วิกฤตของศรีลังกาวันนี้มีบทเรียนสำหรับหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
บทเรียนสำคัญที่สุดคือ อย่าได้นึกว่าประเทศที่เคยมีเศรษฐกิจเข้มแข็งจะไม่กลายเป็น “รัฐล้มเหลว” หากไม่ยึดมั่นในหลักแห่งความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน
อีกบทเรียนที่สำคัญคือ การเมืองเรื่องวงศ์ตระกูลนั้นเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่ออนาคตของบ้านเมืองยิ่งนัก สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ประท้วงชาวศรีลังกาปิดทางเข้าสำนักงานประธานาธิบดีเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี “โกตาบายา ราชปักษา” แสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในขณะนี้ ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
ผู้ประท้วงหลายร้อยคนฝ่าสายฝนออกไปชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และหลีกทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นบริหารประเทศ
ศรีลังกาเป็นประเทศในเอเชียใต้ มีประชากร 20 ล้านคน เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
ชาวสิงหลเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดใหญ่ก็มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของเกาะเช่นกัน
ชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ที่ปักหลักในประเทศมายาวนาน ได้แก่ ชาวมัวร์ ชาวเมือง ชาวมาเลย์ จีน และชาวเวดดา
ศรีลังกามีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีส่วนร่วมกับกลุ่มนานาชาติสมัยใหม่ โดยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของ SAARC และเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เครือจักรภพแห่งชาติ G77 และขบวนการที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตครั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีอันดับสูงสุดในดัชนีการพัฒนามนุษย์ และมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับสองในเอเชียใต้ แต่วันนี้… ประเทศนี้เข้าใกล้เส้นล้มละลาย
วิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงิน เงินเฟ้อพุ่งพรวดพราด ตามมาด้วยวิกฤตด้านมนุษยธรรมอันเนื่องมาจากการขาดแคลนสิ่งของจำเป็นอย่างรุนแรง
นำไปสู่การปะทุของการประท้วงตามท้องถนน โดยประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีและรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง
ขวา-น้องชาย (โกตาบายา ราชปักษา) เป็นประธานาธิบดี และซ้าย-พี่ชาย (มหินทรา ราชปักษา) เป็นนายกรัฐมนตรี
ความไม่พอใจของผู้ประท้วงพุ่งเป้าไปที่ครอบครัวราชปักษา ซึ่งยึดทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลอีกมากมาย
ตระกูลนี้ปกครองศรีลังกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักต่อผู้มีอำนาจที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนชาวบ้านไม่มีน้ำ, ไม่มีไฟฟ้า, ตกงาน และราคาข้าวของแพงอย่างรุนแรงนั้น มาจากปัญหาหลักๆ เช่น
ทั้งประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ต่างใช้นโยบายกู้ยืมเงินก้อนมหาศาลจากต่างชาติ
เป็นเงินกู้ที่เอาไปใช้ในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
เป็นโครงการที่ถูกวิจารณ์มาระยะหนึ่งเพราะไปโยงกับเงินกู้จากจีน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road ของจีน และเป็นที่มาของคำวิจารณ์ว่าจีนได้ทำให้ศรีลังกาเข้าสู่ “กับดักหนี้” หรือ Debt Trap
วันนี้ศรีลังกากำลัง “ใกล้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย” ด้วยหนี้ระหว่างประเทศราว 25,000 ล้านดอลลาร์ มีกำหนดชำระหนี้ภายในปีนี้เกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่าจำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด
แรกเริ่มรัฐบาลพยายามจะขอเงินกู้จากจีนและอินเดียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจใหญ่กว่าตนมาก แต่เพราะความหนักหนาของปัญหา จึงต้องมองหาทางอื่นเพื่อบรรเทาวิกฤต ไม่ให้กลายเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้
ทางการศรีลังกามีกำหนดหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในเดือนนี้
อีกส่วนหนึ่งก็ต้องกู้ยืมเงินฉุกเฉินจากจีนและอินเดีย
ไม่ใช่เพียงแต่คืนเงินกู้ แต่ยังต้องหาเงินมาซื้อหาอาหารและเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันแสนสาหัสของประชาชนด้วย
ภาพความรันทดของชาวศรีลังกามีให้เห็นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เราเห็นภาพข่าวชาวศรีลังกาเข้าคิวยาวเพื่อรอซื้อเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม อาหารและยา ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งแพงขึ้นอย่างรุนแรง
ซ้ำร้าย พอมีปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง รัฐบาลไม่มีทางเลือก ต้องตัดไฟฟ้าวันละหลายชั่วโมง เพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับชาวบ้านทั่วประเทศอย่างรุนแรง
ตระกูล “ราชปักษา” คือที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง
เป็นที่รู้กันว่าอิทธิพลบารมีทางการเมืองของตระกูลนี้เริ่มด้วยบทบาทของนายกรัฐมนตรี “มหินทรา ราชปักษา” ตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ช่วงปี 2009
เขาได้รับความชื่นชอบจากประชาชนขณะนั้นด้วยผลงานที่สามารถยุติสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่ลากยาวมาถึง 25 ปี
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าตระกูลนี้จะสามารถผูกขาดอำนาจการเมืองในทุกๆ ด้านอย่างยาวนานเช่นนี้
เพราะคนจากตระกูลนี้ได้ตำแหน่งแห่งหนในกระทรวงทบวงกรมมากมายโดยไม่ตระหนักถึงภาพลักษณ์และความรู้สึกของคนที่มองว่านี่เป็นการเมืองที่ส่งต่อจากสมาชิกคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งในครอบครัวอย่างไม่รับผิดชอบ
จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือการที่ชาวศรีลังการู้สึกว่า เมื่อคนในตระกูลเดียวกันบริหารบ้านเมืองในเกือบทุกมิติ ก็ย่อมจะกระทบกับความเป็นอิสระในการบริหารประเทศ
พอเกิดวิกฤต แทนที่จะแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมืออาชีพในแก้ปัญหา กลับยังรักษาฐานอำนาจของคนกลุ่มเดียวกันเอาไว้
ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ได้เสนอการจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” เพื่อรับมือกับวิกฤตที่มีแต่เสื่อมทรามลง แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย
ต่อมารัฐมนตรีหลายคนยื่นใบลาออกพร้อมกัน ตามมาด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 40 คนก็ประกาศลาออกเช่นกัน ทำให้รัฐบาลขาดเสียงข้างมากในสภา
แต่ผู้นำตระกูลนี้ก็ยังไม่ยอมยุบสภาให้ประชาชนตัดสินชะตากรรมของตน กลายเป็นรัฐล้มละลายในภาวะล้มเหลว เพราะการเมืองที่อำนาจกระจุกตัวและนโยบายที่ผิดพลาดจนประชาชนตกนรกเศรษฐกิจกันทั้งประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ