ฝนพรำลงมาตั้งแต่เช้าตรู่ หรืออาจตกโปรยปรายมาหลายชั่วโมงก่อนรุ่งสางก็เป็นได้ ผมเดินลงจากบ้านต้นไม้ของเกสต์เฮาส์อย่างระมัดระวังเพราะกลัวจะลื่นไถลตกบันไดรับอรุณ
ลืมไปว่าค่ำวานนี้ได้ขอเลื่อนอาหารเช้าจาก 7 โมงครึ่งเป็น 8 โมงครึ่ง จึงใช้เวลาระหว่างรอมื้อเช้านี้กางร่มเดินชมส่วนต่างๆ ของเกสต์เฮาส์ ลุงนิฮาลเจ้าของ Sigiri Queen’s Rest มีบ้านต้นไม้อยู่เกือบ 10 หลัง แต่เวลานี้ไม่มีแขกคนอื่นเลยนอกจากผม
แม้ช่วงนี้ฝนตกทุกวัน แต่ทั่วบริเวณเกสต์เฮาส์น้ำไม่ท่วมขัง ยกเว้นแปลงนาข้าวริมถนน ที่พักในละแวกนี้ส่วนใหญ่สร้างเป็นบ้านต้นไม้ ยกใต้ถุนสูงเกือบสิบเมตร ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก
สำหรับเกสต์เฮาส์ของลุงนิฮาลมีจุดเด่นนอกจากบรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ นกนานาชนิดและกระรอกแล้ว บริการก็ดีเยี่ยม แถมอาหารพื้นเมืองอร่อยมาก ข้อเสียมีอยู่อย่างเดียวคือยุงเยอะ อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบ้านเรือนที่อยู่กลมกลืนกับป่า
กินมื้อเช้าเสร็จแต่ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้แผนขึ้นภูเขาหินสิกิริยาที่อยู่ห่างออกไปแค่ 3 กิโลเมตรต้องถูกพับไปอย่างน่าเสียดาย ผมมีเวลาอีกไม่กี่วัน แต่ยังไปไม่ถึงแคนดี นูวาระเอลิยะ และเอลลา จากนั้นจะลงใต้ไปยังโคลัมโบ กอลล์ และกลับมาโคลอมโบ เพื่อบินกลับกรุงเทพฯ และสุดท้ายแล้วผมต้องตัดเมืองเหล่านี้ออกไปจากโปรแกรมเสียครึ่งต่อครึ่ง นี่ยังไม่นับโปลอนนารุวะ อดีตราชธานีหลังจากกรุงจากอนุราธปุระที่จำใจตัดออกไปก่อนหน้านี้ แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่าจะได้กลับมาศรีลังกาใหม่ในเร็ววันเพื่อไปเยือนโบราณสถานสำคัญๆ ให้ครบถ้วน
ดังที่ได้กล่าวถึงไปในฉบับที่แล้ว สิกิริยาเป็นพระราชวังลอยฟ้าบนเขาหินที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินสูง 180 เมตร และสูงเหนือระดับน้ำทะเล 349 เมตร รอบด้านเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีเขาหินที่คล้ายกันอีกลูกชื่อ “ปิดูรังกาลา” โผล่ขึ้นมา ตั้งอยู่ห่างกันกิโลกว่าๆ ซึ่งเมื่อวานนี้ผมได้ปีนขึ้นปิดูรังกาลาเพื่อมองมายังสิกิริยา ได้ภาพที่งดงามและน่าตื่นตะลึง
จุลวงศ์ซึ่งเป็นพงศาวดารส่วนต่อขยายของมหาวงศ์บันทึกไว้ว่า พระราชวังสิกิริยาสร้างโดยพระเจ้ากัสยปะ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1016–1038) กษัตริย์ผู้กระทำปิตุฆาตชิงบัลลังก์มาจากพระเจ้าธัตถุเสนะผู้เป็นพระบิดา แต่กลัวภัยจากเจ้าชายโมคคัลลานะ พระเชษฐาผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ตัวจริงเพราะประสูติแต่อัครมเหสี พระเจ้ากัสยปะจึงย้ายมาสร้างราชธานีแห่งใหม่ติดกับภูเขาหินสิกิริยา สร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขาที่เป็นลานหินอัคนี และสร้างป้อมปราการรอบภูเขาหินเพื่อรอรับศึก สุดท้ายก็พ่ายแพ้สงครามและสิ้นพระชนม์จากการทำอัตวินิบาตกรรม
สิกิริยา มาจากคำว่า “สิงห์” และ “คีรี” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lion Rock ได้ชื่อนี้มาเพราะหินช่วงกลางระหว่างทางขึ้นยอดเขาถูกแกะสลักเป็นรูปเท้าราชสีห์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ขนาบช่องประตูที่ถูกเรียกว่า Lion Gate ราชสีห์ตัวเดียวกันนี้เคยมีศีรษะตั้งอยู่ด้านบนซุ้มประตู แต่ส่วนศีรษะได้พังถล่มลงมานานแล้ว
ส่วนประกอบโดดเด่นนอกจากพระราชวังบนลานหินยอดเขาแล้ว สิกิริยายังมีภาพเขียนกำแพงที่โด่งดัง คาดว่าเคยมีอยู่เต็มหน้ากำแพงหินฝั่งตะวันตก ขนาดยาว 140 เมตร สูง 40 เมตร แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงส่วนที่อยู่ด้านในถ้ำ ที่โด่งดังมากคือภาพสตรีเปลือยท่อนบนจำนวนหลายนาง
นอกจากนี้ยังมีทางเดินช่วงหนึ่ง กำแพงหินเคยถูกขัดเงาจนพระเจ้ากัสยปะสามารถใช้เป็นคันฉ่อง ต่อมาเมื่อสิกิริยาถูกปล่อยทิ้งร้างก็ยังมีผู้เดินทางมาเชยชมจากทั่วสารทิศ และได้เขียนบทกวีลงบนกำแพงกระจก บทกวีมีประมาณ 1,500 บท เก่าแก่สุดคือยุคคริสต์ศตวรรษที่ 8 ปัจจุบันห้ามเขียนเพิ่มโดยเด็ดขาด ส่วนคุณสมบัติความเป็นกระจกก็ไม่เหลืออยู่อีกแล้ว
สิกิริยาใช่ว่าจะโดดเด่นเฉพาะส่วนที่เป็นพระราชวังบนเขาหิน พระราชวังด้านล่างก็ขึ้นชื่อไม่แพ้กัน มีทั้งตำหนักและสวนต่างๆ สร้างโดยผ่านการออกแบบอย่างดี เน้นลักษณะสมมาตรและความกลมกลืนกับธรรมชาติรอบด้าน ภายในป้อมปราการมีสวนน้ำจำนวนมากที่เชื่อมต่อกันและเชื่อมกับคูน้ำรอบกำแพงเมือง มีสวนหินที่ออกแบบให้รับกับทิศทางลม และสวนตามระเบียงหินบริเวณส่วนฐานของภูเขา
หลังพระเจ้าโมคคัลลานะขึ้นครองราชย์ก็ทรงใช้อนุราธปุระเป็นราชธานีดังเดิม ไม่ได้ใส่พระทัยพระราชวังสิกิริยา พระสงฆ์จำนวนหนึ่งจึงเข้ามาใช้สิกิริยาเป็นสถานที่จำวัด กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา สิกิริยาถูกทิ้งร้างอย่างยาวนาน จนในสมัยที่อังกฤษเข้ามายึดครองศรีลังกา พวกนี้พอมาเจอสิกิริยาเข้าก็เริ่มงานขุดค้น นำไปสู่การบูรณะเต็มรูปแบบ และในปี พ.ศ.2525 สิกิริยาได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโกเป็นมรดกโลก
เวลา 11 โมงฝนยังไม่หยุด ผมจึงเคลียร์บิลค่าที่พักและค่าอาหาร 5 มื้อ แล้วก็เช็กเอาต์ ลา “มาโนช” ผู้จัดการและลูกชายของลุงนิฮาล วานนี้เขาเสนอเรื่องการเป็นหุ้นส่วนในเกสต์เฮาส์ จำได้เลาๆ ว่าการันตีกำไรตั้งแต่ปีที่ 6 แต่ผมจำเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ และในปีที่ 10 จะคืนเงินลงทุน เชื่อว่าแขกคนต่อไปที่เข้าพักจะได้รับข้อเสนอเดียวกันนี้
ฝ่ายลุงนิฮาลก็เสนอบริการตุ๊กๆ ของแกไปส่งผมที่วัดรังคิรีดัมบุลลาราชมหาวิหาร (Rangiri Dambulla Raja Maha Viharaya) อาจเรียกสั้นๆ ว่า “วัดถ้ำดัมบุลลา” อยู่ใกล้ตัวเมืองดัมบุลลา วัดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งมรดกโลกของศรีลังกา บางครั้งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Golden Temple of Dambulla มรดกโลกของศรีลังกา 2 แห่งที่กล่าวถึงอยู่ห่างกันเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น
สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกามีมรดกโลกอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง แบ่งเป็นโบราณสถานทางวัฒนธรรม 6 แห่ง ได้แก่ เมืองโบราณอนุราธปุระ, สิกิริยา, วัดถ้ำดัมบุลลา, เมืองโบราณโปลอนนารุวะ, วัดพระเขี้ยวแก้วเมืองแคนดี และเมืองเก่า-ป้อมปราการกอลล์ ส่วนอีก 2 แห่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ เขตป่าสงวนสิงหราชา (อยู่ทางใต้ของประเทศ) และเขตที่ราบสูงตอนกลางศรีลังกา
รัฐบาลศรีลังกามีโครงการที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมวัฒนธรรม” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยือนโบราณสถานที่ ดูในแผนที่แล้วโยงกันเป็นรูป 3 เหลี่ยม มีอนุราธปุระอยู่มุมบน โปลอนนารุวะอยู่มุมขวา แคนดีอยู่มุมล่าง ตรงกลางรูป 3 เหลี่ยมมีสิกิริยาและดัมบุลลา ทั้ง 5 จุดนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก หากมีเวลาไม่มาก คะเนว่าสัก 3 วันก็คงไปเยือนได้ครบ เพียงแต่จะไม่ทั่วถึงในรายละเอียด
วานนี้ลุงนิฮาลเสนอราคาขับตุ๊กๆ จากสิกิริยาไปส่งผมที่ดัมบุลลา 1,200 รูปี วันนี้แกคิด 2,000 รูปี คงเพราะแกเพิ่มบริการจอดรอระหว่างผมเข้าชมวัดถ้ำดัมบุลลา นั่นเท่ากับผมมีที่ฝากกระเป๋าไปด้วยในตัว การจะแบกเป้ใส่เสื้อผ้าหนักราว 10 กิโลขึ้นวัดถ้ำดัมบุลลาเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะที่ตั้งของวัดอยู่สูงจากพื้นราบรายรอบมากกว่า 160 เมตร (อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 340 เมตร)
ที่เมืองดัมบุลลาอากาศเป็นใจ ฝนไม่ตก และไม่เห็นร่องรอยว่าฝนได้ตกลงมาเมื่อเช้านี้ ลุงนิฮาลจอดตุ๊กๆ รอที่ลานจอดรถด้านล่างวัดถ้ำ ผมเข้าไปซื้อตั๋วราคา 1,500 รูปีในสำนักงานของวัด ทางเดินขึ้นวัดเป็นบันไดหินอย่างดี ถึงลานก่อนเข้าวัดถ้ำมีจุดฝากรองเท้าราคา 20 รูปี พ่อค้าขายของที่ระลึกเข้ามารุมล้อม ผมบอกว่าออกมาจากวัดแล้วค่อยดู คนหนึ่งกำชับว่า “อย่าลืมนะ”
หลังเดินผ่านศาลาซุ้มประตูของวัดเข้าไป เห็นต้นโพธิ์อยู่ทางซ้ายมือ ที่ฐานรั้วของต้นโพธิ์มีคนจุดเทียนและวางดอกไม้บูชาอยู่ไม่ขาดสาย ด้านขวามือคือแนวยาวของถ้ำดัมบุลลา เสริมด้วยอาคารโถงทางเดินสีขาวสะอาดที่ยื่นต่อออกมาจากแนวถ้ำ
วัดถ้ำดัมบุลลาเริ่มสร้างโดยพระเจ้าวลากัมภะ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.454–466) เกิดจากการขุดเจาะแนวหินขนาดใหญ่แล้วกั้นเป็นห้องๆ ด้วยกำแพงอิฐ มีทั้งหมด 5 ห้องเรียงกันในแนวหน้ากระดาน ประดิษฐานพระพุทธรูปรวมทั้งสิ้น 153 องค์ พระเทวรูปในศาสนาฮินดู 4 องค์ และพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ศรีลังกา 3 องค์ ภาพเขียนผนังและเพดานถ้ำมีไม่น้อยกว่าถ้ำละ 1,500 ภาพ กินพื้นที่รวม 2,100 ตารางเมตร ถือว่าเป็นขนาดของจิตรกรรมภายในวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศรีลังกา อย่างไรก็ตามภาพที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานซ่อมหรือเขียนทับภาพเดิมเมื่อยุค 3-4 ร้อยปีหลัง หรือในสมัยราชอาณาจักรกัณฏิ (แคนดี)
ถ้ำห้องแรกมีชื่อว่า “เทวาราชเลนะ” เป็นถ้ำที่มีขนาดเล็กสุดเมื่อเทียบกับอีก 4 ถ้ำที่เหลือ มีรูปปั้น 7 รูป พระพุทธรูปปางไสยาสน์แกะสลักจากหินเป็นพระประธานของห้อง รูปปั้นพระอานนท์อยู่เบื้องพระบาท พระวิษณุอยู่ใกล้พระเศียร ห้องนี้สร้างอุทิศถวายแด่พระเจ้าวลากัมภะ ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์ยุคหลังจากพระเจ้าวลากัมภะสวรรคตไปแล้ว
ห้องที่ 2 ชื่อ “มหาราชเลนะ” ห้องนี้มีขนาดใหญ่กว่าห้องอื่น มีพระพุทธรูปอยู่เกือบ 60 องค์ ทั้งพระนอน พระนั่ง และพระยืน รวมถึงพระบรมรูปของพระเจ้าวลากัมภะ และพระเจ้านิสสันสกะมัลละ (พระมหากษัตริย์ในสมัยโปลอนนารุวะ) ห้องนี้มีสิ่งที่โดดเด่นนอกเหนือจากพระพุทธรูปคือน้ำศักดิ์สิทธิ์หยดจากเพดานถ้ำลงสู่ภาชนะรองรับ เชื่อกันว่าหยดลงมาไม่เคยหยุดแม้ในช่วงที่ศรีลังกาประสบกับภาวะแห้งแล้ง อีก 1 สิ่งคือพระเจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่กลางถ้ำ ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูป 7 องค์ ซึ่ง 2 องค์มีพญามุจลินท์นาคราชแผ่พังพานเหนือพระเศียรขณะพระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้
ถ้ำห้องที่ 3 ชื่อว่า “มหาอลุตวิหาร” พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะแห่งราชอาณาจักรกัณฏี ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาด 30 ฟุตไว้ที่มุมหนึ่ง และสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิขึ้นกลางห้อง รายล้อมด้วยพระพุทธรูปนั่ง 15 องค์ และยืน 42 องค์ รูปปั้นของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเองก็ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน ซึ่งพระมหากษัตริย์ศรีลังกาพระองค์นี้ก็คือผู้ที่ส่งคณะราชทูตมายังสยามเมื่อ พ.ศ.2293 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพื่อขอให้พระธรรมทูตจากสยามไปอุปสมบทกุลบุตรชาวศรีลังกาที่เวลานั้นศรีลังกาแทบไม่เหลือพระสงฆ์อยู่เลย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาก็ได้จัดส่งคณะธรรมทูตจำนวน 25 รูป นำโดยพระอุบาลีลงเรือไปยังศรีลังกา ภารกิจสำเร็จลุล่วงจนพุทธศาสนายืนยงคู่ศรีลังกาจนถึงทุกวันนี้
ห้องหมายเลข 4 ชื่อว่า “ประจิมวิหาร” มีพระเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานกลางถ้ำ ชื่อ “โสมาเจดีย์” เชื่อว่าบรรจุเครื่องเพชรพลอยของพระนางโสมาวตี อัครมเหสีในพระเจ้าวลากัมภะ
ถ้ำห้องที่ 5 ชื่อว่า “เทวานะอลุตวิหาร” มีพระพุทธรูปประดิษฐาน 11 องค์ ได้แก่ 1 พระนอน, 5 พระยืน และ 5 พระนั่ง เชื่อว่าเป็นงานพุทธศิลป์ในสมัยหลัง ประมาณ 2 ร้อยปีที่ผ่านมา
ออกมาจากถ้ำห้องที่ 5 แล้วผมก็เดินสำรวจลานด้านหน้าของแนวถ้ำซึ่งเป็นเหมือนระเบียงหินของถ้ำ สามารถมองออกไปเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้อย่างกว้างไกล ภูเขาโผล่ขึ้นมากลางที่ราบหลายลูก ผมเดินลอดซุ้มประตูกลับไปรับรองเท้าที่ฝากไว้ ให้เงิน 50 รูปีแก่ลุงผู้ดูแลโดยไม่รับเงินทอน แล้วก็เป็นดังที่คาด พ่อค้าขายของที่ระลึกเข้ามากลุ้มรุม
พวกเขาเหล่านี้ส่วนมากหิ้วสินค้าเดินขาย ไม่มีแผงค้าเป็นเรื่องเป็นราว ผมซื้อแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็นรูปช้างมา 1 ชิ้น แล้วสลัดคณะพ่อค้าเดินลงเขา แต่มีคนหนึ่งอดทนมุ่งมั่นเดินตามลงบันได้ไปเกือบครึ่งทาง เขาขายเครื่องประดับจำพวกสร้อยคอและหินมงคลหลายชนิด ที่ผมจำได้มีมูนสโตน หรือมุกดาหาร และไทเกอร์อาย หรือคดไม้สัก ค่อยๆ ลดราคาลงมาจากหลายพันรูปีเหลือ 700 รูปี ผมก็ยังไม่ซื้อ เขาเดินกลับขึ้นไปอย่างหัวเสีย
ลงถึงลานจอดรถลุงนิฮาลถามเรื่องมื้อเที่ยงที่เลยเวลามาพอสมควรแล้ว ผมตอบว่าแล้วแต่ลุงจะแนะนำ ปรากฏว่าแกแวะที่ร้านแบบเทกอะเวย์ให้ผมซื้อไปกินบนรถบัสระหว่างทางไปเมืองแคนดี ก็ดีไปอย่าง จะได้ไม่เสียเวลา ผมซื้อขนมปังอบมา 2 อย่าง และน้ำเปล่า 1 ขวด
นึกว่าแกจะไปส่งในสถานีขนส่ง หรือที่เรียกกันว่า Bus Stand ปรากฏว่าแกส่งด้านหน้าทางเข้า แล้วบอกให้ผมยืนรอรถบัสตรงนั้น ผมจ่ายเงินแก 2,000 รูปี หรือประมาณ 330 บาท แล้วยกมือไหว้อำลา
ไม่ถึง 1 นาทีมีหนุ่มคนขับตุ๊กๆ เข้ามานำเสนอทัวร์สถานที่ต่างๆ ในดัมบุลลา ผมตอบว่าไปมาหมดแล้ว ตอนนี้กำลังจะเดินทางไปแคนดี เขาโบกรถบัสปรับอากาศขนาด 20 ที่นั่งคันหนึ่ง ผมบอกว่าอยากนั่งแบบไม่มีแอร์แต่ไม่ได้บอกสาเหตุว่ากลัวโควิด เขาว่ารถบัสมีแอร์ขับเร็วกกว่ารถบัสร้อนหลายเท่า ค่ารถ 220 รูปีเท่านั้น
เขายื่นหน้าเข้าไปคุยกับกระเป๋ารถแล้วก็เชิญผมขึ้นไป แน่นอนว่าเขาต้องได้ค่าคอมมิชชั่นนิดๆ หน่อยๆ แต่ผมก็ไม่ได้จ่ายแพงขึ้น ในตั๋วเขียนราคากำกับไว้
รถบัสวนเข้าไปในสถานีขนส่ง รอผู้โดยสารราว 5 นาทีไม่มีใครขึ้นมา คนขับก็ออกรถ มุ่งหน้าสู่อีกหนึ่งอดีตราชธานีศรีลังกา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง
เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้
แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ
ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว
ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย
คำอวยพรปีใหม่ 2568
ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง
ก้าวสู่ปีใหม่ 2568
สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก
ลัคนากุมภ์กับเค้าโครงชีวิตปี 2568
สรุป-แม้ทุกข์-กังวลจะยังอ้อยอิ่งอยู่ตลอดปีแต่ต้นปีเร่งสร้างฐานชีวิต ครั้นพฤษภาคมไปแล้ว