วาทกรรม หลักการคอมมิวนิสต์...หลักการตลาด

นักการเมืองบางพรรค กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม มีความสามารถในการสร้างวาทกรรมชวนเชื่อเป็นอาวุธสำคัญในการทำสงครามข่าวสาร แย่งชิงมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมที่คิดขึ้นมาเอง หรือไปลอกมาจากวรรณกรรมหรือคำคมของบุคคลสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และวาทกรรมที่พวกเขาใช้ก็ได้ผลดีกับกลุ่มคนที่อาจจะเรียกว่า “สาวก” ที่ยกย่องเทิดทูนแกนนำของพรรคและของกลุ่ม วาทกรรมที่เราได้ยิน เช่น ปลดแอก ประชาธิปไตย เสรีภาพ นิติสงคราม ตุลาการภิวัตน์ สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส กดขี่ กดทับ เผด็จการ สืบทอดอำนาจ เป็นต้น

บางครั้งก็เอาชื่อเพลงดังจากละครเพลงมาเรียกร้องผู้มีอำนาจในการบริหาร นั่นคือเพลง Do you hear the people sing? เหมือนประหนึ่งกำลังถามผู้บริหารประเทศในเวลานี้ว่าได้ยินเสียงร้องของประชาชนบ้างไหม เหมือนกำลังบอกว่าผู้บริหารเป็นเผด็จการที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน การที่วาทกรรมของพวกเขาได้ผลนั้น สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้หลายประการ

1) เขาประกาศตนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนที่เบื่อและไม่พอใจกับสภาพเดิมๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคล้อยตามได้ง่าย

2) เขาใช้ทั้งหลักการของคอมมิวนิสต์และหลักการของการตลาดในการสื่อสารอย่างมีตรรกะ ที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายคล้อยตามได้ง่าย

3) เขาเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง นั่นคือเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองครบทุกมิติ แต่เป็นกลุ่มที่มีอัตตาสูง เชื่อมั่นในตนเองว่ารู้ดี เป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจสภาพปัจจุบัน ดังนั้นจึงพร้อมที่จะทำตามข้อเสนอหรือการยุยงของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้พวกเขาออกมาเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย”

4) เขาจะเอ่ยชมการกระทำของเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ว่าเป็นพวกที่กล้าหาญ กล้าแสดงออก พร้อมที่จะออกมาจัดวางอนาคตของตนเอง

5) เขามีความสามารถในการวางยุทธศาสตร์การทำสงครามข่าวสาร ทั้งความสามารถในการสร้างเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย และการเลือกใช้ช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อของกลุ่มเป้าหมาย และยังสามารถใช้การสร้างพฤติกรรมกลุ่มด้วยการให้กลุ่มเป้าหมายช่วยกัน Share ข้อความไปอย่างกว้างขวางเป็น ให้ได้รับรู้กันในวงกว้างและความถี่สูง

วิธีการทั้งหมดเหล่านี้ใช้ประกบกับหลักการคอมมิวนิสต์และหลักการตลาด ทำให้พวกเขาสามารถรักษากลุ่มเป้าหมายให้ภักดีกับพวกเขาได้อย่างเหนียวแน่น พวกเขาจะขยันสื่อสาร และเหล่าบรรดาสาวกก็จะช่วยกัน Share จนทำให้คนบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขาตกใจ หวั่นไหวว่าเยาวชนไทยกำลังออกนอกลู่นอกทาง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีทัศนคติและความเชื่อที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วกลุ่มคนดังกล่าวนั้นมีจำนวนน้อย แต่เป็นคนที่ขยันสื่อสาร เป็น Active minority ในขณะที่เยาวชนที่คิดดี ทำดี ทัศนคติดียังมีอีกมาก แต่คนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นพลังเงียบ (Silent majority) เพราะว่าหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสงครามข่าวสารที่คนพวกนี้ใช้ก็คือจะรุมด่าคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นตรงกันข้ามกับแนวทางของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือการแสดงความชื่นชมประเทศไทย หรือการแสดงตนเป็นแนวร่วมของรัฐบาล พวกเขาจะเข้าไปรุมด่าคนที่คิดต่างด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ที่เรียกกันว่า “ทัวร์ลง” จนทำให้คนจำนวนมากไม่อยากที่จะแสดงตนเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับคนกลุ่มนี้

หลักการคอมมิวนิสต์ที่พวกเขานำมาใช้เป็นขั้นตอนคือ

1) จะต้องใช้วาทกรรมที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ด้อยโอกาส ถูกกดขี่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

2) พวกเขาคือคนที่จะมาทวงความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ

3) ดังนั้นจะต้องเลือกพวกเขามาเป็นผู้บริหารประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

4) การสื่อสารของพวกเขาจะใช้ลีลาอารมณ์ของการโฆษณาชวนเชื่อ คือ เน้นเรื่องการปลุกเร้าอารมณ์มากกว่าการใช้เหตุผล ต้องการให้เกิดการกระทำ (Action) มากกว่าการคิดอย่างมีเหตุผล

สำหรับหลักการตลาดที่พวกเขานำมาใช้ก็คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์ในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เน้นการแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มเป้าหมายให้ดีกว่าคู่แข่ง โดยจะต้องเรียนรู้ว่าปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายต้องการแก้ไขคืออะไร แล้วนำเสนอแนวทางแก้ไขให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

          1) การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาและต้องการแก้ปัญหา

          2) การเรียนรู้ปัญหา (pain points) ของกลุ่มเป้าหมาย

          3) ตอกย้ำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกไม่พอใจกับ pain points เหล่านั้น

          4) เสนอตัวว่าจะเป็นผู้มาแก้ปัญหา (solution) ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย

          5) สร้างเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายด้วยวาทกรรม

          6) เมื่อกลุ่มเป้าหมายทำตามที่เขาแนะนำก็จะชมเชยว่าพวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยความกล้าหาญและความฉลาด เหมือนเจ้าของสินค้าที่จะชมลูกค้าของตนว่าเป็น smart consumers

          7) จะมีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ มียุทธศาสตร์ด้านเนื้อหา (Content strategies) ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

          8) เลือกใช้ช่องทางการสื่อสารที่เขารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาสิงสถิตอยู่ตลอดเวลา ในเวลานี้พื้นที่ดังกล่าวคือ Twitter

          เขาทำสงครามกับรัฐบาลแบบนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะวางยุทธศาสตร์ต่อกรกับพวกเขาแล้วหรือยังคะ.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมดปัญญา...เทวดาต้องรอด

เวลานี้ มีคนบางคนทำผิดกฎหมาย ไม่ให้ค่ารัฐธรรมนูญ บดขยี้กระบวนการยุติธรรมจนป่นปี้ แล้วปรากฏว่าเขาไม่มีความผิดใดๆ ไม่มีหน่วยงานใด ไม่มีกฎหมายมาตราใดจะเอาโทษเขาได้

ว่าด้วยความสำคัญของ 'จังหวะ' และ 'โอกาส'

อาทิตย์นี้...ก็ 22 ธันวา.เข้าไปแล้ว อีกแค่ไม่กี่วันก็ถึงช่วงจังหวะ คริสต์มาส ที่คงมีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง บทเพลงอันสุดจะซาบซึ้ง ตรึงใจ ไม่ว่าประเภท จงกระเบน-จงกระเบน (Jingle Bells)

ตั้ง'นายพล'ไปต่อ

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ จำนวน 41 นาย ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

นักการเมืองไม่ทำชั่ว...ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร

นายกรัฐมนตรี 2 คนที่มาจากตระกูลชินวัตรต้องถูกยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทำให้นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นหมายเลข 1 ของตระกูลชินวัตรมีความประหวั่นพรั่นพรึงการทำรัฐประหารของทหารเป็นอย่าง

'หิริ-โอตตัปปะ'คือวาระแห่งชาติ!!!

คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า...ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ความอาย หรือจะเรียกภาษาพระ ภาษาบาลี ประมาณว่า หิริ-โอตตัปปะ ก็คงพอได้ นับวันมันชักเป็นอะไรที่ ขาดแคลน