นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง วัย 66 ปี เพิ่งประกาศให้ได้รับทราบโดยทั่วกันว่าเขาจะลงจากตำแหน่งภายใน 1 ปี
แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะยังคงดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดต่อ เพราะได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2561 ให้หมายเลข 1 ของประเทศรั้งตำแหน่งต่อไปได้เกือบจะไม่มีการหมดวาระ
เผลอๆ อาจจะยกระดับตำแหน่งไปเป็น “ประธานพรรค” เหมือนที่เหมา เจ๋อตุง เคยใช้กับตนเอง
หลี่ เค่อเฉียง พูดเปรียบเปรยความท้าทายของการทำงานในตำแหน่งนายกฯ จีนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ
แกบอกว่าการบริหารจัดการเศรษฐกิจจีนทุกวันนี้ “เหมือนกับการปีนเขาสูงที่มีอากาศเบาบาง และมีแรงดันอากาศสูง”
ความจริง คำประกาศลงจากตำแหน่งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะบรรดาผู้นำระดับสูงของจีนมักอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 เทอม เทอมจะ 5 ปี เทอมที่ 2 ของนายกฯ หลี่ จะครบวาระในปีหน้า
บรรดารัฐบาลต่างชาติและบริษัทข้ามชาติต่างจับตามองการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้นำครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ทิศทางทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนต่อจากนี้ ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจจากวิกฤตในยูเครน
ในการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้หลังการประชุมใหญ่ของสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาฯ นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ยอมรับถึงความยากลำบากในการบรรลุตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีนท่ามกลางความท้าทายมากมาย
นายกฯ หลี่เปรียบให้ฟังว่า
"หากคุณปีนเขาสูง 1,000 เมตร แล้วต้องการปีนขึ้นไปอีก 10% คือ 100 เมตร นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากคุณปีนเขาสูง 3,000 เมตรแล้วต้องการปีนขึ้นไปอีก 5% นั่นเท่ากับ 150 เมตร ซึ่งปัจจัยต่างๆ จะเปลี่ยนไป เนื่องจากแรงดันอากาศที่ลดลงและออกซิเจนที่เบาบางลง"
รัฐบาลจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโต 5.5% ขณะที่สถาบันการเงิน มอร์แกน สแตนลีย์ คาดว่าจะขยายตัว 5.3% และธนาคารไอเอ็นจี คาดว่าจะขยายตัว 4.8%
ความตึงเครียดทางการค้าของสหรัฐฯ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายหลี่ไม่น้อย
ใครเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะจะมานั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อจากหลี่ เค่อเฉียง เป็นคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังพยายามจับตาเพื่อหาคำตอบอยู่
ณ วันนี้ แวดวงนักวิเคราะห์การเมืองจีนมองเห็น 3 คน
ในภาพจากซ้าย : เลขาธิการพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ Li Qiang
ประธานคณะที่ปรึกษาระดับสูง Wang Yang และรองนายกรัฐมนตรี Hu Chunhua
หลังจบสิ้นการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ความสนใจก็เปลี่ยนไปเป็นคำถามที่ว่าใครจะมาบริหารเศรษฐกิจของจีนแทนหลี่ เค่อเฉียง
และใครที่จะได้รับเลือกนั้นจะโยงกับ “ดุลแห่งของอำนาจ” ในระดับบนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไร
หลังจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2556 หลี่ได้วางกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "ลิโคโนมิกส์" หรือแนวทางที่เป็นโมเดลเฉพาะของนายกฯ คนนี้
นั่นคือความพยายามที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจของจีนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่ความมั่นคงที่มากขึ้น
แนวทางของนายกฯ หลี่บางส่วนคืบหน้าไปบ้าง เช่น การเปิดเสรีตลาดรถยนต์และการเปิดเสรีด้านการเงินบางด้าน
แต่ต่อมาในปี 2559 สี จิ้นผิง ก็เข้ามาทำเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น โดยทำงานผ่านรองนายกรัฐมนตรีหลิว เห่อ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับท่านประธานาธิบดีไม่น้อยในหลายๆ เรื่อง
สี จิ้นผิง หันมาเน้น “กลยุทธ์การหมุนเวียนแบบคู่” หรือ Dual Circulation ที่ประกาศในปี 2563
เป็นนโยบายที่เน้นอุปสงค์ภายในประเทศในขณะที่เจาะตลาดต่างประเทศด้วย
เพราะได้บทเรียนราคาแพงจากวิกฤตโควิดที่ทำให้ตลาดโลกหดตัวและระบบการขนส่ง หรือ logistics ระหว่างประเทศถูกขัดขวางอย่างรุนแรง
ต่อมา สี จิ้นผิง พยายามผลักดันนโยบายลดช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนด้วยนโยบาย “รุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common Prosperity
ใครจะมารับช่วงนโยบายเหล่านี้ต่อ?
ในบรรดาแคนดิเดตระดับต้นๆ คือ หลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเซี่ยงไฮ้ เขาเป็นผู้สนับสนุนสี จิ้นผิง ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงตอนที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคของมณฑลเจ้อเจียง ระหว่างปี 2545 ถึง 2550
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับประธานาธิบดีแล้ว ประสบการณ์ของหลี่ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจสองประเทศ คือ เซี่ยงไฮ้และมณฑลเจียงซู ช่วยเสริมโอกาสที่จะทำให้เขาได้รับเลือกเป็นนายกฯ ก็มีสูง
คนที่ 2 คือ หวัง หยาง ประธาน “สภาที่ปรึกษาทางการเมืองของประชาชนจีน” ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาระดับสูง และสำคัญอันดับ 4 ในการจัดอันดับบารมีทางการเมืองของพรรค
หวัง หยาง เป็นที่รู้จักเพราะความรู้ลุ่มลึกด้านเศรษฐศาสตร์ และกลายเป็นที่จับตาหลังจากที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เยือนจีนตอนใต้เมื่อปี 2535 ที่ตอกย้ำวาระการปฏิรูปและเปิดกว้างของเติ้ง
หวัง หยาง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารระดับสูงของจีน โดยเริ่มในปี 2546 ภายใต้นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า
เขาเคยเป็นเลขาธิการพรรคในมณฑลกวางตุ้งและเมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็น 2 บันไดสำคัญของการก้าวสู่ตำแหน่งระดับชาติสำหรับผู้นำจีนทุกยุคทุกสมัย
ผู้อยู่ในสายตาอีกคนหนึ่งคือ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หู ชุนฮวา ซึ่งได้รับความยอมรับ เพราะความโดดเด่นในฐานะผู้นำสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
รัฐธรรมนูญของจีนได้รับการแก้ไขเมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการแต่งตั้งและถอดถอนรองนายกรัฐมนตรี
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นหนทางที่จะทำให้สี จิ้นผิง สามารถวางตัวให้คนสนิทและผู้ภักดี เช่น หลี่ เฉียง ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ แทนหลี่ เค่อเฉียง ได้
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ของผู้สังเกตการณ์จากวงนอกเท่านั้น
โดยเนื้อแท้แล้ว สี จิ้นผิง อาจจะมี “แผนสำรอง” อื่นๆ สำหรับการวางตัวนายกฯ คนต่อไปเพื่อสามารถรับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและร้อนแรงที่เกิดจากสงครามยูเครนรอบนี้ก็เป็นได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ