อังกฤษมีพระราชบัญญัติว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๓๗ (the Regency Act 1937) โดยมุ่งให้ พ.ร.บ. นี้ครอบคลุมกรณีต่างๆที่พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ (royal incapacity) โดยกำหนดให้มีการตั้งสภาสำเร็จราชการแผ่นดินหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (แล้วแต่กรณี) ปฏิบัติภารกิจแทนพระมหากษัตริย์ เงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ ได้แก่ ทรงพระประชวร ทรงพระเยาว์ (พระชนมายุไม่ถึง ๑๘ พรรษา) และไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร และการที่องค์พระประมุขอาจจะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และควรจะเข้าใจ
ดังที่นักวิชาการอังกฤษเซอร์ David Keir กล่าวว่า องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็น “มนุษย์” (human) จึงย่อมมีช่วงเวลาที่ทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ จะด้วยทรงพระประชวรหรือทรงไม่ประทับอยู่ (illness or absence) หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม จึงทำให้การที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องทรงพร้อมเสมอที่จะปฏิบัติพระราชภาระต่างๆดังกล่าวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง Sir David Keir ได้กล่าวไว้ในตำรา “The Constitutional History of Modern Britain since 1485” (1966) ว่า “กฎหมายจำเป็นจะต้องหา…กลไกต่างๆเพื่อการประนีประนอมสิ่งที่ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นหลักการนามธรรมที่ผูกติดอยู่กับสถานะขององค์พระมหากษัตริย์กับความไม่สะดวกในทางปฏิบัติอันเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นมนุษย์ที่อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสที่จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้”
แต่หลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ. เพียงสองปี ก็เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง นั่นคือ ในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หกทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา และการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชินีมเหสีได้ทรงตามเสด็จด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ
หนึ่ง สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ทรงอยู่ในสถานะอันดับแรกของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดิน ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้เปิดทางให้มีการแต่งตั้งบุคคลอื่นแทนบุคคลในตำแหน่งที่ พ.ร.บ. ระบุเฉพาะเจาะจงไว้ หรืออนุญาตให้แต่งตั้งบุคคลที่จะสืบราชสันตติวงศ์ในอันดับต่อๆไปขึ้นมาแทนได้จนครบ
สอง พ.ร.บ. กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากองค์พระประมุขทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ก่อนพระชนมายุ ๑๘ พรรษา และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรวมทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินจะต้องมีอายุ ๒๑ ปี
ส่งผลให้มีการ เสนอร่าง พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นอีกในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ (พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๗ แก้ไข ค.ศ. ๑๙๔๓) โดยกำหนดให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะองค์รัชทายาทสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป
ดังนั้น เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธจึงสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินได้ทันทีในอีกสามปีต่อไป (ค.ศ. ๑๙๔๔)
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๕๒ อันเป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้มีสถานการณ์ที่ทำให้เห็นข้อบกพร่องใน พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ ฉบับแก้ไข ค.ศ. ๑๙๔๓ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ในพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะต่อกรณีผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองจะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ หากเงื่อนไขของการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในอันดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์ อันได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส ซึ่งพระองค์จะทรงมีพระชนมายุครบ ๑๘ พรรษาในปี ค.ศ. ๑๙๖๖ และเมื่อคราใดที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองจะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ ตาม พ.ร.บ. ค.ศ. ๑๙๓๗ เจ้าฟ้าชายชาร์ลสจะทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เซอร์เดวิด แม็กซเวล-ไฟฟ์
เจ้าหญิงมากาเรต และ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง
แต่ก่อนปี ค.ศ. ๑๙๖๖ พระองค์ก็ยังถือว่าทรงพระเยาว์ ไม่สามารถบริหารพระราชภารกิจแทนองค์พระประมุข ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งเจ้าหญิงมากาเรต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์อันดับถัดไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมาย
ส่วนดยุคแห่งเอดินเบอระ (Duke of Edinburgh) ผู้เป็นพระสวามีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและพระราชบิดาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์ได้ จึงไม่ทรงสามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามกฎหมายอีกด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นสถานการณ์ที่สร้างความยุ่งยากให้กับทั้งสามพระองค์ นั่นคือ ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินเบอระและเจ้าหญิงมากาเรต ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวดูจะเป็นสถานการณ์ที่ประหลาดต่อสาธารณชนทั่วไปที่ว่า “น้าสาวจะเป็นผู้ปกครองของหลายชาย แทนที่จะเป็นบิดาของเขา”
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความยุ่งยากอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับลำดับชั้นของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินด้วย นั่นคือ จากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก ทำให้พระมเหสีของพระองค์ไม่อยู่ในรายนามตำแหน่งของผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินอีกต่อไป
จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. ๑๙๕๓ หลังจากที่มีการแก้ไขครั้งแรกไปแล้วในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ โดยเซอร์เดวิด แม็กซเวล-ไฟฟ์ (Sir David Maxwell-Fyfe) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (ต่อมาคืออัยการของอังกฤษในการพิจารณาคดีนาซีที่นูเรมเบิร์ก) ได้กล่าวอภิปรายต่อรัฐสภาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ แก้ไข ค.ศ. ๑๙๔๓ ที่แม้นว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนี้จะมีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติข้อกำหนดให้ครอบคลุมทุกสถานการณ์อันจะเกิดขึ้นได้ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถครอบคลุมกรณีต่างๆที่อาจเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แน่นอนในทุกกรณีได้ ด้วยเหตุผลที่เซอร์เดวิดให้ไว้ว่า “……สติปัญญาของมนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวได้ทุกกรณี หรือทุกๆเงื่อนไขของสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้” และในการอภิปรายของรัฐสภา เซอร์เดวิดได้ถูกตั้งคำถามอย่างระมัดระวังต่อกรณีการ “ยกเว้น” เจ้าหญิงมากาเรตจากการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ภายใต้ พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ ฉบับแก้ไข ค.ศ. ๑๙๕๓ ได้กำหนดให้ดยุคแห่งเอดินเบอระเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากพระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและดยุคจะทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่พระชนมายุไม่ครบ ๑๙ พรรษา หรือในกรณีจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องมีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยกเว้นหรือจนกระทั่งพระราชโอรสหรือพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและดยุคจะทรงมีคุณสมบัติต้องตามที่บัญญัติไว้ และนอกจากดยุคจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ด้วย
ต่อกรณีเจ้าฟ้าหญิงมากาเรต เซอร์เดวิด แม็กซเวล-ไฟฟ์ได้กล่าวเพียงว่า เจ้าหญิงมากาเรตทรงเห็นด้วยอย่างเต็มพระทัยยิ่ง ที่จะให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใน พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเขาได้ย้ำด้วยว่า รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบในการสื่อสารจากสมเด็จพระราชินีฯไปยังรัฐสภาเพื่อให้มีการบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ยืนยันหลักการของประเพณีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษที่ว่า องค์พระประมุขไม่สามารถมีพระราชดำรัสโดยตรงต่อรัฐสภาโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคณะรัฐมนตรีในการนั้น
และใน พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ค.ศ. ๑๙๓๗ ฉบับแก้ไข ค.ศ. ๑๙๕๓ ได้บัญญัติให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สมเด็จพระราชชนนี (Queen Elizabeth the Queen Mother) ทรงอยู่ในลำดับชั้นของบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินด้วย และกำหนดให้ผู้อยู่ในลำดับแรกที่จะสืบราชสันตติวงศ์หรือว่าที่บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ ๑๘ ปี และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือสมาชิกสภาสำเร็จราชการแผ่นดินได้
และการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฉบับนี้ก็มีประเด็นที่ไม่ต่างจากการแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ นั่นคือ เป็นการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละกรณีๆไป ไม่ต่างจากการออกกฎหมายในประเด็นดังกล่าวนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าก่อนหน้า พ.ร.บ. ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ .
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ดยุคแห่งเอดินเบอระ
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส สมเด็จพระราชชนนี
เจ้าหญิงมากาเรต ในปี ค.ศ. ๑๙๕๓
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร