเขี้ยวแก้ว เมื่อได้เวลาเจ้าหน้าที่วัดก็เปิดประตู เผยให้เห็นผอบทองคำ 7 ชั้นลักษณะเหมือนพระเจดีย์ อยู่ในห้องกระจกกันกระสุน


ผู้ศรัทธาเดินแถวต่อคิวเข้าไปไหว้พระเขี้ยวแก้วจากหน้าประตูที่เพิ่งเปิดออก คงเพราะพื้นที่ตรงนี้แคบและคนต่อคิวเยอะจึงไม่เหมาะที่จะก้มลงกราบกับพื้น ด้านในของประตูห้องพระเขี้ยวแก้วมีพานขนาดใหญ่รองรับดอกไม้ พอถึงคิวของผมก็หันไปถามเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งว่าวางเงินทำบุญในพานได้ไหม แกพยักหน้า


ผมไหว้สักการะแล้ววางเงินทำบุญ มองไปยังพระเขี้ยวแก้ว ถึงไม่เห็นพระเขี้ยวแก้ว แต่พระเขี้ยวแก้วก็อยู่ในผอบทองคำที่มองเห็น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมดปัญญา...เทวดาต้องรอด

เวลานี้ มีคนบางคนทำผิดกฎหมาย ไม่ให้ค่ารัฐธรรมนูญ บดขยี้กระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ แล้วปรากฏว่าเขาไม่มีความผิดใดๆ ไม่มีหน่วยงานใด ไม่มีกฎหมายมาตราใดจะเอาโทษเขาได้

ว่าด้วยความสำคัญของ 'จังหวะ' และ 'โอกาส'

อาทิตย์นี้...ก็ 22 ธันวา.เข้าไปแล้ว อีกแค่ไม่กี่วันก็ถึงช่วงจังหวะ คริสต์มาส ที่คงมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง บทเพลงอันสุดจะซาบซึ้ง ตรึงใจ ไม่ว่าประเภท จงกระเบน-จงกระเบน (Jingle Bells)

ตั้ง'นายพล'ไปต่อ

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จำนวน 41 นาย ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

นักการเมืองไม่ทำชั่ว...ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร

นายกรัฐมนตรี 2 คนที่มาจากตระกูลชินวัตรต้องถูกยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทำให้นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นหมายเลข 1 ของตระกูลชินวัตรมีความประหวั่นพรั่นพรึงการทำรัฐประหารของทหารเป็นอย่าง

'หิริ-โอตตัปปะ'คือวาระแห่งชาติ!!!

คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า...ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ความอาย หรือจะเรียกภาษาพระ ภาษาบาลี ประมาณว่า หิริ-โอตตัปปะ ก็คงพอได้ นับวันมันชักเป็นอะไรที่ ขาดแคลน

'เห็นลิ้นไก่' แก้ กม.กลาโหม

ป่วนกันทั้ง "กรมปทุมวัน" หลังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัยกรณีตำรวจยศ พ.ต.อ. ตำแหน่งนักบิน (สบ 5) รายหนึ่ง