วิพากษ์นโยบายโชลซ์เยอรมันต่อสงครามยูเครน

ไม่กี่วันหลังกองทัพรัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลของโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) ประกาศนโยบายป้องกันประเทศใหม่ทันที สรุปจุดยืนและการเปลี่ยนแปลงบางประการ ดังนี้

ประการแรก ปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการอยู่ดีกินดี

จุดยืนหลักคือ ปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการอยู่ดีกินดี ดังเช่นชาวยุโรปทั่วไป

นายกฯ โชลซ์กล่าวว่า คนยูเครนกำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของเขา ลำพังข้อนี้เพียงพอให้เยอรมันอยู่ฝ่ายยูเครน ส่งความช่วยเหลือแก่ประชาชนกองทัพยูเครนหลายรอบ 

ในอีกด้านหนึ่งคือคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งระดับกว้างกับเจาะจงรายบุคคล โดยเฉพาะพวกนายทุนผูกขาด (oligarchs) เช่น ระงับใช้ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่สร้างเสร็จแล้ว ประกาศแผนลดนำเข้าพลังงานรัสเซีย ลดนำเข้าสินค้า คว่ำบาตรธนาคารรัสเซียหลายแห่ง

สงครามยูเครนถูกตีความว่าเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาค ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับทรราชย์ แต่เยอรมันมองภาพที่ลึกกว่านั้น นั่นคือยุโรปที่เยอรมันมีบทบาทสำคัญ

ประการที่ 2 ซื้อก๊าซธรรมชาติทดแทนรัสเซีย

เดิมเยอรมันนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 55% ของปริมาณความต้องการ และนำเข้าน้ำมันรัสเซีย 1 ใน 3 ที่ใช้ทั้งประเทศ

นโยบายใหม่ให้เร่งสร้างท่าเรือรองรับเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ Brunsbüttel กับ Wilhelmshaven เพื่อลดพึ่งก๊าซจากรัสเซีย อาจแล้วเสร็จในปี 2026 รองรับความต้องการก๊าซ 10% ของปริมาณใช้ทั้งประเทศ

มีข้อมูลว่า แนวคิดก่อสร้างท่าเรือรองรับ LNG เริ่มตั้งแต่ปี 2015 แต่เนื่องจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับนักการเมืองบางคนไม่เห็นด้วยโครงการนี้จึงล้มพับไป และกลายเป็นที่มาของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ในสมัยรัฐบาลของอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) มาวันนี้สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าไม่เปิดใช้ Nord Stream 2 หันมาเร่งสร้างท่าเรือรับรอง LNG แทน

ประเด็นลดการนำเข้าพลังงานรัสเซียน่าจะเป็นที่ถกเถียงในอนาคต ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงราคาถูก กับอีกฝ่ายที่ต้องการคว่ำบาตรรัสเซีย

สงครามยูเครนส่งผลต่อนโยบายพลังงานเยอรมันอย่างหนัก ต้องซื้อแพงขึ้นมาก งบประมาณประเทศ เงินในกระเป่าคนเยอรมันแทนที่จะนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นกลับต้องมาจ่ายราคาเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย ซ้ำร้ายในระยะสั้นอาจถึงขั้นไม่พอใช้ เมื่อรัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศว่าเยอรมันต้องซื้อด้วยเงินรูเบิล (ล่าสุดยังสามารถซื้อใช้ตามปกติ)

ประเด็นสำคัญคือ หากเยอรมันยกเลิกนำเข้าพลังงานรัสเซียสิ้นเชิง ผลร้ายแรงที่ตามมาคือราคาพลังงานในประเทศจะสูงขึ้นมาก ต้นทุนการผลิตทุกอย่างพุ่งพรวด อีกทั้งบางคนชี้ว่าการคว่ำบาตรรัสเซียไปซื้อจากตะวันออกกลางแทน ก็เหมือนคว่ำบาตรอำนาจนิยมประเทศหนึ่งแล้วไปสนับสนุนอำนาจนิยมอีกประเทศ

รัฐบาลโชลซ์เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีแต่จำต้องเดินหน้าต่อไป อย่างน้อยในระยะนี้

ภาพ: โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมัน

เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/olafscholz/photos/a.10160398644654311/10160450123829311/

ประการที่ 3 มุมมองภาพใหญ่ สงครามเย็นใหม่

นายกฯ โชลซ์กล่าวว่า รัสเซียบุกยูเครนส่งผลต่อระบบความมั่นคงของยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องระหว่างยูเครน-รัสเซียเท่านั้น รัสเซียกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง จำต้องหยุดรัสเซียผู้ก่อสงคราม

ด้าน Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) แสดงความเห็นว่า ผลจากรัสเซียบุกยูเครนทำให้คิดว่าโลกเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว รัฐบาลปูตินเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ต่อเสรีภาพของคนยุโรป เป็นสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีลักษณะบางอย่างต่างจากสงครามเย็นในอดีต โลกาภิวัตน์ยังอยู่ โลกยังต้องร่วมมือกัน เช่น ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อียูต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่อยากลงทุนในประเทศที่เป็นมิตรมากกว่า การส่งออกทำให้คนอยู่ดีกินดี เพิ่มการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง ทุกวันนี้อียูมีคู่ค้าเกือบ 80 ประเทศ (กับดินแดน) ช่วยให้อียูมีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนจะเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่าที่รัฐบาลจะชี้นิ้วให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

ประการที่ 4 โดดเดี่ยวรัสเซีย เข้าใกล้อเมริกา

ในสมัยรัฐบาลที่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับแมร์เคิลไม่ดีนัก นโยบายสหรัฐบางอย่างบั่นทอนผลประโยชน์เยอรมัน ไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันถึงกับกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับสหรัฐ พร้อมกับสร้างระบบชำระเงินของอียูที่เป็นอิสระจากอเมริกาหากสหรัฐก้าวข้ามเส้นต้องห้าม

รัฐมนตรีมาสสรุปว่า เป้าหมายหลักคือสร้างนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนอธิปไตย ยุโรปที่เข้มแข็ง ยุโรปยังต้องการร่วมมือกับสหรัฐแต่ต้องไม่เบียดบังผลประโยชน์ยุโรปโดยไม่ปรึกษาก่อน

กองทัพรัสเซียบุกยูเครนกลายเป็นเหตุให้ชาตินาโตประสานงานใกล้ชิด มองว่าตนถูกคุกคาม ออกมาตรการตอบโต้หลายอย่าง เป็นเหตุให้เยอรมันกลับมาใกล้ชิดอเมริกา เยอรมันเป็นหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามนาโตไม่ได้เป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์ สมาชิกแต่ละประเทศยังพยายามรักษาผลประโยชน์ตนเอง ไม่ได้ตามใจรัฐบาลสหรัฐทั้งหมด แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าสหรัฐได้ประโยชน์จากยุโรป จากเหตุการณ์นี้

ประการที่ 5 สร้างกองทัพให้เข้มแข็ง

นายกฯ โชลซ์กล่าวว่ารัฐบาลมองสถานการณ์โลกตามที่เป็นจริง จึงมุ่งมั่นพัฒนากองทัพ ให้มีอาวุธที่ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเพิ่มกำลังพล ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก เฉพาะปี 2022 จะเพิ่มงบกลาโหมอีก 100,000,000,000 ล้านยูโร (100 billion euro) และปีหน้าจะกำหนดงบกลาโหมเท่ากับ 2% ของจีดีพี มีโครงการพัฒนาเครื่องบินรบ โดรน รถถังรุ่นใหม่ บางโครงการจะพัฒนาร่วมกับชาติยุโรปอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส

ในอดีตมีข้อวิพากษ์มากมายว่ากองทัพเยอรมันอ่อนแอลง ขาดการเตรียมพร้อม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า กองทัพรัสเซียบุกยูเครนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ การตั้งงบกลาโหม 2% ของจีดีพีเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐที่เรียกร้องเรื่อยมา

หากรัฐบาลเยอรมันยึดมั่นนโยบายงบกลาโหม 2% ของจีดีพีในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเห็นกองทัพเยอรมันที่เข้มแข็งขึ้นมาก และเป็นแรงกดดันให้ชาตินาโตฝั่งยุโรปที่เหลือต้องปฏิบัติตาม

ในอดีตเยอรมันคิดว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะส่งเสริมความสัมพันธ์ ป้องกันสงคราม จึงทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับจีนหลายฉบับ นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียมากขึ้น แต่สงครามยูเครนทำให้ความคิดเช่นนี้เปลี่ยนไป กลับสู่แนวคิดว่าต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ ต้องสร้างกองทัพให้เข้มแข็งพอที่จะป้องกันตัวเอง ไม่คิดหวังแต่นาโตในแง่มีกองทัพสหรัฐอีกต่อไป

แม้กระทั่งข่าวซื้อเครื่องบิน F-35 เพื่อทดแทนเครื่องบินติดอาวุธนิวเคลียร์เครื่องเก่า เกิดคำถามว่าทำไมยุโรปไม่พัฒนาเครื่องบินของตนเอง การใช้เครื่องบินสหรัฐบั่นทอนอุตสาหกรรมการบินยุโรปที่กำลังพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ FCAS

ไม่เพียงเท่านั้น มีข้อเสนอว่าเยอรมันไม่อาจคิดถึงแต่ความมั่นคงของตน ยังต้องรวมบทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกนาโต ที่ชาติสมาชิกอื่นๆ คาดหวังทั้งในมุมนาโตภาพรวมกับนาโตที่เน้นฝั่งยุโรป ถึงเวลาแล้วที่จะฟื้นกองทัพเยอรมัน เป็นเวลาที่บริบทรับรอง รัฐบาลสหรัฐสนับสนุน

Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเอ่ยถึง "strategic autonomy” ว่ายุโรปต้องตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศยุโรปเอ่ยถึงเป็นระยะ

ความเป็นไปของยูเครนเป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นการมองในกรอบแคบ เยอรมันมียุทธศาสตร์ภาพใหญ่และยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ต้องดำเนินไป ที่สุดแล้วยุโรปจำต้องรวมตัวกันต่อไป ไม่ว่าจะในนามนาโตหรือนาโตยุโรปหรืออื่นๆ เป็นยุโรปที่ต้องอยู่ร่วมกับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย บทบาทเยอรมันในฐานะพี่ใหญ่เป็นเรื่องน่าติดตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”