สงครามยูเครนกับแรง กระเพื่อมต่ออาเซียน

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศออกข่าวที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งว่า

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๑-๒ เมษายน ๒๕๖๕ ณ เมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยจะนำคณะผู้แทนภาคเอกชนของไทยร่วมคณะเดินทางด้วย เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และสถานการณ์โลก

ในการเยือนครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดการพบหารือกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และกับนายหวัง ชิงเซี่ยน ผู้ว่าการมณฑลอานฮุย พร้อมด้วยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลอานฮุย ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๕ และจะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงค่ำของวันเดียวกัน

 (พรุ่งนี้จะได้อ่านถ้อยแถลงของคุณดอนกับหวังอี้ประเด็นสงครามยูเครนหลังการพบปะกันวันนั้น)

หากเป็นการเยือนจีนของคุณดอนเกิดขึ้นในภาวะปกติก็คงจะไม่เรียกความสนใจอะไรเป็นพิเศษ

แต่เป็นจังหวะของสงครามยูเครน และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้เห็นภาพของนายกฯ สิงคโปร์ หลี่ เสียนหลง บินไปจับมืออย่างสนิทสนมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน

หลังจากนั้นผู้นำสิงคโปร์ก็ตอกย้ำจุดยืนของประเทศนั้นต่อกรณีสงครามยูเครนว่า

 “เราไม่ได้เลือกข้าง แต่เรายึดหลักการแห่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน”

เป็นเวลาเดียวกับที่ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แห่งศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งพาดหัวบทความมาให้ผมอ่านอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

อาจารย์พาดว่านี่คือ “มหายุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกปะทะมหายุทธศาสตร์ ความริเริ่มแถบและเส้นทาง”

โดยเท้าความว่า ต้ังแต่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้ สหรัฐฯ ได้แจ้งเรื่องเชิญผู้นำอาเซียนไปประชุมที่วอชิงตัน ดีซี โดยให้วันมาเฉพาะวันที่ โจ ไบเดน ว่างสำหรับผู้นำอาเซียน

ดูเหมือนจะเป็นการกำหนดวันเวลามาโดยที่ไม่หวังว่าจะมีการต่อรองจากผู้นำอาเซียน โดยยึดเอาเวลาที่สหรัฐฯ สะดวกเป็นเกณฑ์

เหมือน “ไม่สนใจว่าผู้นำอาเซียน 10 ประเทศจะว่างหรือไม่”

เป็นข้อสังเกตที่นักวิเคราะห์ไทยหลายท่านก็ได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้เช่นกัน

แหล่งข่าวของอาจารย์ปิติแจ้งว่า รัฐบาลไทยตอบรับจะไปประชุมกับสหรัฐฯ

แต่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนแจ้งว่า ผู้นำอาเซียนมากกว่าหนึ่งคนไม่สะดวกประชุม เพราะติดภารกิจที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า ก็จึงต้องเลื่อนการประชุดสุดยอดไปก่อน อย่างไม่มีกำหนด

แต่แล้วเราก็เห็นผู้นำสิงคโปร์บินไปวอชิงตันคนเดียว

ไม่ใช่ในฐานะผู้แทนอาเซียน หากแต่ไปในฐานะเป็นมิตรสนิทกับสหรัฐฯ

อาจารย์ปิติตีความว่า การที่หลี่ เสียนหลง แยกตัวบินเดี่ยวไปวอชิงตันนั้น อาจถือว่าเป็นการ “ไปรับคำสั่งและแสดงตนชัดเจนในฐานะ agent แห่งภูมิภาค”

                    ส่วนไทยแสดงความเข้าใจสถานการณ์ และเคารพมติอาเซียน

ที่สร้างความน่าตื่นเต้นสำหรับผู้เฝ้าสังเกตความเป็นไประหว่างประเทศในช่วงนี้ คือรัฐมนตรีต่างประเทศจากอาเซียน 4 ประเทศบินไปคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนนั่นเอง

ในช่วง 31 มีนาคม - 3 เมษายน ที่ใกล้ๆ กับการไปเยือนอเมริกาของนายกฯ สิงคโปร์

รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 4 ประเทศอาเซียนที่ว่านี้ อาจารย์ปิติเสริมความสำคัญของแต่ละประเทศให้ได้รับทราบด้วย นั่นคือ

อินโดนีเซีย (เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน 260 ล้านประชากร และเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก)

ไทย (จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ การเชื่อมโยงเหนือ-ใต้ และมหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก)

ฟิลิปปินส์ (ที่ความสัมพันธ์ในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องซับซ้อน นึกภาพการร่วมสำรวจทรัพยากรกับจีน แต่มีฐานทัพสหรัฐ)

เมียนมา (จุดเชื่อมโยงเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีทรัพยากรมหาศาล และมีทหารคุมประเทศได้ไม่สมบูรณ์)

ดร.ปิติบอกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ผู้นี้กำลังเล่นบท “พี่นี้มีแต่ให้” เสียด้วย 

มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างไทย อินโดนีเซีย และกัมพูชา                   สงครามยูเครนจะกระทบการประชุมสุดยอด G-20 ที่อินโดฯ เป็นเจ้าภาพปลายปีนี้ และประชุมสุดยอด APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และ ASEAN + EastAsia Summit ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพอย่างไร

เพราะไบเดนได้ประกาศจะสกัดรัสเซียไม่ให้เข้าร่วมประชุม G-20

นั่นย่อมกระทบการประชุมสุดยอด APEC และ ASEAN บวกๆ ในปลายปีนี้เช่นกัน

อาจารย์ปิติบอกว่ากัมพูชาเดินเกมสไตล์ ฮุน เซน ที่ฉลาดล้ำ

คือ “ไม่เอาใจสหรัฐ และรักษาระยะห่างจากจีน”

อีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.ปิติตั้งประเด็นคือ

 “ในขณะเดียวกันต้องอย่าลืมว่า ฮุน เซน พึ่งได้คุยกับ Fumio Kishida นายกฯ ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นขอกัมพูชาหลายเรื่อง และต่อว่ากัมพูชาหลายเรื่อง สิ่งที่ฮุน เซน ตอบกลับคือ คุณขอผม ผมยินดีให้ คุณต่อว่าผม ผมยอมรับ แล้วคุณอยากให้ผมแก้มั้ยล่ะ ถ้าอยาก คุณส่งเงิน ส่งคน ส่งความช่วยเหลือมาซิ ผมจะค่อยๆ ปรับให้…”

น่าสนใจครับว่า “สมการแห่งอำนาจใหม่” ในเอเชียจะผันเปลี่ยนไปอย่างไร

ขณะที่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าสงครามยูเครนจะออกหัวออกก้อยอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ