ไฉนจีนจึง ‘งดออกเสียง’ กรณีรัสเซียบุกยูเครน? (2)

เมื่อวานผมเขียนถึงเหตุผลที่ผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ “จาง จวิน” อธิบายถึงการตัดสินใจของปักกิ่งที่ “งดออกเสียง” ในมติประณามรัสเซียกรณีบุกยูเครน

มีหลายแง่มุมที่ควรแก่การวิเคราะห์ที่จะสะท้อนถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่าง “สองสหาย” จีนและรัสเซียซึ่งจะมีผลกว้างไกลของทั้งโลก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และวันนี้คือประธานสันติภาพแห่งเอเชียและสภาสมานฉันท์ (APRC) เสนอแนวทางวิเคราะห์ที่น่าสนใจในคำปราศรัยต่อสมาคมผู้สื่อข่าว

ท่านบอกว่านโยบายต่างประเทศของจีนนั้นก็ค่อนข้างจะเดินบนเส้นด้ายที่บางพอสมควร     

การที่จีน “งดออกเสียง” นั้นคือไม่ประณาม แต่ไม่เข้าข้างประเทศที่ต้องการจะประณามทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

ในกรณีเมียนมา จีนก็ไม่ได้ออกมาประณามรัฐบาลทหารเมียนมา

แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางคณะมนตรีความมั่นคงมีมติที่ค่อนข้างประณามรัฐบาลทหารฯ และให้กลับคืนสู่รัฐบาลประชาธิปไตยโดยเร็ว

ทูตจีนในเมียนมาเองก็เคยออกมาแถลงว่า ที่ออกมาบอกว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลทหารฯ นั้น ให้ไปดูมติของคณะมนตรีความมั่นคง ถ้าจีนมีจุดยืนแบบนั้นจริง ถ้อยแถลงประณามแบบนั้นออกมาไม่ได้

ดร.สุรเกียรติ์ตั้งข้อสังเกตว่าจีนต้องปรับจุดยืนตัวเองพอสมควร เพราะคนในเมียนมาไปเข้าใจว่าจีนสนับสนุนรัฐบาลทหารฯ และเริ่มโจมตีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในเมียนมา

กรณีในอัฟกานิสถาน จีนเอียงข้างตอลิบัน

จีนบอกว่าสหรัฐฯ ไม่ควรจะถอนทหาร แต่จีนก็ไม่ได้ว่าอะไรกับตอลิบันเข้ามายึดอำนาจ

ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า ในกรณีรัสเซียกับยูเครน จีนวางนโยบายได้ยาก แต่ก็ทำได้ดี ตั้งแต่ตอนไครเมียแล้ว

 “ส่วนหนึ่งจีนก็อยากจะยึดหลักการนโยบายกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ การไม่รุกรานกัน เพราะว่าจีนก็ไม่อยากให้ใครมารุกรานที่ซินเจียง จีนไม่อยากให้ใครมาใช้เหตุผลว่าเพราะจีนเข้าไปแทรกแซงเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งจีนมองว่านั่นคือส่วนหนึ่งของเขา จีนไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาใช้ข้ออ้างเรื่องฮ่องกงนี้ ฮ่องกงกับซินเจียง รวมไปถึงไต้หวันนั้นจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน...”

นายไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ไปเยือนไต้หวันเมื่อสัปดาห์ก่อนออกมาพูดว่าสหรัฐฯ ควรจะรับรองอธิปไตยของไต้หวันได้แล้ว

จีนพูดกับสหรัฐฯ มาตลอดว่าอย่าข้ามเส้นเรื่องไต้หวัน

 “เพราะฉะนั้นจีนจึงจะสนับสนุนในเรื่องของหลักการเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเข้มงวดในเรื่องของการไม่รุกรานกัน...” ดร.สุรเกียรติ์บอก

แต่ถ้าหากสนับสนุนตรงนี้อย่างตึงมากๆ จีนต้องประณามรัสเซีย

แต่จีนก็ไม่อยากประณามรัสเซีย เพราะจีนมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมาก

ดร.สุรเกียรติ์ชี้ให้เห็นว่าในการพบกันระหว่างนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาว และเมื่อโอลิมปิกจบลง รัสเซียก็ประกาศรับรองอธิปไตยของแคว้นดอนบาสก์ ของเขตที่มีคนที่แบ่งแยกดินแดนในยูเครนอยู่

แต่ขณะเดียวกันจีนเองก็ไม่อยากที่จะให้ความสำคัญกับการไม่ใช้กำลังเกินไป เพราะจีนพูดเสมอว่า ต้องเข้าใจรัสเซียว่าเขามีความกังวลในเรื่องของความมั่นคง ไม่อยากให้อาวุธนิวเคลียร์ของทั้งนาโตและสหรัฐฯ มาตั้งอยู่ที่พรมแดนของตัวเอง 

ซึ่งประเด็นนี้ก็สามารถย้อนกลับมามองที่ไต้หวันได้เช่นกัน

เพราะจีนพูดเสมอว่าต้องการที่จะเดินหน้าไปสู่การรวมชาติ

 “ดังนั้นในเรื่องทะเลจีนใต้ ในเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ทางพีแอลเอ หรือว่ากองทัพจีนนั้นก็พร้อมที่จะใช้กำลังเหมือนกัน ถ้าตะวันตกทำอะไรที่เป็นการคุกคามความมั่นคงของจีน” ดร.สุรเกียรติ์บอก

จึงเห็นได้ว่า จีนไม่ว่าจะไปทางซ้ายหรือขวาก็ไม่อยากจะไปกระทบตัวเอง ไม่อยากจะกระทบเพื่อนของตัวเอง

นั่นก็นำไปสู่การไม่ออกเสียงในสหประชาชาติ

ท้ายสุด ดร.สุรเกียรติ์ ทิ้งท้ายว่า ดังนั้นจากนโยบายของจีนมีสิ่งที่ประเทศไทยควรทำด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่

1.เข้าใจยุทธศาสตร์และนโยบายของจีน

2.เข้าใจยุทธศาสตร์การแข่งขันกันด้านการต่างประเทศระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ

3.สร้างสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีน-สหรัฐฯ โดยต้องใกล้ชิดทั้ง 2 ประเทศ

4.มีความแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในการสร้างสมดุลกับมหาอำนาจ

5.มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจในระดับรอง เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เพื่อถ่วงสมดุลจีน-สหรัฐฯ

6.มีจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีบูรณาการ เพื่อให้เกิดสมดุลในปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจ

7.ดึงประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจที่มีต่อเศรษฐกิจสังคมไทย

สงครามยูเครนทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ สำหรับโลก...และประเทศไทยเราอย่างคาดไม่ถึงจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ