วันนี้นักวางแผนระดับโลกทั้งหลายต่างก็มีคำถามคล้ายกันว่า
“ปูตินคิดอะไรอยู่?”
เพราะกระบวนการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจของผู้นำรัสเซียคนนี้กำลังจะตัดสินว่าโลกจะก้าวไปสู่ทิศทางไหน...สงครามใหญ่หรือสันติภาพที่ไม่แน่นอน?
ผมอ่านบทวิเคราะห์จากหลายแหล่งข้อมูลแล้ว ต่างก็สรุปตรงกันข้อหนึ่งว่า
การอ่านใจปูตินเป็นศาสตร์พิเศษแขนงหนึ่งทีเดียว
ทฤษฎีหนึ่งบอกว่าผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน “ติดอยู่ในโลกปิดที่เขาสร้างขึ้นเอง”
นักวิเคราะห์สายตะวันตกเชื่ออย่างนั้น...และนั่นทำให้พวกเขากังวลอย่างมาก
นักวางยุทธศาสตร์ตะวันตกพยายามจะทำความเข้าใจกับ “วิธีคิดและตรรกะ” ของปูติน เพื่อจะได้วางนโยบายและทิศทางที่จะบริหารความสัมพันธ์กับรัสเซีย
แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่ามีความเข้าใจ “ความเป็นปูติน” ได้แจ่มแจ้งพอที่จะเรียกตัวเองว่า “ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวตนของปูติน”
ยิ่งช่วงนี้ยิ่งมีความสำคัญที่จะประเมินว่าผู้นำรัสเซียคนนี้จะเอาอย่างไรกับสงครามในยูเครน
เพราะถ้าเดาทางปูตินไม่ถูก ก็จะไม่รู้ว่าจะต้องตอบสนองต่อสงครามที่ทำท่าจะบานปลายและขยายวงไปได้อย่างไร
นักวิเคราะห์เหล่านี้จึงยอมรับว่าการเข้าถึง “สภาพจิตใจ” ของปูตินมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้วิกฤตทวีความรุนแรงขึ้นในดินแดนที่เปราะบางและเสื่อมทรุดลงทุกวัน
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ผู้นำรัสเซียคนนี้ไม่ธรรมดา...อาจจะเป็นทั้งอัจฉริยะและคนมีปัญหาทางอารมณ์ในขณะเดียวกันก็ได้
บางกระแสเชื่อว่าเขาเป็น “คนโดดเดี่ยว” และมีแนวโน้ม “ปิดทางสำหรับมุมมองที่แตกต่าง”
บางคนเอารูปหลายๆ กรณีในช่วงหลังมาประเมินแล้วก็เกิดคำถามว่า ทำไมเขาต้องทำอย่างนั้น
เช่น ภาพการประชุมของปูตินกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของรัสเซีย
ที่นั่งห่างกันระหว่างหัวโต๊ะกับปลายสุดของโต๊ะยาว
อีกภาพหนึ่งเห็นการประชุมของนายปูตินกับทีมความมั่นคงแห่งชาติในช่วงก่อนสงคราม...ก็นั่งห่างกันไกลแสนไกลเช่นกัน
แรกๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะปูตินกลัวติดโควิด
แต่เมื่อเขาทำเช่นนี้กับทุกคน แม้แต่คนใกล้ชิดที่สุด ก็เริ่มเกิดทฤษฎีใหม่ว่า
หรือปูตินกลัวถูกลอบสังหาร?
หรือเขาระแวงแม้แต่คนใกล้ตัว?
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองบางประเทศบอกว่าแผนทางทหารสำหรับบุกยูเครนเบื้องต้นของปูตินมีความละม้ายกับแนวทางที่ร่างขึ้นโดยเจ้าหน้าที่เคจีบีในอดีต
นั่นหมายความถึงวิธีคิดของปูตินสมัยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองเคจีบี
ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของวันนี้ก็ได้
นักวิเคราะห์ตะวันตกอ้างว่าแผนบุกยูเครนของปูตินรอบนี้น่าจะเป็นผลงานของ "กลุ่มสมรู้ร่วมคิด" ที่อยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นและปกปิดเป็นความลับสุดยอด
แต่ผลที่ตามมาในสนามรบคือ ความโกลาหลและความไม่พร้อมของผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียในภาคสนาม
ถึงขั้นที่ทหารบางคนข้ามพรมแดนเข้ายูเครนไปโดยไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร
หรือนี่คือระบบการตัดสินใจของ “ข้าฯ ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
วันนี้ KGB แม้จะปรับเปลี่ยนเป็น FSB RF (Federal Security Service of the Russian Federation) แต่อำนาจการตัดสินใจในโครงสร้างอำนาจของรัสเซียยังอยู่ในมือของประธานาธิบดีเป็นหลัก
ดังนั้นคนที่พยายามจะเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลรัสเซียจึงต้องเจอกับความท้าทายในการทำความเข้าใจกันว่าปูตินเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเพียงคนเดียวในมอสโกใช่หรือไม่
คนข้างนอกจะรู้ได้อย่างไรว่าปูตินอาศัยข้อมูลจากกลไกรัฐใดในการตัดสินใจ
และกลุ่มคนที่ปูตินไว้วางใจจริงๆ มีอยู่กี่คนและเป็นใครบ้าง
คนเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดต่อปูตินมากน้อยเพียงใด
...และกล้าโต้แย้งกับปูตินหากมีความเห็นต่างในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศเพียงใด
หรือเขาตกอยู่ในสภาวะ “ถูกโดดเดี่ยวในฟองสบู่ที่เขาสร้างขึ้นเอง” โดยมีข้อมูลภายนอกแทรกซึมน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ปูตินคิดอยู่
ผู้นำโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ย่อมตัดสินใจอะไรที่สุ่มเสี่ยงที่เป็นอันตราย
บางครั้งผู้นำเองอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองด้วยซ้ำไป
เพราะบ่อยครั้งผู้นำเช่นนั้นจะฟังคนรอบข้างจำนวนหนึ่งเท่านั้นและปิดกั้นทุกสิ่งทุกอย่าง
ทำให้การตัดสินใจของผู้นำนั้นๆ บูดเบี้ยว แปลกแยกไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกข้างนอก
คำถามก็คือ ใครคือที่ปรึกษาวงในของปูติน และเขาเหล่านั้นมีมุมมองต่อโลกอย่างไร
มองจากข้างนอกก็จะเห็นว่าที่ปรึกษารอบๆ ตัวปูตินเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความโน้มเอียงจะต้องการเอาใจเจ้านายมากกว่าที่จะพยายามเสนอแนะ “ทางเลือกของนโยบาย” ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ “ใช่ครับสบาย ถูกต้องครับท่าน”
ปูตินมีความเชื่อฝังหัวว่าตะวันตกต้องการจะโค่นเขาลงจากอำนาจ
เขาฝันอยากเห็นรัสเซียกลับมายิ่งใหญ่เหมือนจักรวรรดิโซเวียตในอดีต
คนที่เฝ้าติดตามปูตินบอกว่าเขามีแรงผลักดันจากความปรารถนาที่จะเอาชนะความอัปยศอดสูของรัสเซียในทศวรรษ 1990
ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นว่าชาติตะวันตกมุ่งมั่นที่จะทำให้รัสเซียตกต่ำและขับไล่เขาออกจากอำนาจ
นักข่าวคนหนึ่งอ้างว่าเคยเจอคนที่พบกับนายปูตินจำได้ว่าเขาหมกมุ่นอยู่กับการดูวิดีโอคอลกัดดาฟีที่ถูกสังหารหลังจากที่เขาถูกขับออกจากอำนาจในปี 2011
ที่ผู้คนต้องการจะเข้าใจว่า “ปูตินคิดอะไรอยู่” ก็เพราะเขาเป็นคนเดียวในรัสเซียที่จะตัดสินใจจะกดปุ่มนิวเคลียร์หรือไม่!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ