เป็นประเด็นมาตลอดทั้งสัปดาห์ กรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยวาระที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขออนุมัติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยต่อขยายสัญญาสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบ BTS ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS อีก 30 ปี จากเดิมสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 ขยายต่อไปให้สิ้นสุดในปี 2602 แต่มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขอถอนวาระดังกล่าวออกไปก่อน
แน่นอนว่า วาระดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ได้เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต่อมามีรายงานว่าได้ถอนเรื่องออกจากการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อนนำเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะอยู่ในความสนใจของใครหลายๆ คน และได้มีการสอบถามไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณี ครม.ถอดวาระดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าสาเหตุการถอนเรื่องไม่ได้มาจากกระทรวงคมนาคมขัดขวางการนำเสนอ ครม. โดยเลขาธิการ ครม.ได้แจ้งก่อนเข้าวาระว่า กระทรวงมหาดไทยขอถอนเรื่องแต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงคมนาคมยังยืนยันประเด็นที่เคยเสนอทักท้วงการต่อสัญญา ซึ่งมีด้วยกัน 4 เรื่องที่เสนอไปก่อนหน้านี้
เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเห็นว่ามีข้อมูลบางเรื่องที่ยังต้องทำให้ครบถ้วนก่อน เช่น เรื่องการดำเนินการตามมติ ครม.ปี 2561 เรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ รวมถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช. และล่าสุดทาง BTS ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครอยู่ ควรฟังคำสั่งศาลว่าจะเป็นอย่างไรด้วย เพราะหากกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ต่อไปก็จะเป็นปัญหาไปด้วย
สำหรับข้อทักท้วง 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 2.การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท 3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของ BTS ยืนยันว่า ไม่ได้มีการกดดันให้มีการต่อสัมปทานเพื่อแลกกับมูลหนี้ที่ กทม.ค้างจ่ายอยู่รวม 3.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเรื่องการติดตามหนี้สินค้างจ่ายเป็นเรื่องที่ BTS ดำเนินการมานานแล้ว เป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทต้องแบกรับต้นทุนการเดินรถมาเป็นเวลานาน
สำหรับภาระหนี้สะสมที่ กทม.มีต่อ BTS แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จนถึงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 12,000 ล้านบาท 2.หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง BTS ยอมรับว่าการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าวที่มีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทำให้ BTS จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาบริหารจัดการ
สำหรับประเด็นเรื่องต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังเป็นที่น่าจับตามองจากหลายฝ่าย รวมถึงประชาชนที่ต้องใช้บริการ ที่สุดแล้วบทสรุปสุดท้ายจะออกมาในทิศทางใด ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ข้อตกลงร่วมกันใครได้ใครเสีย เรื่องนี้ประชาชนควรได้รับรู้รายละเอียด สุดท้ายเชื่อว่ารัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน วางนโยบายแล้วกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง ด้วยการที่ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าโดยสารที่แพงเกินความจำเป็น.
กัลยา ยืนยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม
เคลียร์ปมสถานีอยุธยา
เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research