วันนี้วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 เป็นวันที่ 19 ของสงครามยูเครนนับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินตัดสินใจส่งทหารเข้ายึดเพื่อนบ้านด้านตะวันตก
สัปดาห์นี้จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างยิ่งว่าสงครามยูเครนจะบานปลายใหญ่โตหรือจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจัง
ผมกำลังอ่านใจปูตินกับเซเลนสกีว่าจะตัดสินใจเดินหน้าต่อไปอย่างไร
หากเป้าหมายแรกเริ่มของมอสโกคือการยึดเมืองหลวงของยูเครนคือกรุงเคียฟให้ได้ใน 48-72 ชั่วโมงแรก
เพื่อนำไปสู่การเจรจาเพื่อให้ยูเครนกลายเป็นประเทศที่ “เป็นกลาง” และ “ปลอดทหาร” หรือ neutral และ demilitarized อย่างที่ปูตินประกาศไว้ตั้งแต่ต้น ก็แปลว่ารัสเซียยังไม่อาจจะบรรลุเป้าหลายหลักได้
แต่ถ้าหากเชื่อว่าปูตินไม่ได้ต้องการจะ “เผด็จศึก” อย่างรวดเร็วฉับพลัน แต่ต้องการจะ “โอบล้อม”เมืองหลัก ๆ ของยูเครนไว้เพื่อให้ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนยอม “วางอาวุธ” และประกาศ “ยอมจำนน” ก็ยังต้องรอดูปฏิบัติการภาคพื้นดินประกอบกับความเคลื่อนไหวทางการทูตต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์
ล่าเมื่อเมื่อวันเสาร์ เซเลนสกีแถลงข่าวว่าเข้าสัปดาห์ที่สามของสงคราม ทหารยูเครน 1,300 นายเสียชีวิตจากความขัดแย้งครั้งนี้
และบอกด้วยว่าทหารรัสเซียประมาณ 500-600 นายยอมจำนนต่อกองกำลังยูเครน ณ วันศุกร์
แต่เป็นตัวเลขที่ไม่ได้รับการยืนยันจากฝั่งรัสเซีย
มอสโกยังไม่เคยออกตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
แต่สถานการณ์สู้รบภาคพื้นดินและทางอากาศยังดำเนินไปอย่างดุเดือดต่อเนื่อง
สนามบินทหารทางตอนใต้ของกรุงเคียฟถูกขีปนาวุธโจมตี
ขณะที่มีการ “ดวลปืนใหญ่” รอบ ๆ เมืองหลวงอย่างร้อนแรงตลอดวันตลอดคืน
ข่าวกรองทางทหารบอกว่ากองกำลังรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ห่างจากเมืองเพียง 25 กม.
ต้องถือว่าเป็นการเข้ามาประชิดติดศูนย์บัญชาการของเซเลนสกี
เป็นจังหวะที่ผู้นำยูเครนต้องตัดสินใจจะปักหลักสู้ “จนนาทีสุดท้าย”
หรือจะหนีออกนอกประเทศไปตั้ง “รัฐบาลพลัดถิ่น” อย่างที่สหรัฐฯได้แนะนำเมื่อสัปดาห์ก่อน
หรือหวังว่าจะมีการเจรจาทางการทูตที่จะนำไปสู่การหยุดยิงเพื่อหาทางออกทางการเมือง
เพราะความเคลื่อนไหวทางด้านการทูตยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนีได้ต่อสายคุยกับปูติน
ทั้งสองเรียกร้องให้ปูตินตกลงหยุดยิง
แต่ข่าวล่าสุดเมื่อวานบอกว่าปูตินยังนิ่งเฉยกับข้อเสนอและข้อเรียกร้องของผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่ขอให้เขาพูดจาตรง ๆ กับเซเลนสกี
ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องจากผู้นำจีน, ตุรกี, อินเดีย. อิสราเอลและยุโรปตะวันตกก็ตาม
อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าการรุกคืบทางทหารของรัสเซียในยูเครนกำลังเข้าใกล้จุดที่จะโค่นอำนาจของเซเลนสกีได้แล้ว
รอให้จังหวะ “สุกงอม” กว่านี้ ปูตินอาจจะสามารถเจรจาด้วยเงื่อนไขที่ตนได้ประโยชน์มากกว่า
ข่าวจากหลาย ๆ เมืองแจ้งว่าสถานการณ์การสู้รบหนักหน่วง
บางเมืองเช่นผู้คนในเมือง Mariupol ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางใต้มีอุณหภูมิเยือกแข็ง อากาศหนาวเหน็บ
และประชาชนชาวยูเครนก็ขาดไฟฟ้า อาหารร่อยหรอ นำกำลังจะขาดมือ
ที่ปูตินอาจจะแปลกใจคือแรงต้านจากทหารและชาวยูเครนต่อการรุกคืบทางทหารรัสเซียแข็งแกร่งกว่าที่คาด
ทำให้ปฏิบัติการยึดยูเครนไม่เบ็ดเสร็จในระยะเวลาอันสั้นที่วางเอาไว้
เหตุผลหนึ่งคือปัญหาของการเคลื่อนทัพของทหารรัสเซียที่ขาดการประสานงานและอุปสรรคในการส่งกำลังบำรุงและประเด็นด้าน logistics ทั้งหลาย
ประกอบกับยูเครนได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตก สามารถต้านการบุกได้ดีกว่าคาด
สำทับด้วยมาตรการลงโทษของนานาชาติที่พุ่งเป้าไปที่รัสเซียกำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนถึงกับตั้งคำถามว่าปูตินจะสามารถรักษาฐานอำนาจทางการเมืองในประเทศของตนได้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่
แต่นักวิเคราะห์อีกหลายสำนักก็มองว่าปูตินเป็น “คนฉลาด” และได้ตระเตรียมแผนการตั้งรับสถานการณ์เอาไว้ทุก ๆ ด้านแล้ว
พวกเขามองว่าปูตินเคยชินกับการคว่ำบาตรจากตะวันตกมาตั้งแต่ทหารรัสเซียผนวกไครเมียเมื่อ 8 ปีก่อน
ผลปรากฏว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตกทั้งหลายยังไม่สามารถ "โค่น" ปูตินจากอำนาจได้แต่อย่างใด
แต่หลายคนก็เตือนว่ามาตรการคว่ำบาตรรอบนี้หนักหนาสาหัสกว่าที่ผ่านมาหลายเท่านัก
ปูตินมีทางเลือกคือลุยแหลก ไม่เอาเซเลนสกี เมื่อยึดเคียฟได้ก็จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่มีผู้นำเป็นคนที่มอสโกไว้ใจ
จากนั้นก็ต่อรองกับโลกตะวันตกเพราะเชื่อว่าเมื่อยึดเมืองหลวงยูเครนได้ อำนาจต่อรองก็สูงขึ้น
หรือปูตินอาจจะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับตะวันตกขนาดนั้น เมื่อเห็นสถานการณ์ในสมรภูมิเข้าข้างตนก็หยุดอยู่หน้าประตูกรุงเคียฟ และเจรจาเพื่อให้รัสเซียได้ประโยชน์สูงสุด
สำหรับเซเลนสกี ทางเลือกแรกคือลุยต่อ ถ้าจวนตัวก็หลบออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ จุดปลอดภัย...อาจจะเป็นเมืองทางตะวันตกของประเทศหรือข้ามไปประเทศอื่นที่สนับสนุนตนและสู้ยืดเยื้อจากข้างนอก
ทางออกอีกทางหนึ่งคือยอมเจรจากับปูตินและรับเงื่อนไขบางประการแต่ยังอยู่ในอำนาจ
ต้องจับตากันทุกฝีก้าวจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ