บทคัดย่อเรื่องนี้ เริ่มต้นคดีจากการพบศพชาวโรฮีนจาที่สงขลา ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนมาก ทลายขบวนค้ามนุษย์จนสิ้นซาก แต่นายตำรวจคนหนึ่งต้องลาออกจากราชการและขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดต่อกัน ทั้งพม่า ลาว และเขมร เพื่อเป็นแรงงานทำประมง เกษตรกรรม ก่อสร้าง และในโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ
เริ่มมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา บริเวณพื้นที่จังหวัดพรมแดนจังหวัดตาก ระนอง หนองคาย อุดร อุบล สระแก้ว ต่อมาก็ขยายเข้าเมืองใหญ่ที่มีความต้องการแรงงาน กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ อยุธยา และจังหวัดชายทะเลที่มีการทำประมงทุกจังหวัด
การลักลอบเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี และทำเป็นขบวนการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2557 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศขึ้นบัญชีประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีระดับการแก้ไขปัญหาการค้ามุษย์ต่ำสุด เทียร์ 3 ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรการขั้นต่ำตามกฎหมายต้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
ในรายงานระบุว่าไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่คอร์รัปชัน อำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์ มีข้าราชการไทย ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกองทัพเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากการลักลอบค้ามนุษย์ ฯลฯ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น สหรัฐและประเทศอื่นๆ ใช้มาตรการในการกีดกัน ไม่ซื้อสินค้า ประมูลมูลค่าความเสียหาย คาดว่าประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเลแช่แข็ง รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เช่นเสื้อผ้า
รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ ได้ประกาศยกระดับการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ บูรณการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงเกษตรฯ (กรมประมง) กระทรวงแรงงาน และข้าราชการทุกหน่วยงาน ร่วมมือกับภาคเอกชน ประชุมวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังโดยด่วน
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจพบศพชาวโรฮีนจาที่แคมป์ที่พักชั่วคราว บริเวณชายป่า เทือกเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ห่างจากเขตแดนมาเลเซีย 300 เมตร ได้เริ่มการสืบสวนสอบสวน นำศพไปชันสูตรพลิกศพ
ชาวโรฮีนจา เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อย นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศพม่า อพยพเข้าพม่าจากบังกลาเทศ ตั้งแต่สมัยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
พม่าไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาเป็นพลเมืองพม่า ชาวโรฮีนจาไม่ได้รับสวัสดิการ ทั้งการรักษาพยาบาล และการศึกษา คุณภาพชีวิตตกต่ำ มีความขัดแย้งกับรัฐบาล โดยรู้สึกว่าถูกกดขี่ เกิดการปะทะต่อสู้กัน รัฐบาลพม่าได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม มีการเผาทำลายบ้านเมืองและชุมชน
ชาวโรฮีนจาอพยพหลบหนี ลงเรือข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพื่อทำงานหรือเดินทางต่อไปทำงานที่มาเลเซีย
ผมในฐานะ ผอ.ศพดส.ตร รับผิดชอบในการปราบปรามการค้ามนุษย์ได้เดินทางไปสงขลา ประชุมให้คำแนะนำพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ที่ สถานีตำรวจภูธรปาดังเบซาร์
การสืบสวนเบื้องต้น ตำรวจได้พยานปากสำคัญ ภรรยาผู้ตายเปิดเผยสาเหตุผู้ตายถูกยิงมาจากขัดผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลใน ต.ปาดังเบซาร์ เรื่องการค้าแรงงานต่างด้าว ได้เปิดโปงผู้เกี่ยวข้องในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สงขลาและสตูล
การสืบสวนยังพบว่ามีคดีมาตรกรรมและคดีค้ามนุษย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงอีกหลายคดี ร่วมกันกระทำความผิดเป็นเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ ที่สลับซับซ้อน และมีการกระทำความผิดครอบคลุมหลายพื้นที่ ตั้งแต่ต้นทางระนอง พังงา ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สตูลและสงขลาปลายทาง
เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ตชด.ร่วมตรวจค้นพบแคมป์ที่พักชั่วคราวที่ควบคุมชาวโรฮีนจา จำนวน 15 แห่ง รวม 117 หลัง พบศพชาวโรฮีนจาเพิ่มขึ้นอีกรวม 36 ศพ
ตำรวจได้ระดมกำลังค้นหาช่วยเหลือเหยื่อคนต่างด้าวที่หลบหนีออกจากแคมป์ไปซ่อนตัวอยู่บริเวณโดยรอบ จำนวน 320 คน มีทั้งชาวโรฮีนจา บังกลาเทศ และพม่า นำตัวไปพักที่ศูนย์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ อ.รัตภูมิ จัดอาหารและดูแลรักษาพยาบาล เพื่อทำการคัดแยกส่งกลับต่อไป
พอเริ่มเป็นคดีใหญ่ มีประชาชนให้ความสนใจ นักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศทุกสำนัก สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เดินทางไปปักหลักทำข่าวอย่างมากมายนับร้อยคน เป็นกองทัพนักข่าวติดตามรายงานผลการทำงานของตำรวจอย่างใกล้ชิดเกาะติดทุกสถานการณ์
ผมถูกเชิญให้ไปสัมภาษณ์ทางทีวี เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์เกือบทุกรายการข่าว พิธีกรผู้สัมภาษณ์ เช่น คุณสุทธิชัย หยุ่น, คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา, คุณเทพชัย หย่อง, คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ (หมาแก่) ฯลฯ และรายการวิทยุเกือบทุกวัน
ทันใดนั้นเองก็มีข่าวว่าจะให้รอง ผบ.ตร.อีกคนมาทำหน้าที่ควบคุมคดีนี้แทน เบื้องหลังต้องการดิสเครดิตผม โดยมีจุดมุ่งหมายอะไรก็พอจะเข้าใจได้
ผมไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้น ก็ทำงานอยู่กับคณะสอบสวนต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา
คณะทำงานของนายกฯ ประยุทธ์ทราบเรื่องได้รายงานให้นายกฯ ประยุทธ์ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ควบคุมคดีนี้
นายกฯ ประยุทธ์ ได้สั่งการ กำชับให้ ผบ.ตร.มาแจ้งผมเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการสืบสวนสอบสวนคดีค้ามนุษย์ต่อไป
ผมได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อบริหารการสืบสวนสอบสวนคดี ที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ศูนย์ฯ ประกอบด้วยข้าราชการทุกฝ่าย ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปปง. แบ่งงานเป็นฝ่ายต่างๆ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายประชาสัมพันธ์
พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันทน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร ผู้บังคับตำรวจจังหวัดสงขลา (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) นำกำลังตำรวจกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 และตำรวจในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประมาณ 100 นาย หมุนเวียนมาร่วมปฏิบัติหน้าที่ประจำตลอดเวลา
ผมได้เรียกตัว พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มาปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนด้วย
พล.ต.ต.ปวีณ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีประสบการณ์และผลงานการสืบสวนสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์สำคัญๆ หลายคดี เคยเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจอำเภอเมืองภูเก็ต ผู้บังคับตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พล.ต.ต.ปวีณ เป็นคนสุภาพ เรียบร้อย ขยันขันแข็ง อดทน มีวินัย ที่สำคัญ ซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา กล้าหาญ เป็นตำรวจที่ดีเป็นแบบอย่างและเป็นที่รักใคร่ของตำรวจและประชาชน
พล.ต.ต.ปวีณ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คณะประกอบด้วย พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ นิตยวิมล รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา พ.ต.อ.คำรณ ยอดรักษ์ รอง ผบก.สส.ภ.9 พ.ต.อ.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา ผกก.สส.ภ.8 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) และพนักงานสอบสวนอีกหลายสิบคนที่ระดมมาจากทุกสถานีตำรวจในจังหวัดสงขลา
อัยการสูงสุดได้แต่งตั้ง ร.ท.สมนึก เสียงก้อง รองอธิบดีอัยการ อัยการกู้เกียรติ เจริญบุญ อัยการในจังหวัดสงขลา และอัยการในพื้นที่ภาคใต้อีกหลายคน เป็นพนักงานสอบสวนร่วมสอบสวนกับตำรวจ อัยการสมนึกและอัยการกู้เกียรติอยู่ปฏิบัติหน้าที่กับตำรวจที่ศูนย์ฯ ด้วยความเข้มแข็งตลอดเวลาจนเสร็จคดี
เลขาธิการ ปปง. มอบหมายให้ นางชลธิชา ดาวเรือง ผู้อำนวยการกองคดี 3 สำนักงาน ปปง. และ นางสาวพัชรียา เหมวิรุฬห์ มาร่วมงานกับตำรวจสืบสวนสอบสวนยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องหา
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งนายพรสรวง ลี้ภูมิวนิชย์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ มาร่วมทำงานกับทีมสืบสวนของตำรวจ
ทุกวันตอนเช้าจะมีการประชุมทุกฝ่าย ติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ละฝ่ายจะนำความคืบหน้าจากการวิเคราะห์พยานหลักฐาน การสืบสวนธุรกรรมผู้ต้องหา ฯลฯ มาร่วมกันพิจารณาและตัดสินใจในการดำเนินคดีอย่างละเอียดรอบคอบ
เสร็จสิ้นการประชุมก็จะแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบว่าสืบสวนสอบสวนคดีคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนและต่างชาติได้ทราบว่ารัฐบาลได้เร่งรัดให้ตำรวจดำเนินการกับผู้กระทำผิดในคดีค้ามนุษย์อย่าง
จริงจัง เฉียบขาด ขยายผลอย่างกว้างขวาง
การสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐานว่าพ่อค้าคหบดีในจังหวัดระนองหลายคนร่วมกระทำผิด จึงได้มีการจับกุมตัวมาดำเนินคดี บางคนหลบหนีไปประเทศพม่า
และเมื่อตรวจค้นบ้านผู้ต้องหา ตำรวจพบเอกสารสำคัญบางอย่างเป็นหลักฐานยืนยันว่านายทหารผู้ใหญ่คนหนึ่งร่วมกระทำผิดด้วย
ผมพิจารณาแล้วเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ได้เดินทางเข้าพบและรายงานให้ให้รองนายกฯ ประวิตร และ ผบ.ทบ.ผู้บังคับบัญชานายทหารผู้นั้นทราบ
รองนายกฯ ประวิตรได้สั่งการให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการหรือ นักการเมืองท้องถิ่น
ผมกลับไปสงขลาดำเนินการขอศาลออกหมายจับนายทหาร เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว นายทหารผู้นั้นทราบ ได้ขอเข้ามอบตัวต่อ ผบ.ตร.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมและ พล.ต.ท.มนตรี ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.วีระสิทธิ์ เพชรคล้าย รอง ผบช.ภ.9 เข้าร่วมการรับมอบตัวผู้ต้องหาด้วย
ระหว่างนั่งในห้องรับรอง ผบ.ตร.ได้พูดกับนายทหารผู้ต้องหาว่า "เราเป็นพี่เป็นน้องกัน จะให้ความเป็นธรรม สอบสวนปากคำเสร็จแล้วก็จะให้ประกันตัวไป"
ผมรู้สึกแปลกใจ สงสัยว่าทำไม ผบ.ตร.พูดกับนายทหารผู้ต้องหาเรื่องการให้ประกันตัว โดยไม่ได้หารือสอบถามผมกับพนักงานสอบสวนก่อน
พอนายทหารผู้ต้องหาออกจากห้องไป ผมก็บอก ผบ.ตร.ว่าคดีนี้ อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มอบให้ผมและพนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกัน
พนักงานสอบสวนได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว ผู้ต้องหาที่จับกุมตัวได้หรือมอบตัว เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล ในท้องถิ่น อาจจะไปข่มขู่พยานหรือยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้เกิดความเสียหายต่อคดี
ดังนั้นจะสอบสวนผู้ต้องหาแล้วนำไปฝากควบคุมที่เรือนจำ จะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน หากมีการขอประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นศาล พนักงานสอบสวนก็จะคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทุกคนเหมือนกันหมด
ถ้าให้ประกันตัวเฉพาะนายทหารผู้ต้องหาเพียงคนเดียวอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ สื่อมวลและต่างชาติก็จับตาติดตามตลอด
ผบ.ตร.บอกให้ผมรีบไปเรียนให้รองนายกฯ ประวิทย์ เรื่องที่ไม่สามารถให้ประกันตัวผู้ต้องหาได้
ส่วนนายทหารผู้ต้องหา ขณะอยู่บนเครื่องบินตำรวจ กำลังจะเดินทางไปสงขลา มั่นใจว่าจะได้ประกันตัว โทรศัพท์บอกเพื่อนว่าจะไปให้การ เสร็จแล้วจะประกันตัวกลับกรุงเทพฯ ทันที
ครั้นเมื่อสอบสวนปากคำเสร็จ ไม่ได้ประกันตัว ก็เกิดอาการเกลียดโกรธ โมโห พูดว่า "กูโดนหลอก ผบ.ตร.จะให้ประกันตัว แต่ไอ้รองเอกคัดค้านไม่ให้การประกันตัว" ด่าทอ ข่มขู่ อาฆาตมาดร้ายต่างๆ นานา
จนกระทั่งถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำ พยานเข้าไปชี้ตัวก็ยังข่มขู่พยาน จนพยานหวาดกลัวต้องแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีอีกข้อหาหนึ่ง
ตำรวจและอัยการได้ร่วมกันสืบสวนสอบสวนคดี ทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนทุกวัน ติดต่อกันตลอด 3 เดือน ก็สืบสวนสอบสวนคดีนี้เสร็จสิ้น
สรุปสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ทั้งหมด 153 คน ผู้ต้องหามีทั้งนายทหาร ตำรวจ นักการเมืองผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ตลอดจนพ่อค้าคหบดีหลายคน ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและถูกจับกุมตัว 105 คน ผู้ต้องหาหลบหนี ต้องออกหมายจับ 45 คน ผู้ต้องหาถึงแก่กรรม 3 คน
ตำรวจได้นำสำนวนการสอบสวน ประกอบด้วยเอกสาร จำนวน 25,000 แผ่น บรรจุในแฟ้มใส่กล่องกระดาษ ประมาณ 20 กล่อง ขึ้นเครื่องบินตำรวจส่งอัยการสูงสุดที่กรุงเทพฯ
อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป
อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดนาทวี ที่มีเขตอำนาจศาลพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ อัตราโทษสูง ผู้ต้องหาจำนวน 88 คน ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ พยานจำนวน 401 ปาก การพิจารณาคดีที่ศาลนาทวีไม่สะดวกและมีอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ
ผมได้ประสานงานเลขาธิการศาลยุติธรรม ขอโอนคดีเข้ามาพิจารณาที่ศาลคดีค้ามนุษย์ กรุงเทพฯ
อัยการสูงสุด ได้แต่งตั้งอัยการที่มีความรู้ความสามารถนำพยานบุคคลและพยานหลักฐานเข้าสืบต่อศาล ระหว่างพิจารณาคดี
คดีนี้ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล ตำรวจต้องให้ความคุ้มครอง เยี่ยมดูแลพยานบุคคลอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มสอบสวน พยานปากสำคัญต้องหลบหนีไปพักที่มาเลเชีย ตำรวจต้องติดตามอำนวยความสะดวก พยานเดินทางจากสงขลามาเบิกความที่ศาลคดีค้ามนุษย์ กรุงเทพฯ ทุกครั้ง
ศาลได้พิจารณาคดีนี้อย่างต่อเนื่อง จนมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำเลยที่กระทำความผิด บางคนต้องโทษจำคุกหลายสิบปี นายทหารก็ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ได้ถึงแก่ความตายระหว่างถูกควบคุมที่เรือนจำ
เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปปง.สามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้จำนวนมาก มีทั้งเงินสด ที่ดิน โรงแรม รถยนต์ ฯลฯ จำนวน 253 รายการ มูลค่าประมาณ 220 ล้านบาท คดีถึงที่สุดศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อมาประเทศไทยได้รับการปรับระดับการดำเนินการเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ดีขึ้นตามลำดับ ส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศได้ตามปกติ
ผมโอนย้ายไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.ต.ปวีณกลับไปทำงานในตำแหน่งเดิม ถูกโยกย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการ ศชต.รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
พล.ต.ต.ปวีณ คงรู้สึกเสียใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ จึงขอลาออกจากราชการ เดินทางไปต่างประเทศและขอลี้ภัย
ผมพยายามติดต่อ พล.ต.ต.ปวีณเพื่อจะพูดคุยด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้บังคับบัญชาก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ไม่ทันการณ์ ผู้สื่อข่าวสนใจติดตามข่าวเรื่อง พล.ต.ต.ปวีณ อยากทราบเบื้องหลังต่างๆ อยู่สักพัก ก็เงียบหายไป
อาลัยอย่างยิ่ง กับการที่ พล.ต.ต.ปวีณต้องลาออกจากราชการ พลัดพรากจากครอบครัวและบ้านเกิดเมืองนอนไปลี้ภัยใช้ชีวิตต่างแดนด้วยความขมขื่น อยากจะบอกกับ พล.ต.ต.ปวีณว่า "พี่ขอโทษและเสียใจจริงๆ ที่ไม่สามาถช่วยเหลืออะไรได้เลย"
ทุกวันนี้ เมื่อผมมองดูโล่ประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นคดีการค้ามนุษย์ครั้งใด คิดถึง พล.ต.ต.ปวีณกับบทเพลงความฝันอันสูงสุด พระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 "จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติธำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ