สงครามยูเครนกระทบ ‘ความมั่นคงทางอาหารโลก’

ไม่มีใครไม่รู้ว่ากำลังมีสงครามที่ยูเครน...เพราะข้าวของแพงขึ้นและความสงบสุขถูกรบกวนอย่างชัดเจน...แม้จะอยู่กันคนละซีกโลก

นายกรัฐมนตรีรัสเซียลงนามในคำสั่งพิเศษห้ามการส่งออกน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบจนถึงวันที่ 31 ส.ค.

อีกทั้งยังห้ามส่งออกข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังประเทศสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียนที่อยู่ใกล้เคียงจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.

นี่เป็นหนึ่งในมิติของ “วิกฤตความมั่นคงอาหารโลก” ที่เป็นผลทางตรงจากสงครามยูเครน ที่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารระดับโลก...รวมถึงประเทศไทยเราด้วย

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีอียิปต์และตุรกีเป็นผู้ซื้อหลัก ส่วนใหญ่แข่งขันกับสหภาพยุโรปและยูเครน

 “การส่งออกธัญพืชภายในโควตาภายใต้ใบอนุญาตส่วนบุคคลจะยังทำต่อได้” รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย Viktoria Abramchenko กล่าวบนโซเชียลมีเดีย

และเสริมว่า จำเป็นต้องมีการสั่งห้ามชั่วคราวเพื่อจัดหาธัญพืชสำหรับผู้บริโภคในประเทศ

เพราะสงครามเริ่มมีผลกระทบต่อปากท้องของคนรัสเซียแล้วอย่างเป็นรูปธรรม

ราคาข้าวสาลียุโรปปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงหลังจากสำนักข่าว Interfax รายงานว่ารัสเซียจะห้ามการส่งออกธัญพืชจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน โดยอ้างจากกระทรวงเกษตรฯ

การส่งออกข้าวสาลีของรัสเซียลดลงร้อยละ 45 นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลการตลาดในเดือนกรกฎาคม-มิถุนายน อันเนื่องมาจากผลผลิตพืชผลลดลง

อีกทั้งยังมีปัญหาภาษีส่งออกธัญพืช และโควตาการส่งออกที่กำหนดไว้ที่ 11 ล้านตันของธัญพืช รวมถึงข้าวสาลี 8 ล้านตัน สำหรับ 15 ก.พ.-30 มิ.ย.

รัสเซียยังคงมีข้าวสาลีที่จะส่งออก 6 ล้านถึง 6.5 ล้านตัน จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน

2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกมาแล้ว

วันนี้สงครามยูเครนเพิ่มความหนักหน่วงของปัญหาขึ้นอีกระดับหนึ่ง

รัสเซียและยูเครนคือผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก และยูเครนเป็นประเทศส่งออกอันดับ 5

2 ประเทศรวมกันคือผู้ส่งออกข้าวบาร์เลย์ 19% ของโลก ข้าวสาลี 14% และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4%

นั่นหมายความว่าทั้ง 2 ประเทศคือแหล่งที่มามากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกธัญพืชทั่วโลก

ไม่แต่เท่านั้น 2 ประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิต 52% ของตลาดส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันของโลก

ห่วงโซ่อุปทานและปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่หยุดชะงักในการผลิตธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันของยูเครนและรัสเซียกับข้อจำกัดในการส่งออกของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ 50 ประเทศที่พึ่งพารัสเซียและยูเครนสำหรับอุปทานข้าวสาลี 30% ขึ้นไป

และหลายประเทศเป็นประเทศยากจนมีรายได้ต่ำและขาดอาหารในแอฟริกาเหนือ เอเชีย และตะวันออกใกล้

หลายประเทศในยุโรปและเอเชียกลางพึ่งพารัสเซียในการจัดหาปุ๋ยมากกว่า 50%

ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ การพยากรณ์ว่าการขาดแคลนทั้งหลายเหล่านี้อาจขยายไปถึงปีหน้า

ราคาอาหารได้เพิ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เนื่องจากความต้องการที่สูง ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง และการหยุดชะงักของท่าเรือ

ตัวอย่างเช่น ราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 31% ในช่วงปีที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเรพซีดและน้ำมันดอกทานตะวันพุ่งขึ้นมากกว่า 60%

ความต้องการที่สูงและราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนได้ผลักดันต้นทุนปุ๋ยให้สูงขึ้นอย่างน่ากลัว

ตัวอย่างเช่น ราคาของยูเรียซึ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่สำคัญได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

สงครามครั้งนี้จะมีผลทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางการเกษตรของ 2 ประเทศนี้อาจเพิ่ม “ความไม่มั่นคงด้านอาหาร” อย่างร้ายแรงทั่วโลก

แม้ธัญพืชจะพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเกษตรกรในยูเครนจะสามารถเก็บเกี่ยวและส่งไปยังตลาดได้หรือไม่

ยิ่งสงครามทำให้ผู้คนอพยพหนีสงครามกันจ้าละหวั่น ก็ยิ่งมีปัญหาเรื่องแรงงานภาคการเกษตรที่หดหายทันที

รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่การเกษตรก็จะเป็นเรื่องยาก     

การเลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์ปีกและการผลิตผักและผลไม้ก็จะถูกจำกัดเช่นกัน

ไม่แต่เท่านั้น ท่าเรือยูเครนในทะเลดำก็ปิดตัวลง แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางบกจะยังไม่ถึงขั้นพังพินาศหมด แต่ก็เสียหายหนักหน่วง

การขนส่งเมล็ดพืชโดยรถไฟก็ต้องหยุดชะงัก เพราะขาดระบบรถไฟที่ใช้งานได้จริง

แม้ว่าเรือยังคงสามารถขนส่งผ่านช่องแคบตุรกี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าที่สำคัญสำหรับการขนส่งข้าวสาลีและข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก แต่ค่าเบี้ยประกันก็จะพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน

วิกฤตซ้อนวิกฤตซ้อนวิกฤตจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ