หากกล่าวกันตามความเป็นจริง ศรีลังกา หรือชื่อเดิมคือ “ราชารตะ” อันมีเอกราชสืบต่อมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าวิชัยที่เสด็จมาจากดินแดนในอนุทวีปอินเดียและได้ก่อตั้ง “ราชอาณาจักรทัมบาปันนี” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1 นั้น ไม่เคยครอบครองแผ่นดินได้ทั่วทั้งเกาะลังกา นั่นคือยังมีอาณาจักรทางใต้ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่เป็นอิสระจากราชารตะ
และในยุคที่ศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก นั่นคือโปรตุเกสในปี พ.ศ.2162 ตามด้วยดัตช์หรือฮอลันดาประมาณปี พ.ศ.2199 ฝรั่งทั้งสองชาตินี้ไม่เคยได้ดินแดนศรีลังกาทั่วทั้งเกาะเช่นกัน
อย่างน้อยก็เหลือ “กรุงกัณฏี” หรือ “แคนดี” อยู่รอดปลอดภัยเรื่อยมา ด้วยชัยภูมิที่ดีเยี่ยม มีปราการเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน แถมยังมีหลายครั้งที่ทำสงครามกองโจร ลอบฆ่าและขับไล่ตะวันตกผู้รุกรานจนเตลิดเปิดเปิง
แม้แต่ในยุคบริษัทบริติชอีสต์อินเดียของอังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลันดาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2339 แคนดีก็ยังอยู่ยงคงอิสรภาพไว้ได้อีกถึง 2 ทศวรรษ รวมแล้วราชอาณาจักรแห่งนี้สามารถต้านทานการบุกโจมตีของมหาอำนาจตะวันตกได้นานถึงราว 250 ปี
ขออนุญาตคั่นสงครามของอังกฤษ-ศรีลังกาไว้ชั่วคราวด้วยมีเรื่องราวในแคนดีที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยอีก 1 กรณี นอกเหนือจากเรื่องพระอุบาลีและสมณทูตสยามที่เข้ามาฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกาตามที่ได้กล่าวถึงไปเมื่อตอนที่แล้ว
พระเจ้าวีรนเรนทราสิงหะ แห่งราชวงศ์ดินาจาระ ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาวสิงหลได้สวรรคตลงเมื่อ พ.ศ.2282 พระองค์ไม่มีรัชทายาทที่ประสูติแต่พระมเหสี อีกทั้งไม่มีพระเชษฐาและพระอนุชา แม้ว่าจะมีพระโอรสจากสนมชาวสิงหล แต่เมื่อไม่มีเชื้อเจ้าก็ไม่สามารถขึ้นครองราชบัลลังก์ได้ตามโบราณราชประเพณี
ในยุคที่แคนดีมีภัยจากชาติตะวันตก การผูกมิตรกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เห็นการอภิเษกสมรสของกษัตริย์แคนดีกับพระมเหสีจากมาดูไรหรืออาณาจักรชาวทมิฬอื่นๆ ทางใต้ของอินเดียอยู่บ่อยครั้ง
พระมเหสีของพระเจ้าวีรนเรนทราสิงหะนั้นมาจากราชวงศ์นายกะ หนึ่งในอาณาจักรชาวทมิฬจากทางใต้ของอินเดีย พระนางมีพระอนุชาซึ่งมาพำนักในราชสำนักแคนดีตั้งแต่ยังเยาว์ เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชาวสิงหลเป็นอย่างดีรวมถึงพุทธศาสนา ได้ขึ้นครองบัลลังก์ศรีลังกา เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์นายกะ มีพระนามว่า “พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ” โดยเวฬิวิตะ สรณังกร หรือ “สามเณรสรณังกร” ผู้มากบารมีก็ให้การสนับสนุน
ทว่าชาวสิงหลและข้าราชการในราชสำนักจำนวนหนึ่งไม่ค่อยสบอารมณ์นักที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินสืบเชื้อสายทมิฬ พูดภาษาทมิฬและเตลูกู นับถือศาสนาฮินดู สักการะพระวิษณุ ตามหลักความเชื่อของไวษณพนิกาย
พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะครองราชย์ได้ 8 ปีก็สวรรคต กษัตริย์องค์ต่อมาก็ยังเป็นราชวงศ์นายกะ นั่นคือ “พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ” ผู้เป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ (เทวันหรือพี่เขยของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ) โดยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเองทรงเติบโตมาในราชสำนักแคนดีเช่นเดียวกัน และสามเณรสรณังกรก็ให้การสนับสนุนเหมือนเช่นเคย แม้ว่าพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะยังทรงเจิมพระนลาฏแบบฮินดู เป็นสมมติเทพที่ทำให้ขุนนางและประชาชนรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง และยังมองว่าอาจเป็นภัยต่อพุทธศาสนาที่มีสภาพตกต่ำอยู่แล้วในเวลานั้น
หลังคณะสมณทูตจากสยามเข้ามาอุปสมบทสามเณรและกุลบุตรสิงหลเป็นพระภิกษุจำนวนหนึ่งแล้ว ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ที่กรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระธรรมราชาที่ 2 หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ได้ไม่เท่าไหร่ พระเจ้าเอกทัศ พระเชษฐาร่วมอุทรก็ทรงแย่งราชบัลลังก์จากพระอนุชาไปดื้อๆ
ฝ่ายที่ไม่พอใจนำโดยพระองค์เจ้าแขกเต้า หรือ “กรมหมื่นเทพพิพิธ” ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับพระสนม ได้วางแผนแย่งราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร แต่พระเจ้าอุทุมพรกลับนำเรื่องไปทูลพระเจ้าเอกทัศเพราะทรงหวั่นว่าหากร่วมมือกับกรมหมื่นเทพพิพิธอาจจะถูกทรยศ โดนสำเร็จโทษทั้ง 2 พระองค์ พระเจ้าเอกทัศจึงมีพระบัญชาให้จับตัวคณะผู้คิดก่อกบฏ และสั่งเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธมายังเกาะลังกา ตรงกับ พ.ศ.2302
ประวัติที่ทางศรีลังกาเขียนไว้ อ่านจาก https://medium.com/notes-from-the-margins/a-thai-prince-in-a-kandyan-coup-b925ae243f32 เรื่อง A Thai Prince in a Kandyan Coup โดย Thilina Panduwawala มีว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อเดินทางมาถึงเกาะลังกา ทางราชอาณาจักรแคนดีไม่มีใครทราบว่าพระองค์ถูกเนรเทศ จึงได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธได้ประทับอยู่ที่วัดบุปผารามหรือวัดมัลวัตตะในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญรองเพียงวัดพระเขี้ยวแก้ว
ขุนนางชั้นสูงที่ไม่พอใจเรื่องกษัตริย์เชื้อสายทมิฬ อีกทั้งพระสงฆ์ศรีลังกา อันมีภิกษุสรณังกรร่วมด้วย ได้วางแผนปลงพระชนม์พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ โดยคณะสงฆ์สยามรู้เห็นเป็นใจ ตามแผนการที่วางไว้เมื่อโค่นกษัตริย์ทมิฬลงได้แล้วก็จะสถาปนาเจ้าชายจากสยามขึ้นเป็นกษัตริย์ศรีลังกา เหตุผลสำคัญคือสยามเป็นเมืองพุทธและกษัตริย์สยามทรงเป็นพุทธมามกะ อันจะส่งผลดีต่อพุทธศาสนาในศรีลังกากว่ามีกษัตริย์เป็นฮินดู
เอกสารประวัติศาสตร์ฝ่ายศรีลังกายังเชื่อด้วยว่าฮอลันดาเองก็ให้การสนับสนุนหรืออย่างน้อยหากการโค่นล้มทำสำเร็จฮอลันดาก็ได้รับประโยชน์ เนื่องจากเวลานั้นแคนดีฝ่าฝืนสนธิสัญญาการค้ากับฮอลันดาหลายข้อ โดยเฉพาะการค้าขายของราชวงศ์นายกะกับทางใต้ของอินเดีย แถมยังสื่อสารสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นจากยุโรป เช่นอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะราชวงศ์นายกะไม่ต้องการพึ่งพาฮอลันดาแต่เพียงฝ่ายเดียว
เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันหนึ่งของปี พ.ศ.2303 ประเพณีทางศาสนาถูกจัดขึ้นที่วัดบุปผาราม พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเสด็จไปร่วมในพิธี พระที่นั่งเก้าอี้ถูกจัดไว้โดยมีหลุมด้านล่าง มีผ้าหรือพรมปิดทับอยู่ ในหลุมคืออาวุธที่ปักปลายแหลมชี้ขึ้นด้านบน หากพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะประทับลงบนเก้าอี้ก็ไม่แคล้วร่วงลงไปถูกอาวุธเสียบร่าง เดชะบุญมีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้แจ้งข่าวนี้กับพระองค์ไว้ก่อน และเมื่อเสด็จไปถึงในพิธีก็ทรงสำรวจเก้าอี้พบว่าคำเตือนเรื่องหลุมพรางเป็นความจริง
บทความนิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็ยืนยันไว้ใน https://www.silpa-mag.com/history/article_68975 โดยระบุตอนนี้ไว้ว่า
“...พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์เสด็จไปวัดบุปผาราม พร้อมด้วยนายทหารรักษาพระองค์ ก่อนประทับนั่งทรงใช้ไม้เท้าเขี่ยผ้าออก ได้ทอดพระเนตรเป็นหลุมตามที่พระฮุลังคะมุเวทูลไว้ ทำให้พระองค์ทรงมั่นพระทัยว่า มีคณะผู้ไม่หวังดีต่อพระองค์ รับสั่งทหารให้จับคณะผู้ก่อการกบฏทั้งหมดทันที และนำไปประหารชีวิตที่อัมปิเย”
คนเก่าคนแก่อย่างพระสรณังกรถูกจับไปขังในหมู่บ้านห่างไกล ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธและพระสงฆ์สยามจำนวนหนึ่งถูกขับออกจากเกาะลังกา
ความสัมพันธ์ระหว่างแคนดีกับฮอลันดาย่ำแย่ลงไปอีก ไม่นานหลังแผนลอบปลงพระชนม์ล้มเหลว กรุงแคนดีสนับสนุนกลุ่มกบฏที่มาตารา เมืองชายทะเลทางใต้ เขตปกครองของฮอลันดา โดยฝ่ายกบฏทำได้ดีในช่วงต้น แต่เมื่อดัตช์เรียกกองกำลังเสริมมาจากอินเดียและเกาะชวา ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม
มีเอกสารของฮอลันดาเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2304 ช่วงเวลาเดียวกับการเกิดกบฏที่มาตารา ระบุถึงกรณีพระสรณังกรถูกคุมขังในหมู่บ้านนอกกรุงแคนดี แต่ยังสามารถวางแผนป่วนราชบัลลังก์อยู่ได้เรื่อยๆ ภาพใหญ่คือการเดินตามแผนเดิมที่หวังอัญเชิญเจ้านายจากสยามขึ้นครองบัลลังก์ศรีลังกา โดยพยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากดัตช์
เดือนกันยายน พ.ศ.2305 “ลุบเบิร์ต ยาน ฟาน เอ็ค” ทูตดัตช์เดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจรจาความเมืองเรื่องลับกับราชสำนักสยาม เอกสารนี้ระบุว่าเพื่อขอพบกรมหมื่นเทพพิพิธหรือพระบุตรองค์ใดองค์หนึ่ง (มีพระบุุตร 5 องค์)
ฮอลันดาพยายามอีกครั้งในปี พ.ศ.2307 แต่เป็นช่วงเวลาที่กองทัพพม่ากำลังบุกทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ทำให้ความความหวังของฮอลันดาเรื่องเจ้าชายสยามกับราชบัลลังก์ศรีลังกาจบสิ้นลง สยามต้องเสียกรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน พ.ศ.2310
อย่างไรก็ตาม ดัตช์สามารถทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับศรีลังกาได้ในปี พ.ศ.2309 ส่งผลให้ศรีลังกาต้องพึ่งพาดัตช์ไปอีก 30 ปี ก่อนอังกฤษเข้ายึดศรีลังกาต่อจากดัตช์ในปี พ.ศ.2339
หลังพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะสวรรคต “พระเจ้าราชาธิราชสิงหะ” ซึ่งเป็นพระอนุชา ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นเวลา 18 ปี จากนั้นก็มาถึง “พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะ” ผู้เป็นพระราชภาคิไนยหรือหลานของพระเจ้าราชาธิราชสิงหะ
ในยุคของพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะ พระองค์ต้องเผชิญกับการโค่นล้มราชบัลลังก์อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะจาก “มุตตุสามี” พระเทวันหรือพี่เขยของพระเจ้าราชาธิราชสิงหะ ผู้ที่ต่อมาได้หนีไปอยู่ในดินแดนที่อังกฤษยึดครองและยุยงปลุกปั่นให้ราชสำนักแคนดีเกิดความระส่ำระสาย
ยังไม่หมดแค่นั้น “ปิลิมา ตาละวี” หัวหน้าคณะเสนาบดีได้หนีไปอยู่กับฝั่งอังกฤษและบอกความลับเส้นทางการเดินทัพที่เข้าถึงแคนดีได้ง่ายแก่ฝ่ายอังกฤษ ต่อมาพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะสั่งประหารครอบครัวของปิลิมาตาละวี
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2346 อังกฤษส่งกำลังอย่างน้อย 5 กองร้อย ทั้งทหารอังกฤษ ทหารมาเลย์ และทหารรับจ้างสิงหลและชนพื้นเมือง บุกแคนดีตามคำแนะนำของเสนาบดีผู้ขายชาติ หลังจากสู้รบจนกองทัพอังกฤษบุกถึงกรุงแคนดีก็พบว่าฝ่ายแคนดีหนีเข้าป่าไปก่อนแล้ว พวกอังกฤษจัดตั้งกองทหารรักษาการณ์ขึ้น และสถาปนามุตตุสามีขึ้นเป็นกษัตริย์หุ่นเชิด แต่ไม่นานก็ถูกต่อต้านจากชาวเมือง และสงครามกองโจรที่เคยใช้ได้ผลหลายครั้งก็เข้าหลอกหลอนฝ่ายอังกฤษ ทหารรับจ้างแปรพักตร์ไปเข้ากับราชสำนักแคนดี การโต้กลับของฝ่ายแคนดีในเดือนมีนาคมทำให้ฝ่ายอังกฤษเสียชีวิตและถูกจับประหารเป็นจำนวนมาก เหลือชีวิตรอดกลับไปเล่าเรื่องราวไม่กี่คน
อังกฤษยังคงไม่ละความพยายาม อีก 1 ปีต่อมาพวกเขาบุกแคนดีอีกรอบแต่ก็ต้องกระเจิดกระเจิงกลับไป ทว่าแคนดีเองอ่อนแอลงไปอย่างมาก ทะเลสาบแคนดีที่เพิ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2350 ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเพราะไม่มีประโยชน์ในทางเกษตรกรรม พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะทรงไม่วางใจข้าราชสำนัก ตาละวีก่อกบฏจนเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ ข้าราชสำนักหลายคนถูกประหารชีวิต พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะเริ่มไม่ใส่พระทัยในการธำรงพุทธศาสนา ทั้งยังยึดที่ดินและทรัพย์สินของวัด ทำให้ข้าราชสำนักจำนวนมากมีใจเอนเอียงไปทางอังกฤษ
เอหิลีโปละผู้มาแทนตาละวีก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิ่งทำให้พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะเสื่อมความนิยมลงไป ในที่สุดครอบครัวของหัวหน้าคณะเสนาบดีคนใหม่ถูกสั่งประหารชีวิต ขณะที่เอหิลีโปละหนีไปได้ ข้าราชสำนักแสดงท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ทั้งยังมีส่วนร่วมบุกเผาพระราชวังแคนดีและหนีไปเข้ากับฝ่ายอังกฤษ
หลังจากทิ้งเวลาไปแรมทศวรรษ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2358 อังกฤษบุกโจมตีอีกครั้ง คราวนี้ถูกกองทัพสิงหลต่อต้านเพียงประปราย ทัพอังกฤษเข้ายึดแคนดีได้โดยง่าย จับพระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะจากที่ซ่อนแล้วส่งลงเรือไปยัง Vellore Fort ป้อมปราการของอาณานิคมอังกฤษในรัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะสวรรคตในอีก 17 ปีต่อมา โอรสของพระองค์ไม่มีทายาทสืบเชื้อสาย เสียชีวิตในปีอีก 10 ปีให้หลัง
พ.ศ.2358 จึงเป็นปีที่อังกฤษยึดศรีลังกาทั้งเกาะได้อย่างเบ็ดเสร็จ เกิดสนธิสัญญาแคนเดียน ลงนามโดย “เซอร์ โรเบิร์ต บราวน์ริก” ผู้ว่าการบริติชซีลอนในเวลานั้นกับฝ่ายข้าราชสำนักและเสนาบดีที่ส่วนใหญ่นิยมอังกฤษมากกว่ากษัตริย์เชื้อสายทมิฬ
และด้วยความหวังลึกๆ ว่าตนเองจะขึ้นเป็นใหญ่ในอนาคตแทนทั้งกษัตริย์ทมิฬและเจ้าอาณานิคมอังกฤษ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!
ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก
ช่วงเค้าลางคดีสำคัญของนายกรัฐมนตรีก่อตัวในดวงเมือง
ขอพักการทำนายเค้าโครงชีวิตคนปี 2568 ไว้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวที่รออยู่คือท่านที่ลัคนาสถิตราศีตุล
ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ
ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร
จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย