ทะเลสาบแคนดีและพระอุบาลีเถระ

ศรีลังกามีประวัติความเป็นชาติยาวนานมากกว่า 2,600 ปี ใน 14 ศตวรรษแรกราชธานีอยู่ที่อนุราธปุระ จากนั้นย้ายไปที่โปลอนนารุวะเกือบ 2 ร้อยปี ธรรมเปนียะ 1 ร้อยกว่าปี กัมโพละไม่ถึง 1 ร้อยปี โกตเตเกือบ 2 ร้อยปี สิตาวกะช่วงสั้นๆ ก่อนจะถึงกรุงกัณฏี หรือ “แคนดี” ดินแดนเอกราชผืนสุดท้ายบนเกาะลังกา

เดิมทีแคนดีมีชื่อว่า “เสนกะดากาลาปุระ” ก่อตั้งโดยพระเจ้าวิกรมพาหุที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1900-1917) ในสมัยที่เมืองหลวงอยู่ที่กรุงกัมโพละ

จากนั้นเมืองเสนกะดากาลาปุระก็มาขึ้นต่อราชอาณาจักรโกตเต

เมื่อโกตเตเสื่อมอำนาจลง “สิตาวกะ” กลายเป็นเมืองหลวงควบคู่กับโกตเตอยู่ช่วงหนึ่ง และในที่สุดเสนกะดากาลาปุระก็เป็นเมืองหลวงเพียงแห่งเดียวของศรีลังกานับแต่ พ.ศ.2133 ในชื่อ “เสนกะดากาลา ศรีวัฒนา มหานูวาระ” ถูกเรียกสั้นๆ ว่า “มหานูวาระ” ซึ่งหมายถึง “นครอันยิ่งใหญ่”

เมืองนี้ยังมีอีกหลายชื่อเรียก หนึ่งในนั้นคือ “กัณฏี อูดะ รตะ” แปลว่าเมืองบนภูเขา พวกโปรตุเกสเรียกสั้นๆ แต่เพียง “กันดี” (Candea) ต่อมาอังกฤษเรียกเพี้ยนเป็น “แคนดี” (Kandy)

ผมนั่งรถบัสปรับอากาศขนาด 20 ที่นั่งจากเมืองดัมบุลลา ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร ในทิศทางเหนือสู่ใต้ ผ่านเมืองมาตาเล เข้าสู่แคนดี ใช้เวลา 2ชั่วโมง ถึงจุดจอดรถบัสหน้าสวน Bogambara Cultural Park ตอน 4 โมงเย็น ทั้งดัมบุลลา มาตาเล และแคนดี ล้วนอยู่ในจังหวัดภาคกลางของศรีลังกา แคนดีเป็นเมืองหลวงของจังหวัด

Kandyan Sweet Villa ที่พักของผมตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟแคนดีและสถานีรถบัส แต่พอรถบัสคันนี้ไม่จอดในสถานี ผมก็ต้องเดินไกลขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ แถมมีช่วงเดินขึ้นเนินที่ทำเอาเมื่อยหลังไปเหมือนกัน

ขณะผมเช็กอิน ผู้หญิงที่คาดว่าน่าจะเป็นเจ้าของเกสต์เฮาส์เสนอแนะทัวร์แคนดีกับตุ๊กๆ ที่จอดอยู่ด้านล่างของเกสต์เฮาส์จำนวนหลายคัน เธอบอกว่าตุ๊กๆ จะพาทัวร์ไปตามสถานที่สำคัญๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็น คิดราคาแค่ 10 ดอลลาร์ ตัวเธอไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแค่แจ้งข้อมูลให้ทราบและต้องการจะช่วยบรรดาคนขับตุ๊กๆ เท่านั้น ค่ารถทั้งวัน 10 ดอลลาร์ถือว่าถูกมากทีเดียว แต่ตอนนี้เวลาเย็นไปหน่อยสำหรับนั่งตุ๊กๆ ทัวร์แคนดี และผมก็ยังไม่ได้ทำการบ้านให้ดีพอว่าควรไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งใดบ้าง

ทะเลสาบแคนดีและสวนกลางน้ำ

ใจกลางเมืองแคนดีคือทะเลสาบแคนดี วัดพระเขี้ยวแก้ว และย่านการค้าใกล้ทะเลสาบ ผมเดินจากที่พักประมาณ 1 กิโลเมตรถึงทะเลสาบ น้ำในทะเลสาบค่อนข้างสะอาด ยามเย็นบรรยากาศโดยทั่วไปดูร่มรื่น คนท้องถิ่นเลิกงานแล้วก็แวะมานั่งพักผ่อนหรือเดินเล่น บางคนวิ่งออกกำลังกาย นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินชมทิวทัศน์และถ่ายรูป

ก่อนเป็นทะเลสาบแคนดี พื้นที่ตรงนี้คือนาข้าว พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของแคนดีและศรีลังกา ทรงมีพระบัญชาให้ขุดเป็นทะเลสาบเมื่อ พ.ศ.2350 โดยวัดพระเขี้ยวแก้วและพระราชวังตั้งอยู่ทางฝั่งทิศเหนือ วัดบุปผารามหรือวัดมัลวัตตะตั้งอยู่ฝั่งทิศใต้ ทะเลสาบมีพื้นที่รวม 6,544 ตารางเมตร ความยาวโดยรอบวัดได้ 3.21 กิโลเมตร มีกำแพงอิฐยาว 634 เมตร สร้างไม่เสร็จเพราะถูกอังกฤษเข้ายึดกรุงแคนดีเสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2358

Queen’s Hotel ตัวแทนสถาปัตยกรรมเมืองแคนดีในยุคอาณานิคม

ทะเลสาบฝั่งที่ติดกับพระราชวังมีห้องอาบน้ำของพระมเหสียื่นเข้าไปในทะเลสาบ หลังอังกฤษเข้ามายึดครองพวกเขาต่อเติมอาคารขึ้นมาอีก 1 ชั้น และเปลี่ยนห้องอาบน้ำเป็นห้องสมุด ปัจจุบันคือสถานีตำรวจ

เมื่อแรกสร้างทะเลสาบ พระเจ้าศรีวิกรมราชสิงหะทรงสร้างเขื่อนขึ้นคั่นกลาง เชื่อมฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ ระหว่างพระราชวัง-วัดพระเขี้ยวแก้วและวัดบุปผาราม เพื่อดำเนินไปมาได้สะดวก ภายหลังได้รื้อเขื่อนดินนี้ออก ให้เหลือเกาะไว้ตรงกลางทะเลสาบ เกาะเล็กๆ หรือสวนกลางน้ำนี้ก็ได้กลายเป็นสถานตากอากาศของพระองค์ รวมถึงพระมเหสีและนางสนม บางคนเรียกอย่างไม่เกรงใจว่าเป็นฮาเร็ม และยังเชื่อว่ามีอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างฮาเร็มนี้กับตัวพระราชวัง

ถนนริมทะเลสาบแคนดีฝั่งทิศใต้

ช่วงที่อยู่ในเขตใจกลางเมือง ทะเลสาบมีลักษณะกึ่งๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่พอออกไปทางทิศตะวันออกก็เรียวเล็กลง ทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบเป็นเนินเขาสูง อันเป็นลักษณะทั่วไปของแคนดีที่มีภูเขาหลายลูกตั้งอยู่ชิดๆ กัน มีหุบเขาเป็นที่ราบแคบๆ บ้านเรือนผู้คนปลูกกันทั้งในหุบเขา บริเวณเชิงเขา และลามขึ้นไปถึงกลางเขา ส่วนที่เป็นใจกลางเมืองทางทิศเหนือและตะวันตกของทะเลสาบแคนดีถือว่าเป็นพื้นราบที่กว้างกว่าส่วนอื่นๆ

หนึ่งในอาคารโบราณบนถนน Brownrigg St.

วัดพระเขี้ยวแก้วตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทะเลสาบ ผมเดินเลาะริมทะเลสาบฝั่งตะวันตกไปจนสุดที่หัวมุม โรงแรมควีนส์ตั้งอยู่ที่มุมนี้ของทะเลสาบโดยมีถนนคั่นกลาง เลี้ยวขวาไปอีกหน่อยก็ถึงทางเข้าวัดพระเขี้ยวแก้ว มีการตรวจพาสปอร์ต ตรวจกระเป๋า เดินผ่านเครื่องสแกนสิ่งของต้องห้าม ถ้าใครนุ่งกางเกงหรือกระโปรงแล้วหัวเข่าโผล่ให้เห็นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปต่อ ไม่เช่นนั้นก็ต้องเช่าชุดหรือผ้าถุงตรงประตูทางเข้า

จากจุดตรวจนี้ต้องเดินผ่านสนามหญ้าและบรรดารูปปั้นบุคคลสำคัญไปอีกราว 200 เมตร ก่อนจะถึงพื้นที่ชั้นใน ชาวศรีลังกาเดินไปทางซ้ายเพื่อเข้าประตูชาวศรีลังกา นักท่องเที่ยวต่างชาติเลี้ยวไปทางขวาเพื่อซื้อตั๋ว

พิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว จิตรกรรมบนกำแพงริมถนน Rajapihilla Mawatha

พิธีบูชาพระเขี้ยวแก้วมีวันละ 3 รอบ ได้แก่ เวลา 05.30 น., 09.30 น. และ 18.30 น. ผมรู้สึกหิวขึ้นมาจนท้องร้อง เพราะกินมื้อเที่ยงไปเพียงนิดเดียว และตอนนี้ก็ใกล้จะ 6 โมงเย็น เท่ากับ 1 ทุ่มครึ่งเมืองไทย เลยต้องยกยอดวัดพระเขี้ยวแก้วไปวันรุ่งขึ้น เดินออกจากรั้ววัดแล้วมองหาร้านอาหาร อยากได้ร้านแบบบาร์กึ่งเรสเตอรองต์

ผมเดินผ่านโรงแรมควีนส์ไปทางทิศตะวันตก ผ่านร้าน The Pub แล้วเลือกเข้าร้านชื่อ The Last Drop บนถนน Brownrigg St. เปิดประตูร้านเข้าไปก็รู้สึกว่าพลาดแล้ว ร้านเป็นห้องแอร์ขนาดใหญ่ บรรยากาศดูแข็งทื่อ โต๊ะ-เก้าอี้จัดไว้เหมาะสำหรับมากันเป็นกลุ่ม มีเก้าอี้หน้าบาร์ แต่ไม่น่านั่ง บนจอทีวีทุกจอฉายการแข่งขันคริกเก็ต ผมหิวเกินกว่าจะมีอารมณ์หาร้านใหม่ เลือกนั่งโต๊ะใกล้ๆ เคาน์เตอร์บาร์ สั่งเบียร์สด Lion มา 1 ไพนต์ ขอเมนูมาสั่งกุ้งทอด แต่คนเดินโต๊ะแจ้งว่าวันนี้ไม่มี เลยสั่งไก่ผัดพริกไทยดำ เสิร์ฟมาจานใหญ่ ไม่ค่อยอร่อย แต่กินกับเบียร์ก็พอผ่าน

หมดทั้งไก่และเบียร์ผมก็เรียกเก็บเงิน เดินกลับไปร้าน The Pub ริมถนน Sri DaladaVeediya เยื้องๆ กับศูนย์การค้า Kandy City Center ซึ่งต้องขึ้นบันได้ไปยังชั้น 2 ในห้องไม่มีคนนั่ง แต่ไปนั่งกันตรงระเบียงซึ่งถือว่ากว้างขวางพอสมควร เห็นวิวถนนและการสัญจรข้างล่าง แย่หน่อยตรงเหม็นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่มาตรฐานการเผาไหม้ยังกำหนดไว้ต่ำกว่าบ้านเรา นอกจากนี้อีกาเป็นร้อยๆ ตัวเกาะบนต้นไม้ริมถนน พากันร้องระงมจนเกิดความรำคาญในบางขณะ

เบียร์สด Lion หมดไปอีก 1 ไพนต์ ผมลองสั่งอารัคมา 1 แก้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ลองของเมาประจำชาติศรีลังกา อารัคคือสุราที่ได้จากการหมักน้ำตาลจั่นมะพร้าว แล้วนำไปกลั่น ดีกรีแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

ผมเริ่มจากแบบ VSO ย่อมาจาก Very Special Old รู้สึกไม่ค่อยถูกใจ หมดแก้วแล้วสั่งแบบ Old Arrack ซึ่งดีกว่ามาก ไม่บาดคอ ไม่มีกลิ่นแอลกอฮอล์แบบ VSO หอมนุ่ม รสชาติออกหวาน มีรสอ้อยอิ่งทิ้งท้าย วันต่อมาผมสั่งแบบ Double Distilled ก็รู้สึกว่าสู้ Old Arrack ไม่ได้ แต่ดีกว่า VSO อีกวันหลังจากนั้นผมไปดื่มอีกร้าน สั่ง Vat 9- Special Reserve ได้รสชาติหอมนุ่มของมอลต์ทิ้งท้าย และหากต้องจัดอันดับเรียงตามความพอใจก็จัดได้ดังนี้ Old, Vat 9-Special Reserve, Double Distilled และ VSO

ขากลับที่พักผมก็เดินเหมือนเช่นเคย เวลาแค่ 2 ทุ่ม แต่เมืองเงียบเชียบลงแล้ว ทางเดินบางช่วงไม่มีไฟ ต้องใช้ไฟฉายจากมือถือส่องทาง ทว่าไม่รู้สึกว่าเสี่ยงอันตราย แวะซื้อกล้วยน้ำว้าครึ่งหวี ราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5 บาท แล้วเดินขึ้นเนินเข้าที่พัก

เช้าวันต่อมาหลังมื้อเช้าผมเดินไปทางทะเลสาบอีกครั้ง โดยเดินเลียบถนนทะเลสาบฝั่งทิศใต้ เห็นซุ้มประตูขนาดใหญ่ก็เดินเข้าไป นี่คือ “วัดมัลวัตตวิหาร” อันมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชาวไทยอยู่อย่างมาก

พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะแห่งราชอาณาจักรกัณฏี ซึ่งแท้จริงแล้วพระองค์เป็นฮินดู สืบเชื้อสายจาก “ราชวงศ์นายกะ” ในทมิฬนาดูของอินเดีย แต่ทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ภัยต่อพุทธศาสนาช่วงเวลาก่อนรัชสมัยของพระองค์มีทั้งจากต่างชาติโดยเฉพาะโปรตุเกส และกษัตริย์องค์ก่อนๆ ที่สืบเชื้อสายจากทางใต้ของอินเดีย ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ใช้อำนาจจับสึกพระภิกษุ เผาทำลายพระไตรปิฎก รวมทั้งวัดวาอาราม เป็นเหตุให้ศรีลังกาในเวลานั้นไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลยแม้แต่รูปเดียว ถือเป็นครั้งที่ 3 ของประวัติศาสตร์ศรีลังกา

อย่างไรก็ตามยังมีสามเณรเหลืออยู่ แต่สามเณรส่วนมากก็ค่อนข้างสูงอายุกันแล้ว หนึ่งในนั้นคือสามเณรสรณังกร ซึ่งเป็นผู้ทูลขอพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะให้ส่งราชทูตไปขอนิมนต์พระสงฆ์จากสยามมาทำการอุปสมบทสามเณรและกุลบุตรชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุ

พ.ศ.2293 คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกา และได้แวะพักที่มะละกาเป็นเวลา 5 เดือน เพราะตรงกับฤดูมรสุม ก่อนจะล่องเรือต่อมายังอ่าวไทย เข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านบางกอกและนนทบุรี สู่กรุงศรีอยุธยา

ปีถัดมา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งในพระธรรมวินัย ได้พระสงฆ์ 18 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมสามเณรอีก 7 รูป คณะสมณทูตลงเรือกำปั่นที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่ เดินทางออกจากรุงศรีอยุธยา ทว่าเรือถูกคลื่นใหญ่ซัดจนเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ต้องกลับไปตั้งหลักใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา

คณะสงฆ์ชุดเดิมออกเดินทางอีกครั้งโดยเรือกำปั่นฮอลันดา คราวนี้เรือล่องไปจนถึงเมืองตรินโคมาลี ใช้เวลาเดินทาง 5 เดือนกับอีก 4 วัน พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะมีบัญชาให้ขุนนางผู้ใหญ่ไปรอต้อนรับ และนิมนต์คณะสมณทูตไทยสู่กรุงกัณฏี โปรดให้คณะไปพักที่วัดบุปผาราม ซี่งปัจจุบันคือวัดมัลวัตตะ

พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ.2295 พระอุบาลีให้การอุปสมบทแก่สามเณรศรีลังกาซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วจำนวน 6 รูป นำโดยสามเณรสรณังกร ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 54 ปี

ระยะเวลาอีก 3 ปีต่อมา คือระหว่าง พ.ศ.2295-2298 คณะของพระอุบาลีได้อุปสมบทบรรพชาชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุรวม 700 รูป สามเณรอีก 3,000 รูป พระสรณังกรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช และคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในศรีลังกา

พระอุบาลีได้ทำการเปลี่ยนแปลงพุทธศาสนาในศรีลังกาครั้งใหญ่ สั่งให้พระสงฆ์เลิกงมงายในความเชื่อและการปฏิบัตินอกหลักพุทธศาสนา โดยเฉพาะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ อีกทั้งท่านยังปฏิวัติพิธีแห่พระเขี้ยวแก้ว หรือ “เอสาละ เปราเหระ” โดยรูปแบบที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้ถือว่าดำเนินตามรอยของท่าน ก่อนหน้านั้นขบวนแห่มีขึ้นในลักษณะบูชาองค์เทพในศาสนาฮินดูมากจนเกินงาม พระอุบาลีเห็นว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสมสำหรับชาติที่นับถือศาสนาพุทธ ส่งผลให้พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะทรงประกาศว่า “แต่นี้ไป ทั้งมนุษย์และเทวดาต้องเดินตามรอยพระพุทธเจ้า”

พระอุบาลีมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบเมื่อ พ.ศ.2299 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะทรงจัดพิธีถวายเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ที่สุสานหลวง ปัจจุบันคือวัดอัศคีรีมหาวิหาร อัฐิของท่านถูกบรรจุไว้ในเจดีย์อัศคีรีมหาเสยะ ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระเขี้ยวแก้วไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร

ส่วนวัดมัลวัตตะที่ผมกำลังเดินเข้าไป ทราบว่ากุฏิของพระอุบาลีได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี เป็นห้องเล็กๆ มีเตียง โต๊ะเก้าอี้ และเครื่องอัฐบริขารที่ท่านเคยใช้สอย

ผมเดินขึ้นเนินไปเผชิญหน้ากับทหารยามถือปืน เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คนหนุ่มศรีลังกาสามสี่คนเดินขึ้นมาพอดี พวกเขาอธิบายว่าช่วงนี้วัดปิดเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งทางการยังคงหวั่นๆ ในเรื่องความปลอดภัยหลังจากเหตุระเบิดโจมตีชาวคริสต์ในโคลัมโบและนีกัมโบเมื่อ 2 ปีก่อน แต่พวกเขาก็สามารถเดินเข้าไปในวัดโดยทหารยามไม่ว่าอะไร ผมถามไล่หลัง “แล้วทำไมพวกคุณเข้าไปได้” คนหนึ่งตอบว่า “ออฟฟิศของพวกเราอยู่ในนั้น”

ผมเดินกลับลงมาอย่างงงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย