เงื่อนไขเจรจายุติสงคราม: ‘รัฐเป็นกลาง’ เป็นเช่นไร?

ท่ามกลางกลิ่นคละคลุ้งของสงครามยูเครน ก็มีเสียงกระซิบกระซาบถึง “ความหวังเล็กๆ” ว่าอาจจะมีช่องทางของการเจรจาเพื่อนำไปสู่การหยุดยิงและสันติภาพ

แต่ต้องย้ำว่าเป็น “ความหวังเล็กๆ” จริงๆ

เพราะตัวแทนรัสเซียและยูเครนพบกันมา 4-5 รอบแล้วในเมืองต่างๆ ใกล้กับสองประเทศนี้ แต่ก็ไม่มีผลอะไรที่จับต้องได้

แม้ว่าจะมีการนั่งลงคุยกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ก็ยังไม่สามารถจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ

ล่าสุดมีเสียงจากระดับเจ้ากระทรวงต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ว่าอาจจะมีโอกาสของการ “ประนีประนอม” ได้บ้าง

แต่ฝั่งรัสเซียบอกว่า “การเจรจากับยูเครนไม่ใช่เรื่องง่าย”

ฝั่งยูเครนก็ยืนกรานว่าด้านรัสเซียก็มีจุดยืนที่แข็งกร้าว ยังไม่ยอมถอยจากเงื่อนไขหลักๆ แต่อย่างไร

ผมเห็นข่าวในสื่ออังกฤษอย่าง Financial Times ที่เหมือนจะไปได้ร่างของ “แผนสันติภาพ” ที่เสนอเป็นโครงร่างของการหาทางออกร่วมกัน

ต้องย้ำว่าเป็นเพียง “ร่าง” เท่านั้นอีกเหมือนกัน

หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับนี้อ้างว่ายูเครนกับรัสเซียได้จัดทำร่าง “แผนสันติภาพเบื้องต้น” เพื่อยุติสงคราม

ร่างข้อตกลงนี้รวมถึงการหยุดยิงและการถอนกำลังทหารของรัสเซีย หากยูเครนละทิ้งความทะเยอทะยานในการเป็นสมาชิกของ NATO และยอมรับข้อกำหนดจำกัดขนาดของกองทัพ

ยังต้องเกาะติดต่อไปว่า “ร่างแผนสันติภาพ” ที่ว่านี้มีรายละเอียดอย่างไร และที่สำคัญคือจะมีเงื่อนไข “ค้ำประกันความมั่นคง” (security guarantee) ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำมาตลอดอย่างไร    

อีกทั้งมีกลไกอะไรที่จะทำให้ไม่มีฝ่ายใด “เบี้ยว” ข้อตกลงได้

เรื่องของการ “ค้ำประกันความมั่นคง” เป็นหัวข้อสำคัญของทั้งสองฝ่าย

ด้านรัสเซียได้ปล่อยไอเดียว่ายูเครนอาจจะ “เป็นกลาง” และ “ปลอดทหาร” แบบออสเตรียหรือสวีเดน

ทันใดที่มีข่าวนี้ออกมา ผมก็ได้ยินเสียงปฏิเสธจากฝั่งยูเครนทันทีเหมือนกัน

อาจจะเป็นเพราะว่า “โมเดล” ของออสเตรียกับสวีเดนเป็นอย่างไรไม่มีใครลงรายละเอียดได้

ยกเว้นจะนั่งลงแลกเปลี่ยนและถกแถลงกันให้จะแจ้งเท่านั้น

เงื่อนไขของการ “เป็นกลาง” ของยูเครนเป็นอย่างไร?

นั่นคือคำถามใหญ่

เพราะวันนี้มีประเทศไหนบ้างที่เข้าข่ายนิยามของประเทศเป็นกลางบ้าง

แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ดำรง “ความเป็นกลาง” มายาวนานจนกลายเป็น “แม่แบบ” ของคำว่า Neutrality ก็เพิ่งประเทศลงมติร่วมสหภาพยุโรปคว่ำบาตรรัสเซียในกรณีสงครามยูเครน

ออสเตรียและสวีเดนต่างก็เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

แต่ออสเตรีย ไซปรัส ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ มอลตา และสวีเดน เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ NATO

สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งไม่ใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป ยังคง “เป็นกลาง” เกี่ยวกับความขัดแย้งทางทหาร อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น ยกเว้นไซปรัส เป็นสมาชิกของโครงการ Partnership For Peace (PfP) ของ NATO

ดังนั้น การที่รัสเซียเสนอให้ยูเครน “เป็นกลาง” นั้นหมายความว่าจะยอมให้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ต้องไม่เข้าร่วม NATO ใช่หรือไม่

อีกทั้งต้องนิยามคำว่า “Demilitarized” หรือ “ปลอดทหาร” ให้ชัดเจน

แปลว่าต้องไม่มีกองทัพของตนเองหรือญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีแต่ “กองกำลังป้องกันตนเอง” หรือ Self-Defence Force อย่างที่เป็นอยู่ถึงปัจจุบันหรือไม่

หรือที่บอกว่าต้องไม่มี “ฐานทัพต่างชาติ” นั้นกินความกว้างไกลเพียงใด

ทั้งหมดนี้หนีไม่พ้นว่าทั้งรัสเซียและยูเครนจะต้องหาคำตอบต่อคำถามต่อไปด้วยว่า

โครงสร้างความมั่นคงใหญ่ของยุโรปหลังสงคราม (ถ้ายุติได้จริง) จะมีหน้าตาและกติกาอย่างไร

ยูเครนมีสิทธิถามว่าถ้าเขายึดนโยบาย “เป็นกลาง” และ “ปลอดทหาร” แล้ว รัสเซียจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ที่รัสเซียเพิ่งทำกับยูเครนนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

และหากเกิดขึ้นอีก เขาจะป้องกันตัวเองอย่างไร

รัสเซียก็คงต้องการคำรับรองจาก NATO ว่าจะมีการ “ค้ำประกัน” ต่อความมั่นคงของรัสเซียอย่างไร

จะมีข้อตกลงว่า NATO จะไม่เพิ่มสมาชิกในยุโรปอีกอย่างไร

รัสเซียจะมีความมั่นใจใน “การค้ำประกันทางความมั่นคง” ได้อย่างไรหาก NATO ยังมีกองกำลังต่ออยู่ข้างบ้าน (แม้จะมียูเครนเป็นรัฐ “กันชน” ก็ตาม)

ผมเชื่อว่าสงครามยูเครนครั้งนี้จะทำให้เกิด “ระเบียบโลกใหม่” ที่จะเริ่มที่ยุโรป

คำว่า “ค้ำประกันความมั่นคง” จะกลายเป็นหัวใจของการสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

และผมก็เชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

จนกว่าต่างฝ่ายต่างจะตระหนักว่าหากเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม จะไม่มีผู้ชนะ โลกทั้งโลกจะเป็นผู้แพ้

จึงควรจะต้องหันมาเจรจา ต่อรอง และแลกเปลี่ยนเงื่อนไขอย่างที่โลกศิวิไลซ์พึงกระทำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ