มอง ‘สิกิริยา’ จาก ‘ปิดูรังกาลา’

เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า “ชนใดใส่ใจในอาหารเช้า ชนนั้นมีอารยธรรม” และอาจกล่าวต่อไปได้ว่า “ลักษณะของอาหารเช้าบ่งบอกพื้นฐานงานอาชีพ” อย่างเช่น ถ้าอาหารเช้าของชนชาติใดมากไปด้วยสารอาหารประเภทแป้งและจัดเตรียมไว้หลากหลายชนิด ประชากรหลักของถิ่นฐานนั้นน่าจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ผมขออนุญาตพูดถึงอาหารเช้าของศรีลังกาต่ออีกสักหน เช้านี้ที่ Sigiri Queens Rest เกสต์เฮาส์แบบบ้านต้นไม้ในตำบลสิกิริยา เมืองมาตาเล จังหวัดภาคกลาง

ผมลงบันไดหลายสิบขั้นจากบ้านต้นไม้หลังที่ตั้งอยู่ติดกับร้านอาหารของเกสต์เฮาส์ตามเวลานัด 7 โมงครึ่ง “มาโนช” ลูกชายลุงนิฮาลเจ้าของเกสต์เฮาส์เป็นผู้ยกสำรับมาวาง แม่และเมียของมาโนชคือคนปรุง ครัวอยู่แยกส่วนออกไปจากร้านอาหาร


ในสำรับประกอบไปด้วยแป้งฮอปเปอร์ 4 แผ่น กินกับมะพร้าวคั่วสมุนไพรและแยมสตรอว์เบอร์รี แป้งผสมเครื่องแกงปั้นเป็นก้อนทอด 2 ก้อน ต่อมาคือถั่วเหลืองผสมแป้งทอดมาแบบมีรูคล้ายโดนัท 2 ชิ้นใหญ่ ของหวานคือแพนเค้กสตริงฮอปเปอร์ผสมน้ำตาลทราย ม้วนเป็นแท่งยาว ฮอปเปอร์และสตริงฮอปเปอร์นี้ทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำกะทิ เท่ากับบนโต๊ะเต็มไปด้วยแป้งข้าวเจ้าและมะพร้าว นอกจากนี้มาโนชยังนำผลไม้จากสวนมาอีก ได้แก่ กล้วย มะม่วง และสับปะรด ถ้าไม่มีกาแฟปิดท้ายผมคงเดินกลับขึ้นบ้านต้นไม้ไปนอนต่อ


หลังเสร็จจากมื้อเช้าไม่นาน ผมออกเดินจากเกสต์เฮาส์เข้าถนนลาดยางแล้วเลี้ยวเข้าถนนลูกรัง ผ่านวัดโบราณ 2 วัด แล้วก็ถึงวัดถ้ำปิดูรังกาลาราชมหาวิหาร ระยะทางเดินราว 1.5 กิโลเมตร


วัดแห่งแรกที่ผมเดินผ่านมานั้นไม่สามารถหาข้อมูลได้ เป็นวัดเล็กๆ ไม่มีพระสงฆ์ แต่โดดเด่นด้วยพระพุทธรูปกลางแจ้งปางสมาธิ มีงู 3 หัวแผ่พังพานเหนือพระเศียร วัดที่ 2 มีพื้นที่ใหญ่กว้าง เป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่กว่ามาก ปัจจุบันเหลือแต่สถูปโบราณ และฐานของสิ่งปลูกสร้างในอดีต เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัดถ้ำปิดูรังกาลา


ประวัติมีอยู่ว่า พระเจ้ากัสยปะได้ปลงพระชนม์พระเจ้าธัตถุเสนะ ผู้เป็นบิดา แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ.1016 ซึ่งเป็นการแย่งชิงมาจากเจ้าชายโมคคัลลานะ พี่ชายต่างมารดา ผู้สืบราชบัลลังก์ตัวจริง เจ้าชายโมคคัลลานะหลบหนีไปยังอินเดียและเตรียมการกลับมาแก้แค้น ฝ่ายพระเจ้ากัสยปะก็เกรงกลัวอยู่ไม่น้อย นำไพร่พลออกจากกรุงอนุราธปุระมาตั้งหลักที่สิกิริยา เพราะเห็นว่าสิกิริยาน่าจะใช้เป็นฐานตั้งรับได้ดี ท้ายที่สุดพระเจ้าโมคคัลลานะก็นำทัพมาทวงบัลลังก์ การรบพุ่งที่สิกิริยาพระเจ้ากัสยปะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และเมื่อใกล้จะพ่ายแพ้ก็ได้ใช้พระแสงปลิดชีวิตพระองค์เอง


ย้อนกลับไปเมื่อพระเจ้ากัสยปะเสด็จมายังบริเวณภูเขาหินสิกิริยาเป็นครั้งแรกนั้น สิกิริยามีพระสงฆ์อาศัยอยู่ตามถ้ำเป็นจำนวนมาก พระองค์ได้นิมนต์ให้ภิกษุเหล่านั้นย้ายออกไปอยู่แถวๆ ภูเขาหินอีกลูกที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ซึ่งก็คือปิดูรังกาลาที่ผมกำลังจะปีน จากนั้นพระองค์ก็ทรงสร้างวัดถ้ำปิดูรังกาลาถวายเป็นพุทธบูชาทดแทนวัดถ้ำเดิมหลายแห่งรอบๆ สิกิริยา แล้วก็ทรงสร้างพระราชวังลอยฟ้าขึ้นบนเขาหินสิกิริยา และทรงสร้างป้อมปราการขึ้นล้อมรอบ ทำให้สิกิริยากลายเป็นเมืองหลวงศรีลังกาในระยะเวลาสั้นๆ


ผมวางแผนว่าพรุ่งนี้จะไปจะขึ้นเขาสิกิริยา วันนี้ขอปีนปิดูรังกาลาก่อน รูปร่างอันแปลกตาของหินยักษ์ทั้ง 2 ลูกนี้เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Volcanic Activity เมื่อหลายล้านปีก่อน


ก่อนเข้าวัดทุกคนต้องถอดรองเท้า นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องซื้อตั๋วคนละ 500 รูปี สำหรับเข้าวัดและปีนเขาปิดูรังกาลา เจ้าหน้าที่หนุ่มเปรยขึ้นว่าการปีนปิดูรังกาลาเป็นงานหินกว่าสิกิริยาอยู่ไม่น้อย สาเหตุสำคัญคือไม่มีการทำขั้นบันไดไว้รองรับ


ผมเดินผ่านต้นโพธิ์อายุ 6-7 ร้อยปีไปยังวิหารถ้ำที่อยู่ติดเชิงเขา วางแผนว่ากลับลงมาจากยอดเขาแล้วค่อยเข้าชม จากตรงปากทางเข้าวิหารถ้ำนี้เราจะต้องแยกไปทางขวามือเพื่อขึ้นเขา และจากตรงนี้เราสามารถใส่รองเท้าได้อีกครั้ง


การขึ้นยอดเขาหินปิดูรังกาลาจะให้บอกว่าง่ายหรือยาก ก็ต้องมีปัจจัยด้านสังขารและสภาพร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับผมเองมองว่ามีช่วงที่ง่ายมากกว่าช่วงที่ยาก แต่ว่าช่วงที่ยากนั้นยอมรับว่ายากจริงๆ ต้องระมัดระวังและใช้กำลังมากทีเดียว


เมื่อปีนขึ้นไปได้สักประมาณ 8 ใน 10 ของเส้นทางก็จะพบกับพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่ชิดภูเขาหิน ตามโบรชัวร์ที่ได้มาคู่กับตั๋วระบุว่าเคยเป็นพระนอนสร้างจากอิฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เคยถูกทุบทำลายจากพวกล่าสมบัติในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1960 แต่ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ จากองค์พระนอนนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างกว้างไกล เป็นป่าไม้และทิวเขา สีเขียวอ่อนไล่ไปยังสีเขียวแก่

พระนอนสร้างด้วยอิฐประดิษฐานระหว่างทางขึ้นปิดูรังกาลา


ช่วงก่อนจะถึงยอดเขาถือเป็นช่วงที่ปีนยากที่สุด คนรูปร่างอ้วนยิ่งลำบาก เพราะช่องว่างระหว่างหินที่ต้องผ่านไปบางช่วงค่อนข้างแคบ บางทีต้องให้เพื่อนช่วงดึงช่วยดัน ส่วนคนข้อเข่าไม่ดีถึงปีนได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ ปีนให้เนิบช้าที่สุด ส่วนเด็กๆ ดูจะเป็นวัยเดียวที่ไม่มองว่าการปีนเขาปิดูรังกาลาจะมีปัญหาอะไร

เยาวชนศรีลังกากำลังขึ้นภูเขาหินปิดูรังกาลา


อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดกันทุกคน บางคนอาจจะผ่านได้ด้วยตัวเอง แต่อย่างน้อยก็ต้องปลดเป้ลงจากหลัง หรือใครถือของอยู่ในมือก็ต้องยื่นฝากกับคนที่ปีนขึ้นไปก่อนแล้ว ผมเองที่ร่างกายค่อนข้างบางก็ต้องปลดเป้โยนขึ้นไปก่อน มีหินก้อนเล็กให้ยืนเหมือนเป็นแพลตฟอร์มหรือฐานก่อนจะปีนขั้นสุดท้าย หินก้อนนี้ยืนได้ครั้งละ 1คน เท่ากับการปีนขึ้นก็ปีนได้ครั้งละ 1 คน


มีหินก้อนใหญ่อีกก้อนอยู่ด้านบนเนินหินหลักด้านหน้า วางทำมุมยื่นออกมากลายเป็นช่องระหว่างหินก้อนล่างและก้อนบน ทำให้การปีนช่วงนี้เหมือนเป็นการลอดถ้ำ มุมนี้ป้านออกทางซ้าย คือยิ่งซ้าย ช่องก็ยิ่งกว้าง แต่จะปีนออกไปทางฝั่งซ้ายมากก็ไม่ได้ เพราะยิ่งออกซ้ายหินก้อนล่างก็ยิ่งชัน และตรงนั้นไม่มีหินให้เหยียบยืน พลาดพลั้งมีสิทธิ์ตกลงเหวแขนขาหัก หรืออาจเสียชีวิตได้

ปิดูรังกาลาและสิกิริยา


ผมโน้มตัวยื่นแขนออกไปค้ำกับเนินหินหลักด้านหน้า เบี่ยงข้างให้ต้นขาซ้ายด้านข้างนาบกับเนินหินชัน แล้วเหวี่ยงขาตามขึ้นไป ขั้นตอนนี้ควรปีนด้วยข้างลำตัว ถ้าเป็นเด็กตัวเล็กสามารถปีนขึ้นไปตรงๆ ได้ แต่สำหรับผู้ใหญ่หัวและหลังจะชนหินก้อนบน ผมยึดได้มั่นแล้วก็ค่อยๆ คืบทีละนิด หรืออาจเรียกว่ากระดึ๊บๆ ขึ้นไป


พอพ้นหรือโผล่ออกมาจากช่องแคบได้ก็พบกับรางวัลอันงดงาม ลานหินโล่งตรงนี้นั่งสบาย และทำให้หายเหนื่อยลงไปทันที เพราะมองออกไปเห็น “สิกิริยา” พระราชวังบนหินยักษ์ยืนเด่นอยู่ในระยะ 1 กิโลเมตรนิดๆ โดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้น ว่ากันว่าคนที่ขึ้นสิกิริยาจะไม่เห็นภาพความงามเท่ากับคนที่ขึ้นปิดูรังกาลา

จุดปีนท้ายสุดก่อนพิชิตปิดูรังกาลา


จะว่าไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นระหว่างสายตาของเรากับสิกิริยาก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว นักท่องเที่ยวที่เป็นคู่รักกันมักจะอ้อยอิ่งถ่ายรูปทั้งแบบเซลฟี และขอให้คนอื่นถ่ายให้อยู่คู่ละหลายนาที ว่าที่สามี-ภรรยาขึ้นมาใช้เป็นสถานที่ถ่ายพรีเวดดิ้งก็มี กว่าวิวจะโล่งจริงๆ ฝนก็โปรยลงมา โชคดีที่ตกอยู่ไม่นานเท่าไหร่ และผู้คนก็ดูจะไม่เดือดร้อนเท่ากับหมาสี่ตัวที่นอนอาบแดดอยู่บนลานหิน พวกพี่ๆ เขาไม่ชอบให้ตัวเปียก เลยต้องหาทำเลใหม่สำหรับการนอนกลางวัน และก็ทำให้ผมสงสัยอยู่เหมือนกันว่าพวกพี่ๆ ขึ้นมาแล้วมีกำหนดการกลับลงไปหรือไม่ และจะมีอาหารจากนักท่องเที่ยวให้กินเพียงพอทุกวันไหมหากไม่กลับลงไป

บางคนมีความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายรูป


จากลานโล่งที่ถ่ายภูเขาหินสิกิริยาได้มุมสวยที่สุดนี้ ผมเดินเลี้ยวอ้อมหินใหญ่ก้อนหนึ่งไปทางขวาแล้วขึ้นไปยังลานหินด้านบน เป็นเนินลาดชันขึ้นไป โล่งและกว้างขวางมาก แม้จากจุดบนสุดของลานหินจะลาดเทลงไปทุกทิศทาง แต่ไม่รู้สึกว่าอันตราย มองวิวได้ 360 องศา เห็นทั้งทุ่งนา ป่าเขา และบางส่วนที่เป็นผืนน้ำ

สิกิริยา พระราชวังบนภูเขาหิน


ฝนตกลงมาเบาๆ อีกสามสี่หน ผมกลับมานั่งมองภูเขาหินสิกิริยาที่จุดเดิมอีกครู่ ดูเวลาเห็นว่าใกล้เที่ยงก็ตัดสินใจกลับลงเขา มีสาวฝรั่งเศสปีนขั้นสุดท้ายขึ้นมา เธอทำท่าจะไม่ไหว ผมยื่นมือไปดึงแขนเธอขึ้นมา เธอกล่าวขอบใจแล้วถามว่าหมาพวกนี้ของผมหรือเปล่า คงเพราะเธอเห็นผมนั่งใกล้พวกพี่ๆ เขาก่อนหน้านี้

เนินหินบนยอดเขาปิดูรังกาลาฝั่งตรงข้ามกับจุดนั่งชมสิกิริยา


ระหว่างทางลงมีคนเดินขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นชาวศรีลังกาที่เข้าใจว่าเดินทางมาจากเมืองอื่น บางจังหวะต้องรอให้คนที่สวนขึ้นมาผ่านไปก่อน ผมต้องหลบในซอกหิน ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะพ้นการจราจรหนาแน่นช่วงบนนี้ลงไปได้ บางครั้งผมต้องขอดื้อๆ ต่อคนที่กำลังขึ้นมาว่ามีธุระต้องรีบกลับลงไป และส่วนมากก็ใจดีให้ผมผ่านลงไปก่อน เป็นพวกเขาที่ต้องหลบตามซอกหิน

สิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่สนใจวิวงาม


ผมลงมาใกล้ๆ ถึงวัดถ้ำ มีจุดพักคอยคล้ายห้องโถง เป็นผนังหินล้อม 2 ด้าน ลุงชาวศรีลังกาคนหนึ่งนั่งอยู่ แกถามว่าปีนยากไหม ผมตอบไปตามตรงว่ายาก แต่คุ้มค่า ลุงน่าจะลอง ลุงบอกว่านั่งคอยตรงนี้ดีกว่า เข่าแกไม่ดี


ถึงวิหารถ้ำผมถอดรองเท้าแล้วเข้าไปชมภายใน วิหารหลังนี้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในถ้ำ แต่มีการสร้างอาคารต่อยื่นออกมาด้านนอก ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ทั้งพระนั่ง พระนอน และพระยืน ตามฝาผนังและเพดานมีภาพจิตรกรรม


ผมต้องรีบกลับที่พักไปเขียนคอลัมน์เพิ่มเติมและส่งอีเมลภายในเย็นวันนี้ ออกจากวัดถ้ำแล้วมองหาตุ๊กๆ เจอคันหนึ่งแต่คนขับไม่รู้จักเกสต์เฮาส์ ผมบอกว่าระยะทาง 1 กิโลเมตรนิดๆ เขาเรียก 500 รูปี แล้วก็ลดลงมาเหลือ 400 ผมต่อ 200 สุดท้ายเจอกันที่ 300 รูปี คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 50 บาท และผมต้องเป็นผู้บอกทาง


ถึงที่พักก็ได้เวลามื้อเที่ยง ลุงนิฮาลเสนอแกงกะหรี่ไก่ ผมตกลงตามนั้น ตอนนำสำรับมาวาง มีทั้งข้าวสวย แกงกะหรี่ มะเขือยาวคลุกซอสเผ็ดนิดๆ แกงถั่วเหลือง หรือ “ดาล” ผัดผักเปรี้ยวๆ ชนิดหนึ่ง ลุงนิฮาลปลูกเอง จานนี้อร่อยที่สุด ข้าวเกรียบอะไรไม่รู้แต่หอมอร่อย เค็มนิดๆ เหมาะกินกับเบียร์เป็นอย่างมาก ปิดท้ายด้วยไอศกรีมราดน้ำผึ้ง ทั้งหมดนี้ราคาประมาณ 100 บาทเท่านั้น


ระหว่างผมนั่งเขียนคอลัมน์อยู่ในร้านอาหารของที่พัก ยังไม่มีใครมาเก็บสำรับ กระรอกขึ้นโต๊ะไปกินเศษอาหารอย่างเอร็ดอร่อยโดยไม่เกรงกลัวมนุษย์ที่นั่งจ้องอยู่ ที่พักแห่งนี้มีความเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยต้นไม้ และส่วนที่เป็นสวนตกแต่งก็มีไม้ดอกหลายชนิด ด้านหน้าทางเข้าที่พัก ติดกับถนนเป็นทุ่งนาขนาดเล็กของลุงนิฮาล แปลงผักของแกก็คงอยู่ที่ไหนสักแห่ง ส่วนพวกสมุนไพรแกปลูกไว้รอบๆ เกสต์เฮาส์ ติดกับบันไดทางขึ้นบ้านต้นไม้ของผมก็มี


ผมเขียนคอลัมน์เสร็จ แต่ที่พักสัญญาณอินเทอร์เน็ต Wifi ไม่ค่อยดี ส่วนสัญญาณ 4 จีของมือถือเท่ากับศูนย์ พยายามใช้ Wifi ส่งอีเมล แต่ส่งได้แค่เนื้อเรื่อง ไม่สามารถส่งรูปภาพประกอบได้ อย่างนี้แสดงว่าสัญญาณมี แต่คุณภาพของสัญญาณไม่ดี ความจริงแล้วในทุกเมืองที่ผมเดินทางคราวนี้สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดีเอาเสียเลย โดยเฉพาะสัญญาณจาก Wifi แม้ที่โรงแรมมีเกรดในเมืองแคนดีก็มีปัญหา สัญญาณอืดพอๆ กับบ้านเราก่อนสมัย 3 จีด้วยซ้ำไป


ตอนเย็นผมขอให้ลุงนิฮาลพาทัวร์รอบสิกิริยาตามที่แกเสนอไว้เมื่อกลางวัน ใกล้ๆ ปากทางเข้าป้อมปราการสิกิริยา ผมพบสัญญาณในมือถือ จึงสามารถส่งภาพที่บันทึกไว้ในมือถือเข้าสู่อีเมลของโรงพิมพ์ได้สำเร็จ


ลุงนิฮาลพาไปถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ที่รู้กันเฉพาะคนท้องถิ่นและผู้มีประสบการณ์เท่านั้น โดยเฉพาะภาพหินสิกิริยาและหินปิดูรังกาลายืนเด่นประชันกัน มีทะเลสาบเป็นฉากหน้าและท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ภูเขาทั้งสองลูกสะท้อนเงาลงในน้ำสวยงามน่าชม


กลับถึงที่พักก็ใกล้เวลามื้อเย็น ลุงนิฮาลสัญญาว่าวันนี้จะหาเบียร์ Lion มาให้ผมได้แน่นอน แต่ต้องให้เงินแกก่อนเพราะตอนนี้แกบ่จี๊ไม่มีสตางค์ ค่าเบียร์ 500 รูปี และค่าพาไปถ่ายรูปแกบอกว่าแล้วแต่จะให้ ผมยื่นให้แกไปทั้งหมด 1,500 รูปี ดูแกค่อนข้างพอใจ


อีกครึ่งชั่วโมงต่อมาลุงนิฮาลได้เบียร์อุ่นมาจากร้านอาหารที่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ต้องนำไปแช่ในช่องฟรีซตู้เย็นในบ้านของแกอยู่อีกราวครึ่งชั่วโมง


มาโนชนำเบียร์มาเสิร์ฟเป็นอย่างแรก เขารินใส่แก้วให้อย่างบรรจง แก้วป่องกลาง มีหูจับ และมีปุ่มตารางรอบแก้วคล้ายระเบิดลูกน้อยหน่าเป็นแก้วเบียร์ในฝันของบรรดาคอเบียร์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย