การกระชับไมตรีระหว่าง ‘รูเบิล’ กับ ‘รูปี’

พอเกิดสงครามยูเครนเราก็เริ่มเห็นการ “ปรับทัพ” ทางด้านการทูตระหว่างประเทศขนานใหญ่

ใครอยู่ข้างรัสเซีย, ใครอยู่ข้างสหรัฐฯ, ใครอยู่ข้างยูเครน...เป็นคำถามที่ร้อนแรงและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทันตาเห็น

และเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียไปเยือนอินเดียพร้อมประกาศกระชับมิตรกันอย่างออกหน้าออกตา เราก็เห็นความย้อนแย้งทันที

อินเดียเป็นหนึ่งในสมาชิก Quad จตุภาคีที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ มีสมาชิกคือ อเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลียและอินเดีย

สหรัฐฯ เรียกย่านนี้ว่า Indo-Pacific แทน Asia-Pacific เพราะต้องการดึงอินเดียมาเสริมกำลังต่อต้านจีน

แต่อินเดียก็ใกล้ชิดกับรัสเซียมายาวนาน

เมื่อเกิดสงครามยูเครน รัสเซียถูกสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกคว่ำบาตร มอสโกก็วิ่งหาเพื่อน

นอกจากจีนแล้วรัสเซียก็มองไปที่อินเดีย

แม้ว่าจีนกับอินเดียจะมีความระหองระแหงกันอยู่เดิม แต่วิกฤตครั้งนี้ก็ทำให้เกิด “สมการใหม่” ของความสัมพันธ์ของยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างเห็นได้ชัด

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียบินไปอินเดียอย่างเปิดเผย

และประกาศว่าจะขายทุกอย่างที่อินเดียต้องการ...รวมถึงก๊าซที่จะลดราคาให้พิเศษอีกด้วย

อีกทั้งยังสร้างความฮือฮาด้วยการบอกว่าจะจ่ายเป็นเงินสกุลรูปีของอินเดีย หรือรูเบิลของรัสเซียก็ได้

ไม่ต้องง้อดอลลาร์ของสหรัฐฯ หรือยูโรของยุโรปอีกต่อไป

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ บอกกับเอส. ไจชันการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียว่า มอสโกรู้สึกขอบคุณสำหรับ “จุดยืนที่เป็นกลาง” ของนิวเดลีต่อวิกฤตยูเครน

ในขณะที่ตะวันตกพยายามโดดเดี่ยวรัสเซียเพราะสงคราม

 “เราซาบซึ้งที่อินเดียรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายเดียว” ลาฟรอฟกล่าวระหว่างการเยือนเมืองหลวงของอินเดียเป็นเวลา 2 วันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีรัสเซียบอกผู้สื่อข่าวหลังการประชุมกับรัฐมนตรีอินเดียว่า "ดูเหมือนโลกตะวันตกคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัสเซียเพียงแต่เริ่มพยายาม...ปกป้องผลประโยชน์ของตน"

ลาฟรอฟบอกว่ามอสโกกำลังศึกษาร่างสันติภาพของยูเครน

 “เรากำลังหาคำตอบ” และยอมรับว่าการเจรจามี “ความคืบหน้าบางอย่าง”

การเยือนอินเดียของลาฟรอฟเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความหมายมากกว่าปกติ

เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัสเซียอาวุโสที่สุดที่ไปเยือนนิวเดลี นับตั้งแต่เครมลินสั่ง "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" ในยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

เพราะเป็นช่วงจังหวะที่มหาอำนาจตะวันตกพยายามเกลี้ยกล่อมอินเดียมาเป็นพวก

จุดยืนของอินเดียกรณีสงครามยูเครนเป็นเช่นไร?

จนถึงตอนนี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก็ยังยึดมั่นในถ้อยแถลงที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง

แต่อินเดียไม่ประณามการรุกเข้ายูเครนของรัสเซีย

ด้วยการงดออกเสียงในการลงมติสำคัญของสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้

รัฐมนตรีอินเดียไจซานการ์บอกลาฟฟรอฟว่า การพบปะของทั้ง 2 เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ "ยากลำยาก"

 “อย่างที่คุณทราบ อินเดียสนับสนุนการแก้ไขความแตกต่างและข้อพิพาทผ่านการเจรจาและการทูตมาโดยตลอด” คือคำกล่าวที่ตอกย้ำถึงการ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ของอินเดีย

จากอินเดีย ลาฟรอฟก็บินไปเป็นเวลา 2 วัน

จีนก็แสดงจุดยืนเรื่องสงครามยูเครนเหมือนอินเดีย นั่นคือไม่ประณาม และยิ่งกว่านั้นยังแสดงความแน่นแฟ้นกับรัสเซียมากกว่าอินเดียด้วยซ้ำ

ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าการพบปะของ 2 รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและอินเดียคือ การจับมือของรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกับจีนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ พบกับไจซานการ์ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการหยุดยิงทันทีในยูเครน รวมถึงการหวนคืนสู่การทูตและการเจรจา

การเยือนอินเดียของลาฟรอฟมาใกล้เคียงกับการมาถึงของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ Liz Truss และ Daleep Singh รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่าพันธมิตรตะวันตกต้องการหว่านล้อมให้อินเดียทำอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนมากกว่านี้

แต่ก็ระแวดระวังมากที่จะไม่ถูกมองว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจของนิวเดลี

ซิงห์บอกว่าสหรัฐฯ จะไม่ขีด "เส้นสีแดง" สำหรับการนำเข้าพลังงานของอินเดียจากรัสเซีย

แต่ย้ำว่าถ้าอินเดียจะทำอย่างนั้นก็ไม่ว่าอะไร เพียงขออย่าให้มีสัญญาณว่าจะมีการ “เร่งรัด” ให้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น

นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ และอังกฤษไม่อยากเห็นอินเดียแสดงความ “กระตือรือร้น” ที่จะตอบรับการแสดงความสนิทชิดเชื้อจากมอสโกมากและเร็วเกินไปนัก

รัฐมนตรีทรัสของอังกฤษบอกนักข่าวว่า เธอ "จะไม่บอกอินเดียว่าต้องทำอย่างไร"

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ พูดเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ว่าเดียเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม Quad ที่ "ค่อนข้างสั่นคลอน" ในการต่อต้านรัสเซีย

ไบเดนใช้คำว่า shaky กับอินเดีย

นั่นแปลว่าวอชิงตันมีความหงุดหงิดกับท่าทีของอินเดียที่ไม่ออกมาต่อต้านรัสเซียในเรื่องนี้อย่างแจ้งชัดแบบที่ไบเดนอยากเห็นและอยากได้ยิน

ไบเดนบอกว่า “ญี่ปุ่นแข็งแกร่งมาก เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ในแง่ของการจัดการกับการรุกรานของปูติน”

ในการประชุมออนไลน์ของผู้นำ Quad เมื่อต้นเดือนมีนาคม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้อินเดียเข้าร่วมการประณามรัสเซียในกรณีนี้

แต่นายกฯ โมดีตอกย้ำว่า “ความจำเป็นต้องกลับไปสู่เส้นทางแห่งการเจรจาและการทูต"

เมื่อเดือนก่อนโมดีประชุมสุดยอดร่วมกับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และสกอตต์ มอร์ริสัน ผู้นำออสเตรเลีย

หัวข้อเรื่องสงครามก็เป็นประเด็นหลักของการระดมสมองกันอีกครั้งหนึ่ง

รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียรายงานรัฐสภาว่า รัฐบาลกำลังตรวจสอบแง่มุมต่างๆ ของการค้าทวิภาคีกับรัสเซีย

รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน

เพื่อดูว่าจะเอาชนะ “ความท้าทาย” ได้อย่างไร

สะท้อนว่ามีการพูดจากับรัสเซียเรื่องการเพิ่มการค้ารูปี-รูเบิลเพื่อเป็นทางเลือกแทนกลไกการชำระเงินระหว่างประเทศที่ถูกจำกัดเพราะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกต่อรัสเซีย

รัฐมนตรีไจซานการ์ชี้ว่า อินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย “น้อยมาก"

คือเท่ากับ 1% ของน้ำมันนำเข้าทั้งประเทศ

รัสเซียได้เสนอขายน้ำมันดิบให้กับอินเดียในราคาลดพิเศษ

สงคราม, น้ำมัน, มิตรภาพนั้นสามารถผันแปรได้ตามระดับการปรับเปลี่ยนของสมการผลประโยชน์ของแต่ละประเทศจริงๆ

นี่คือสัจธรรมของโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ