คมนาคมปั้น"แลนด์บริดจ์" ชูฮับขนส่งภูมิภาคสะดวก ปลอดภัย ประหยัด

28 มี.ค. 2565 – ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก น้ำ และอากาศในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้าน

ขณะนี้หลายโครงการมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก เมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศได้ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคม โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่ง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การดำเนินการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมยังเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนองนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำต้องดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นให้ได้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนี้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิต และยังเป็นประตูส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือตะวันออกกลาง ยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ศักดิ์สยาม กล่าวว่า ล่าสุดได้มีโอกาสพูดคุยกับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส พร้อมทั้งภาคเอกชน ซึ่งฝรั่งเศสซึ่งถือเป็นสายการเดินเรืออันดับสามของโลก มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Transshipment ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาได้เข้ามารายงานแล้ว โดยเส้นทางยังเป็นตามแนวการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-MAP ชุมพร-ระนอง แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ควรทำในรูปแบบของอีอีซี เนื่องจากมีการแยกก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแต่ละโครงการ บริษัทสายการเดินเรือระดับโลกให้มีความสนใจพร้อมจะลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากแลนด์บริดจ์คือ พื้นที่หลังท่าที่สามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้า คลังน้ำมันอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การเติมน้ำมันกลางทะเล และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และโรงแรม เป็นต้น

“แลนด์บริดจ์จะไม่ใช่แค่เรื่องของท่าเรือ มอเตอร์เวย์ และรถไฟ แต่ต้องมีระบบท่อขนส่งน้ำมันด้วย ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ให้ความสนใจเสนอให้ทุน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการลงทุนเหล่านั้นจะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ประเทศไทยมากที่สุด เชื่อว่าศักยภาพของแลนด์บริดจ์จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้การขนส่งสะดวก ปลอดภัย และประหยัด รวมถึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค” ศักดิ์สยาม กล่าว

ด้าน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกตําแหน่งท่าเรือที่เหมาะสม ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสม พบว่ามีฝั่งละ 3 แห่ง ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย

ทำเลที่ตั้งฝั่งละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นทางเลือกเชื่อมท่าเรือเพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร ประกอบด้วย 1.แหลมประจําเหียง 2.แหลมริ่ว 3.แหลมคอเขา ส่วนฝั่งอันดามัน จ.ระนอง ประกอบด้วย 1.เกาะตาวัวดํา 2.เกาะสน 3.แหลมอ่าวอ่าง โดยในแต่ละแห่งนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน

ขณะนี้ สนข.เตรียมสรุปผลการศึกษารูปแบบเบื้องต้นเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมฯ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป คาดว่าการศึกษาทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 ก่อนที่จะหาตัวผู้รับจ้างในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573

“สัปดาห์หน้าเราจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นต่อกระทรวงคมนาคม จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ ก่อนรายงาน ครม. และกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเริ่มโรดโชว์โครงการหลังจากเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนผลสรุปการศึกษาที่ชัดเจนจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2566 คาดว่าจะเริ่มการประกวดราคาหาผู้ร่วมทุนได้ในปี 2567” ปัญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะทางไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง ดังนั้นแน่นอนว่าในอนาคตหากมี “แลนด์บริดจ์” จะช่วยรองรับการขนส่งสินค้า เพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น

'จตุพร' ท้ารัฐบาลอยากตั้ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แน่จริงก็เอาสิ ชี้แม้ลาออกจากพท.แล้วแต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น ยุรีบตั้งทั้งบ่อน ทั้งแลนด์บริดจ์ ซุกที่ดิน 99 ปี เชื่อพลังแผ่นดินจะเกิดขึ้น ถึงคราต้องลุกต่อต้านรัฐบาลขายแผ่นดิน

ปูดรัฐบาลเหิมเกริมสั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ ปลุกปชช.ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง

ปูดรัฐบาลเหิมเกริม สั่งสื่อทีวีปิดปาก 'จตุพร' แลกผลประโยชน์ หวั่นขุดความจริงประจาน ทำ ปชช.รู้ทัน จตุพร ลั่นพูดสื่อไม่ได้ต้องไปพูดผ่านเครื่องกระจายเสียง 'ทนายนกเขา' ปลอบ ปชช.เลิกสิ้นหวังกับตนเอง กระตุ้นลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง อย่าจมจ่อมกับแสดงพลังชุมนุม แนะแต่ละคนลงถนนแสดงฉันทามติ เชื่อเป็นพลังใหญ่ได้